‘สามนักดำน้ำ’ ออกทีวีอังกฤษเล่าภารกิจช่วยหมูป่า ‘สแตนตัน’ สวมเสื้อลายประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สามนักดำน้ำชาวอังกฤษประกอบไปด้วย ริค สแตนตัน, เจสัน มัลลินสัน, และคริส เจเวลล์ นักดำน้ำที่มีบทบาทนำในภารกิจช่วย 13 สมาชิกทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย จนประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม ได้เดินทางไปร่วมรายการ “This Morning” ของสถานีโทรทัศน์ ITV ประเทศอังกฤษ ออกอากาศเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดย ‘ริค สแตนตัน’ นักดำน้ำอังกฤษหัวใจไทย ที่คบหาอยู่กับหญิงชาวไทย สวมเสื้อที่มีลายประเทศไทยอยู่ที่หน้าอกด้วย

ในรายการสแตนตันเล่าว่า ตนได้รับการร้องขอความช่วยเหลือในการช่วยเด็ก 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำที่มีน้ำท่วม ซึ่งจำเป็นต้องทำงานแข่งกับเวลา โดยเริ่มต้นปฏิบัติการหลังจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยไทยทำงานไปได้ 3 วันแล้ว โดยตนเริ่มต้นทำงานจากจุดที่ลึกที่สุดที่คนสามารถเดินเท้าเข้าไปถึง และต้องใช้เวลานานนับสัปดาห์กว่าที่จะถึงตัวเด็กๆ

ด้านมัลลินสัน ระบุว่า ทีมกู้ภัยนานาชาตินั้นไม่ได้พร้อมระดมพลอย่างรวดเร็วเหมือนกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่พร้อมทำงานตลอดเวลา ขณะที่สแตนตันเสริมว่า ครั้งสุดท้ายที่เคยมีการระดมพลเพื่อกู้ภัยในลักษณะนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศนอร์เวย์

ด้านเจเวลล์ระบุว่า ตนและมัลลินสัน เข้าร่วมภารกิจหลังจากสแตนตัน และจอห์น โวลันเธน หลายวัน โดยตนได้รับบรีฟเกี่ยวกับงานกู้ภัยดังกล่าวว่า เป็นงานที่ไม่ได้มีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จทั้งหมด เราจึงค่อนข้างหวาดหวั่นเกี่ยวกับภารกิจนี้ โดยตนและมัลลินสัน ได้รับหน้าที่ในการขนสิ่งของจำเป็นไปให้เด็กๆ และได้สังเกตถึงสภาพภายในถ้ำซึ่งพบว่าระดับน้ำลดลงต่ำกว่าที่คาดไว้จึงเริ่มต้นแผนที่จะนำตัวเด็กออกมา

Advertisement

เจเวลล์ระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเราได้ลองวิธีการบางอย่างที่ยังไม่เคยทำมาก่อนเช่นกันนั่นจึงทำให้มีความหวั่นใจว่าภารกิจอาจไม่ประสบความสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์

ด้านสแตนตันเล่าด้วยว่า ตนเข้าถึงตัวเด็กพร้อมกับจอห์น โวลันเธน เป็นกลุ่มแรก ในตอนนั้นตนกับโวลันเธน ว่ายอยู่บนผิวน้ำและปรึกษาหารือกันนิดหน่อยเพราะทั้งคู่ว่ายไปสุดเส้นเชือกแล้ว โดยสแตนตันระบุว่า ตนใช้การดมกลิ่นมนุษย์ในอากาศ ในเวลานั้นเด็กๆ ได้ยินเสียงตนคุยกับโวลันเธน ในเวลาเดียวกันตนก็เห็นแสงไฟจากเด็กๆ ก่อนที่เด็กๆ จะปรากฏตัวขึ้นทีละคนๆ จากบนเนินจนกรบ 13 คน

สแตนตันระบุต่อว่า ตนไม่คิดว่าเด็กๆ จะสามารถอยู่ในนั้นได้ยาวนานถึง 4 เดือน เนื่องจากไม่สามารถสะสมเสบียงเอาไว้ได้เพียงพอ

ด้านมัลลินสันเสริมว่า อากาศภายในนั้นแย่มาก ด้านกองทัพไทยมีแผนจะวางท่อออกซิเจนเข้าสู่ภายในแต่นั่นก็ไม่ได้เกิดขึ้น ดังนั้น ทางเดียวก็คือต้องนำเด็กออกมา

ในส่วนของความอันตรายของภารกิจ มัลลินสันเล่าว่า ตนไม่ได้ห่วงอันตรายของตนเองแต่ห่วงสวัสดิภาพของเด็กๆ ในฐานะคนที่ต้องรับผิดชอบชีวิตของเด็กๆ โดยมัลลินสันยอมรับว่าตนมีความกังวลมากๆ ในช่วงเวลาที่ต้องนำตัวเด็กจากจุดนั้นลงไปยังเส้นทางที่มีน้ำท่วม โดยเฉพาะในช่วง 5 ถึง 10 นาทีแรกที่ต้องคอยสังเกตจังหวะการหายใจของเด็กๆจากฟองอากาศตลอดเวลา

มัลลินสันระบุถึงการให้ยาสงบกับเด็กๆ ด้วยว่า ในช่วงเวลานั้นเด็กๆ อยู่ในสภาพเกือบจะหมดสติ และว่า นั่นเป็นวิธีเดียวที่จะรอดชีวิต เพราะนักดำน้ำต้องป้องกันตัวเองและไม่ต้องการให้เด็กๆ ตื่นตระหนกเวลาอยู่ในน้ำ

เมื่อพิธีกรถามว่า ทำไมถึงไม่มองว่าตัวเองเป็นฮีโร่ มัลลินสัน ระบุว่า เราแค่ทำในสิ่งที่เรามีประสบการณ์และทำมาตลอดระยะเวลา 25 ปี และเราก็รู้สึกยินดีที่ได้ใช้ทักษะนั้นในการช่วยผู้คน เราไม่ออกไปตรงนั้นเพื่อเรียกร้องคำว่าฮีโร่ หรือสิ่งใดๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image