เปลี่ยนกระบวนการชิงตำแหน่งเลขา‘ยูเอ็น’ ให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์หนแรก

AFP PHOTO / KENA BETANCUR

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ผู้สมัครที่ต้องการชิงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คนต่อไปจะต้องตอบคำถามในเรื่องวิกฤตของโลก ตั้งแต่โลกร้อนไปจนถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ในระหว่างการแสดงวิสัยทัศน์โดยเปิดเผยซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกในการคัดเลือกเลขาฯยูเอ็นคนใหม่ เมื่อวันที่ 12 เมษายน

ยูเอ็นเปิดให้มีการแสดงวิสัยทัศน์โดยเปิดเผยเป็นเวลา 3 วันในห้องประชุมขนาดใหญ่ที่สำนักงานของยูเอ็นในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นับเป็นการเปลี่ยนแปลงจากกระบวนการคัดเลือกเลขาฯยูเอ็นที่เป็นความลับมาตลอด 70 ปี โดยในวันแรกนี้ ผู้สมัครชิงตำแหน่งเลขาฯยูเอ็น 3 ใน 9 รายจะแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) 193 ชาติเพื่อรับตำแหน่งต่อจากนายบัน คี มุน เลขาฯยูเอ็นคนปัจจุบันที่จะพ้นตำแหน่งในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า

ก่อนหน้านี้ ตำแหน่งเลขาฯยูเอ็นเป็นการตัดสินใจของ 5 ชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ซึ่งประกอบไปด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ขณะที่กระบวนการส่วนใหญ่เป็นความลับ แต่ยูเอ็นจีเอลงมติให้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเมื่อปีที่แล้วโดยให้ผู้สมัครต้องยื่นใบสมัครเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งประวัติโดยย่อและมาแสดงวิสัยทัศน์

ผู้สมัครที่ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์คนแรกคือนายอิกอร์ ลุคซิช รัฐมนตรีต่างประเทศมอนเตเนโกรวัย 39 ปี ผู้สมัครอายุน้อยที่สุด ตามด้วยนางอิรีนา โบโควา ผู้อำนวยการองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศบัลแกเรียวัย 63 ปี และนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรซ อดีตข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติวัย 66 ปี ชาวโปรตุเกส

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image