ละเอียดยิบ! สารคดีกู้ชีพ ‘หมูป่า’ จากออสเตรเลีย เผยนาทีขออนุมัติแผน เปิดข้อมูลลึกจากปากนักดำน้ำต่างชาติ

เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม เพจ Thai Navy Seal ได้เผยแพร่คลิปสารคดีจากสำนักข่าว ABC ออสเตรเลีย ความยาว 55 นาที 50 วินาที พร้อมคำแปล เนื้อหาดังนี้

ABC ออสเตรเลียสัมภาษณ์ทีมกู้ภัยออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐ #พาทีมหมูป่ากลับบ้าน เผยนาทีที่ขออนุมัติแผนจากรัฐมนตรีของไทยซึ่งทุกคนเตรียมใจไว้ว่าน่าจะต้องมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการดำน้ำออกมาราว 3 – 4 คน อันนี้ยาวที่สุดแต่ค่อนข้างละเอียดที่สุดแล้ว แนะนำอ่านเหมือนเดิมครับ

ABC (ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นคนละช่องกับ ABC ของสหรัฐ) ทำสารคดีเรื่องการกู้ภัยที่ถ้ำหลวงในรายการ Four Corners โดยมีไฮไลต์คือการสัมภาษณ์นักดำน้ำอังกฤษ ผู้บังคับทีมช่วยเหลือของสหรัฐ และคู่ดำน้ำของ Dr. Richard Harris ชาวออสเตรเลีย

Jason Mallinson นักดำน้ำในถ้ำชาวอังกฤษที่เราน่าจะจำกันได้ กล่าวว่า นี่เป็นหนึ่งในภารกิจที่ยากที่สุด อันตรายที่สุด และเสี่ยงที่สุดที่เขาเคยทำ ไม่ใช่ในแง่ของความปลอดภัยของเขา แต่เป็นในแง่ของความปลอดภัยของคนที่เขาจะต้องรับผิดชอบ เขาไม่เคยทำอะไรที่เสี่ยงขนาดนี้มาก่อน และคิดว่าคงจะไม่ต้องทำอะไรแบบนี้อีกแล้ว แต่นั่นเป็นทางเลือกเดียวในตอนนั้น

Advertisement

เขาเสริมว่าตัวเขาเองมั่นใจว่าจะพาตัวเองออกมาได้ มั่นใจว่าเชือกนำทางจะไม่หลุดมือ มั่นใจว่าจะนำเด็กออกมาได้ แต่เขาไม่มั่นใจ 100% ว่าเด็กที่นำออกมาจะมีชีวิตอยู่หรือไม่

เช่นเดียวกับนาวาอากาศตรี Charles Hodges ของกองทัพสหรัฐ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมกู้ภัยของสหรัฐที่ทำหน้าที่รับเด็กจากนักดำน้ำและตรวจสอบสุขภาพเด็กในโถง 3 กล่าวว่า ความเป็นไปได้ที่ภารกิจนี้จะสำเร็จนั้นต่ำมากเท่าที่จะนึกออก เขาทำใจไว้ว่าอาจจะต้องมีเด็ก 3 4 หรือ 5 คนที่เสียชีวิตในระหว่างการกู้ภัย และเขาก็บอกกับท่านผู้ว่าไปว่าเขามั่นใจว่ามีโอกาสที่ภารกิจจะสำเร็จ 60 – 70%

Advertisement

เขายังเผยว่า การดำน้ำพาเด็กออกมานั้นเป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ แต่ถ้าให้เด็กอยู่ในนั้นเป็นเวลา 4 – 5 เดือน และประมาณการว่าจะต้องเตรียมอาหารแห้งให้เด็กขั้นต่ำสุดวันละ 1 มื้อ เท่ากับจะต้องเตรียมอาหารถึง 1,800 มื้อเป็นอย่างน้อยเข้าไปข้างใน ซึ่งไม่มีที่พอในถ้ำ และจะต้องใช้การดำน้ำเข้าออกถึง 18 เที่ยว ดังนั้นการให้เด็กรอคนหมดหน้าฝนจึงเป็นทางเลือกที่เป็นไปไม่ได้ ยิ่งเมื่อพิจารณาจากฝนที่กำลังเข้ามาซึ่งอาจทำให้นักดำน้ำไม่สามารถส่งอาหารได้ครบตามที่คำนวณไว้

เขาเสริมว่า เขารู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ไม่เพียงแต่มันจะเป็นข่าวดี แต่เด็กๆ ยังได้กลับไปพบผู้ปกครอง และนั่นคือสิ่งสำคัญที่อยู่ในใจของเขา

และหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญก็คือ Dr. Richard Harris และคู่บัดดี้ดำน้ำคือ Craig Challen ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบสุขภาพเด็กๆ และให้ยาระงับอาการตกใจก่อนที่จะนำเด็กออกมา รวมถึงประเมินสุขภาพเด็กตลอดทาง ซึ่งเขาเป็นฟันเฟืองสำคัญในความสำเร็จของภารกิจนี้

Jason Mallinson ยังบอกอีกว่าถ้าไม่มี Dr. Richard Harris ภารกิจนี้ก็ไม่มีทางสำเร็จ เพราะเขาอยู่กับเด็ก ๆ พูดกับเด็กๆ ทำให้เด็กสงบลง ด้วยความเชี่ยวชาญจากการเป็นแพทย์ฉุกเฉิน (คุณหมอ Harris เป็นแพทย์ในบริษัท medSTAR ซึ่งเป็นบริษัทขนย้ายผู้ป่วย – ผู้แปล)

ส่วนคู่บัดดี้ของคุณหมอคือ Craig Challen เผยว่าพวกเขาเกือบพลาดรับโทรศัพท์จากรัฐบาลไทยที่โทรมาขอความช่วยเหลือ เพราะเขาจัดกระเป๋าเตรียมไปเที่ยวทุ่ง Nullarbor ในออสเตรเลียใต้เรียบร้อยแล้ว แต่กลับกันพวกเขาต้องรื้อของทุกอย่างออก เตรียมอุปกรณ์ดำน้ำให้พร้อม และไปสนามบินภายใน 45 นาที

ทั้งสองเดินทางมาถึงถ้ำหลวงในวันที่ 6 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ จ่าเอกสมาน กุนัน (ยศในขณะนั้น) เสียชีวิต เมื่อถูกถามว่าข่าวการเสียชีวิตของจ่าเอกสมานทำให้ตระหนักถึงอันตรายของภารกิจมากขึ้นหรือไม่ Craig Challen กล่าวว่า ไม่ต้องสงสัยว่านี่เป็นภารกิจที่อันตราย แต่เราซึ่งเป็นนักดำน้ำในถ้ำนั้นสามารถดูแลตัวเองได้เพราะนี่คือสิ่งที่เราทำมาตลอด แต่สำหรับคนอื่นๆ และ #หน่วยซีล ของ #กองทัพเรือไทย ซึ่งแม้จะเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถสูงมากแต่นี่ไม่ใช่สภาวะแวดล้อมที่พวกเขาคุ้นเคย และได้รับการฝึกมา

นาวาอากาศตรี Charles Hodges เสริมว่า เมื่อจ่าเอกสมานเสียชีวิต ทุกคนพักภารกิจ ถอยออกมา และมาประเมินความเสี่ยงกันใหม่ว่ามีความเสี่ยงใดที่ยอมรับได้ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ตระหนักว่ามันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะสุดท้ายก็ยังมีเด็กๆ และโค้ชที่ต้องช่วยออกมาอยู่ดี ดังนั้นยังไงเราก็ต้องเดินหน้าต่อ ดังนั้น แม้ว่าการเสียชีวิตของจ่าเอกสมานจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและในใจของเขาก็ระลึกว่าจ่าเอกสมานคือวีรบุรุษของคนไทยและคนทั้งโลก แต่พวกเขาก็รอช้าไม่ได้ และพวกเขาจะไม่ปล่อยให้การเสียชีวิตของจ่าเอกสมานต้องสูญเปล่า

หลังจากการค้นพบเด็กๆ แล้ว ทีมกู้ภัยทุกคนเริ่มรู้ตัวลึกๆ ว่า การนำเด็กออกมาด้วยการดำน้ำคงต้องเป็นทางเลือกเดียว ทางหน่วยซีลของไทยได้เข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของไทยเพื่ออธิบายให้ท่านฟัง รวมถึง ทีมกู้ภัยทั้งหมดที่อธิบายแผนการเป็นขั้นเป็นตอนให้กับท่านรัฐมนตรีฟัง ซึ่งตัวนาวาอากาศตรี Charles Hodges มั่นใจว่าแผนจะได้รับการอนุมัติเพราะเขาเชื่อว่าแผนการนี้ได้ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี

นาวาอากาศตรี Charles Hodges กล่าวกับท่านรัฐมนตรีว่า ท่านครับ โลกทั้งโลกกำลังดูเราอยู่ เรามีเด็ก 12 คนและโค้ชติดอยู่ในถ้ำ และเรามีความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์เป็นอย่างมาก แต่โชคร้ายที่ในสถานการณ์แบบนี้เราจะไม่ใช้อารมณ์ ดังนั้น เราตัดสินใจทุกอย่างด้วยเหตุและผลและพยายามเอาอารมณ์ออกทั้งหมด และตอนนี้สถานการณ์มาถึงจุดที่เหลือทางเลือกเพียงทางเลือกเดียว และถ้าไม่ตัดสินใจที่จะดำน้ำพาเด็กออกมา สถานการณ์จะกลายเป็นผู้ตัดสินใจให้เราแทน

เขาคิดว่าท่านรัฐมนตรีเข้าใจในเหตุและผล ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานหน่วยซีลของไทยก็มาบอกกับเขาว่า แผนการทั้งหมดได้รับการอนุมัติและเราจะเดินหน้าทันที

พันจ่าอากาศเอก Derek Anderson หนึ่งในนักดำน้ำจากกองทัพอากาศสหรัฐ กล่าวว่า หลังจากนั้นพวกเขาก็เริ่มฝึกกันในสระน้ำที่ได้รับอนุเคราะห์จากโรงเรียนละแวกนั้น และได้เด็กๆ มาเป็นตัวอย่างฝึก การฝึกเริ่มจากง่ายๆ และใช้อุปกรณ์จำลอง และเป็นการฝึกความเข้าใจก่อนที่จะเริ่มใช้อุปกรณ์จริง และเด็กตัวอย่างจริง ซึ่งก็จะเริ่มฝึกจากการใส่อุปกรณ์ให้เด็ก การนำเด็กดำน้ำ การส่งผ่านเด็กไปยังนักดำน้ำคนอื่น และพยายามลงรายละเอียดไปเรื่อยๆ จนมั่นใจว่าทุกคนได้ฝึกมากที่สุดเท่าที่ทักษะของตนจะมี ทุกคนได้ฝึกร่วมกัน และทุกคนจะทำให้ดีที่สุดแม้ว่าจะมีความเสี่ยงมากก็ตาม

จุดเล็กๆ อย่างข้อความของเด็กๆ ที่ Jason Mallinson เกิดไอเดียให้เด็กๆ เขียนออกมาให้ผู้ปกครองได้กลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สร้างกำลังใจชั้นดีที่ทำให้ทีมกู้ภัยมั่นใจมากขึ้น Jason Mallinson ยังย้ำถึงความกล้าหาญที่น่าทึ่งของเด็กๆ ที่เมื่อพวกเขาอธิบายแผนการให้เด็ก ๆ ฟัง ไม่มีใครเลยที่แสดงอาการตกใจหรือร้องไห้ เด็กๆ ยอมปฏิบัติตามภารกิจทั้งหมด ซึ่งมันน่าทึ่งมากเมื่อเทียบกับอายุของพวกเขา

Craig Challen เสริมอีกว่า ในบ่ายวันเสาร์ เขา และหมอ Harris เข้าไปตรวจสอบเด็กๆ และพบว่าพวกเขามีกำลังใจดีมาก โดยหน่วยซีลทั้ง 4 นายที่อยู่กับเด็ก ๆ ทำหน้าที่ได้ดีมากในการเสริมกำลังใจให้เด็กๆ ดังนั้นทุกอย่างดูพร้อมมาก แม้ว่า Jason Mallinson จะซ่อนความกังวลไว้ข้างในว่า ถ้าฝนจะตกหนักอย่างที่พยากรณ์ไว้จริง ทุกอย่างมันจะยิ่งยุ่งยากขึ้นก็ตาม

และนั่นเป็นปัจจัยที่ทำให้ท่านผู้ว่าตระหนักว่าปฏิบัติการจะต้องเริ่มภายในวันอาทิตย์นั้น และท่านก็ประกาศวัน D-Day นักดำน้ำต่างชาติ 13 คนพร้อมหน่วยซีลของไทย 5 คนเริ่มดำน้ำเข้าไปหาเด็กๆ

เช่นเดียวกับการแถลงข่าวของทีม #หมูป่า ที่คงจะได้ฟังกันไปแล้ว นักดำน้ำออสเตรเลียบอกว่าผูุ้ที่ตัดสินใจว่าใครจะออกมาเป็นกลุ่มแรกคือเด็กๆ และหน่วยซีลของไทย โดยพวกเขารอรับการตัดสินใจเท่านั้น หลังจากนั้น เมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการดำน้ำของเด็กๆ อุปสรรคทางภาษา และอายุของเด็กๆ ทำให้ทุกคนตัดสินใจที่จะต้องทำทุกอย่างให้เด็กๆ โดยเด็กๆ ไม่ต้องทำอะไร

พันจ่าอากาศเอก Derek Anderson จากกองทัพอากาศสหรัฐ กล่าวว่า ทีมกู้ภัยแบ่งถ้ำออกเป็น 9 โถง ในส่วนที่ซับซ้อนที่สุดจะเป็นหน้าที่ของนักดำน้ำอังกฤษซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี ในส่วนอื่นๆ ก็จะแบ่งกันไปตามความเชี่ยวชาญและทักษะของแต่ละคน เรื่อยไปจนถึงคนเกือบ 150 คนที่รับผิดชอบตามจุดต่างๆ ตั้งแต่โถง 9 จนถึงหน้าถ้ำ ทุกคนทำงานกันเป็นทีมเดียวกันแต่มีหน้าที่ต่างกัน

Jason Mallinson หนึ่งในนักดำน้ำอังกฤษที่รับหน้าที่พาเด็กๆ ดำน้ำออกมา กล่าวว่า ในวันแรกๆ ทัศนวิสัยยังดีอยู่ แต่ในวันสุดท้ายเขามองไม่เห็นอะไรเลย นั่นทำให้พวกเขาเหนื่อยมากในแง่ของจิตใจ

Dr. Richard Harris จะดำน้ำมากับเด็กๆ ในช่วง 350 เมตรแรก และเมื่อมาถึงช่วงแห้งที่ยาว 200 เมตร Craig Challen จะรับหน้าที่ถอดหน้ากากของเด็กๆ ออก ตรวจสอบอุปกรณ์ และพาเด็กๆ สไลด์ข้ามเนินดินไปจนถึงช่วงที่จะต้องดำน้ำอีกครั้ง ใส่อุปกรณ์ และพากลับลงน้ำ ซึ่งจะเห็นได้ว่าถ้าจะต้องใช้นักดำน้ำ 2 คนต่อเด็ก 1 คนมันจะต้องใช้เวลานานมาก สุดท้ายก็เลยกลายเป็นการดูแลหนึ่งต่อหนึ่ง

และก็จะมีช่วงแห้งที่เป็นช่วงสูงชันที่จะต้องแขวนเด็กเอาไว้บนเชือกกู้ภัย และค่อยๆ พาเด็กไปราวๆ 150 เมตร เพราะมันอันตรายเกินไปที่จะให้เด็กลงเดินและข้ามช่วงสูงชันนั้น โดยเด็กๆ จะถูกแขวนด้วยเชือกแขวนที่ปรับปรุงพิเศษเพื่อการนี้ Jason Mallinson เสริมว่าจะมีช่วงที่ต้องดำน้ำขึ้นตรงๆ ซึ่งนักดำน้ำไม่มีทางรู้ว่าจะถึงช่วงนั้นเมื่อไหร่จนกว่าจะเอาหัวโขกกับผนังถ้ำ ซึ่งเมื่อมันเกิดขึ้น นักดำน้ำก็จะรู้ว่าจะต้องดำขึ้นตรงๆ ไปตามช่องแคบๆ นักดำน้ำต้องลองว่าจะพาเด็กกับนักดำน้ำไปพร้อมกันได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ต้องถอย และลองให้นักดำน้ำดำคนเดียวดู ถ้าไม่ได้ก็ต้องถอย ลองดันเด็กไปตามช่องดู ถ้าไม่ได้ก็ต้องถอยอีก มันเป็นกระบวนการที่กินเวลานานและน่ากลัวมาก เพราะถ้าเกิดดันเด็กไปชนผนังถ้ำและกระแทกหน้ากากของเด็กๆ หลุด เด็กก็จะต้องเสียชีวิต หรือถ้านักดำน้ำทำเชือกนำทางหลุดมือ พวกเขาก็จะตกอยู่ในอันตรายมาก

แต่เมื่อทุกคนพาเด็กสี่คนแรกออกมาได้ทุกคนก็ทั้งโล่งใจ และรู้สึกหมดแรงในเวลาเดียวกัน แต่ความกดดันก็ยังมีอยู่เพราะทุกคนรู้ว่าฝนกำลังมาแล้ว และนั่นไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงลดลงเลย พันจ่าอากาศเอก Derek Anderson กล่าวว่า มันจึงเป็นการฉลองสั้นๆ หลังจากนั้นทุกคนก็ต้องกลับไปตั้งสมาธิ ทำตัวเป็นมืออาชีพ เพราะทุกคนรู้ว่านี่เป็นความสำเร็จเล็กๆ ในภารกิจที่ใหญ่กว่า และรู้ว่าถ้าฝนตกลงมาก่อนหน้าที่คาดไว้แม้เพียงนิดเดียว ภารกิจกู้ภัยจะต้องยุติลง เพราะมันจะเสี่ยงมากเกินไปต่อทั้งเด็กๆ และนักดำน้ำเอง และแม้เด็กชุดที่สองจะออกมาสำเร็จซึ่งหมายถึงความสำเร็จ 8 ครั้งจากความพยายาม 8 ครั้ง มันก็ไม่ทำให้พวกเขาเบาใจลง

เขาจำได้ว่าหลังจากวันที่สอง เขาเข้าไปบอกกับนักดำน้ำอังกฤษว่า พวกคุณสุดยอดอย่างกะ Rock Star และนี่จะต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์แน่นอน

ในภารกิจวันสุดท้าย Dr. Richard Harris เลือกที่จะอยู่กับเด็กๆ และหน่วยซีลของไทยเป็นกลุ่มสุดท้าย ซึ่ง Craig Challen บอกว่าทำงานของหมอ Harris ว่ายอดเยี่ยมมากๆ

นาวาอากาศตรี Charles Hodges เล่าถึงช่วงสุดท้ายของภารกิจว่า เมื่อคุณรู้ว่าเด็กๆ ออกมากันหมดแล้ว หน่วยซีลของไทยออกมากันแล้ว ในตอนสี่ทุ่มที่ทุกคนยืนอยู่ตรงนั้นทุกคนก็ปล่อยให้อารมณ์กลับเข้ามาในจิตใจอีกครั้ง มันรู้สึกได้ว่าทุกคนได้ทำอะไรสักอย่างสำเร็จ ทุกคนที่มาจากต่างที่กันมาทำงานด้วยกัน และโลกก็เฝ้ามองอยู่ Craig Challen เสริมว่าเขารู้สึกโลงมาก แต่หน่วยซีลของไทยยังมีงานต้องจัดการ ดังนั้น เขาจึงออกมากันช้ากว่า 2-3 ชั่วโมง

ซึ่งนั่นก็ทำให้มีเรื่องดราม่าในตอนสุดท้ายของภารกิจจนได้ พันจ่าอากาศเอก Derek Anderson สารภาพตามตรงว่า มันอาจจะเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่ ณ วินาทีนั้นปั้มน้ำหนึ่งตัวในโถง 3 เสีย และยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งรอรับหน่วยซีลกลุ่มสุดท้ายให้ออกมา เมื่อได้รับแจ้งว่าระดับน้ำกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกคนตื่นเต้นมาก แต่สุดท้าย ทุกคนออกออกมาได้อย่างปลอดภัย

Craig Challen บอกว่านักดำน้ำได้ไปเยี่ยมเด็กๆ ที่โรงพยาบาลหลังจากนั้น ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เด็กๆ นั่งกินอาหารกันอย่างมีความสุข พวกเราไม่สามารถบรรยายได้ว่าพวกเรามีความสุขมากขนาดไหน เพราะตอนแรกทุกคนคาดว่าภารกิจนี้จะเป็นภารกิจกู้ศพแทนที่จะเป็นภารกิจนำผู้ป่วยออกมาทั้งๆ ที่ยังมีชีวิต เขายังต้องถามตัวองว่าสิ่งนี่มันเป็นความจริงหรือเปล่า เพราะมันดูเหมือนจะดีเกินกว่าที่จะเป็นความจริง

เรืออากาศเอก Jessica Tait มาเสริมเป็นคนสุดท้ายว่า เธอจำได้ว่าเมื่อมาถึงที่ถ้ำใหม่ๆ มีใครในทีมบางคนที่แม้จะเป็นคนที่แข็งแกร่งมากบ่นว่า เขาไม่รู้ว่าแม้แต่ตัวเขาเองจะมีชีวิตรอดจากเหตุการณ์แบบนี้ได้ไหม แต่นี่เป็นแค่เด็กๆ เท่านั้น และสำหรับเธอ มันแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะมีชีวิตรอดของเด็กๆ และโค้ชที่คอยนำเด็กๆ ให้รอดชีวิตได้ คนพวกนี้คือผู้ที่กล้าหาญและเธอรู้ว่าเหตุการณ์นี้จะต้องถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์สำหรับความกล้าหาญของพวกเขา/TAF แปล

คลิกเข้าสู่เวปไซต์เพื่อชมคลิปสารคดี http://www.abc.net.au/4corners/out-of-the-dark/10000580

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image