คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: คอร์รัปชั่นกับความตายที่กัมพูชา

(AP Photo/Heng Sinith)

ราวกลางปี 2016 “โกลบอล วิทเนสส์” องค์กรเอกชนซึ่งรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชั่นระหว่างประเทศ เผยแพร่รายงานออกมาชิ้นหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นการเปิดโปงทางการเมืองครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศกัมพูชา

รายงานชิ้นดังกล่าว เปิดเผยข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจที่แผ่ขยายออกไปกว้างขวางมากมายที่เกี่ยวของโดยตรงกับทั้งตัว สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา บุคคลในครอบครัว และคนใกล้ชิดซึ่งเกี่ยวดองกับครอบครัวทั้งหมด

โกลบอล วิทเนสส์ แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงของฮุน เซน และครอบครัวกับบริษัทธุรกิจต่างๆ มากมายกว่า 100 บริษัทในทั่วทุกภาคธุรกิจ ไล่ตั้งแต่ ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจเกษตรกรรม เหมืองแร่ การผลิตกระแสไฟฟ้า และ สื่อสารมวลชน มีตั้งแต่ส่วนที่เป็นกิจการภายในประเทศแท้ๆ เรื่อยไปจนถึงที่เป็นกิจการสาขาของแบรนด์ดังระดับโลกทั้งหลาย

ในรายงานชิ้นนั้นประเมินมูลค่าของทรัพย์สินและความมั่งคั่งของครอบครัวตระกูลฮุนเอาไว้ว่า อยู่ระหว่าง 500 ล้านดอลลาร์เป็นอย่างน้อย แต่มีสิทธิ์ที่จะสูงได้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์

Advertisement

คิดเป็นเงินบาทในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน อยู่ระหว่าง 16,700 ล้านไปจนถึง 33,400 ล้านบาท
ซึ่งมหาศาลมากหากคิดกันว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของกัมพูชาทั้งประเทศในปี 2016 นั้น รวมแล้วเพียง 20,200 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

แน่นอนหลังการเผยแพร่รายงานดังกล่าว เสียงวิพากษ์วิจารณ์ย่อมดังขึ้นตามมา ข้อกังขามีตั้งแต่เรื่องการขัดกันของผลประโยชน์เรื่อยไปจนถึงพฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจของกิจการในเครือนายกรัฐมนตรีและครอบครัวดังกล่าวนั้น เสียงหนึ่งที่ดังมากเป็นพิเศษก็คือ เสียงวิพากษ์วิจารณ์จาก “เก็ม เลย”

เก็ม เลย ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนายแพทย์ สำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์ในกัมพูชา มาต่อปริญญาโทด้านการวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมาลายาในมาเลเซีย

Advertisement

เก็ม เลย ทำงานด้านการแพทย์กับองค์กรเอกชนหลายแห่งที่รณรงค์แก้ปัญหาด้านสาธารณสุขหลายอย่างของกัมพูชา รวมทั้งปัญหาเอชไอวี/เอดส์ ก่อนเริ่มต้นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกัมพูชาอย่างตรงไปตรงมา

ระหว่างการดำเนินโครงการ “100 วันกับครอบครัวคนเขมร” ซึ่งเป็นความพยายามขุดลึกลงไปให้ถึงรากเหง้าของปัญหาที่บรรดารากหญ้ากัมพูชาทั้งหลายเผชิญอยู่ในเวลานั้น นำเสนอผ่านหน้าเพจ เฟซบุ๊กของตนเอง
ต่อด้วยการบันทึกเรื่องราวเชิงเสียดสีปนวิพากษ์การเมืองในประเทศ ผ่านข้อเขียนเป็นชุด ที่เขาตั้งชื่อไว้ว่า “ชุดเรื่องตลก”ในกัมพูชา

ชื่อของ เก็ม เลย โด่งดัง กลายเป็นนักวิชาการ นักวิพากษ์วิจารณ์ที่แสดงความเห็นทางการเมืองผ่านวิทยุและสื่ออื่นๆ อย่างเผ็ดร้อน ไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรม โดยเฉพาะเรื่องคอร์รัปชั่นและการเล่นพรรคเล่นพวก
ราวต้นเดือนกรกฎาคม ปีนั้น เก็ม เลย เริ่มแสดงความเห็นถึงรายงานของ โกลบอล วิทเนสส์

ในทัศนะของ เก็ม เลย รัฐบาลจำเป็นต้องใส่ใจกับรายงานชิ้นนี้และเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนเพื่อสร้างความกระจ่างชัดให้กับธุรกิจมหาศาลของครอบครัวตระกูลฮุน

2 วันต่อมา เก็ม เลย ถูกยิงเสียชีวิต กลางวันแสกๆ ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในเมืองหลวงของกัมพูชา!

ความตายของ เก็ม เลย ทำให้ แมรี แอนน์ โจลลีย์ หนึ่งในทีมงานรายการ “101 อีสต์” รายการโทรทัศน์เชิงวิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์ที่โด่งดังของ อัลจาซีรา อิงลิช สถานีโทรทัศน์ข่าว 24 ชั่วโมง ระดับมีรางวัลดีเด่นประดับรายการหลายรางวัล เริ่มให้ความสนใจการเมืองกัมพูชา และเริ่มต้นงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับความมั่งคั่งที่ถูก “ซุก” เอาไว้ ทั้งของฮุน เซน และบรรดา หัวกะทิ ของพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) พรรครัฐบาลผูกขาดของประเทศ

เธอเริ่มต้นที่ออสเตรเลีย ประเทศที่มีชุมชนชาวกัมพูชาพลัดถิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก และรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มก้อนใกล้ชิด แต่จำแนกตัวเองออกเป็นกลุ่มตามความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน

แมรี แอนน์ โจลลีย์ หวังจะได้เบาะแสเริ่มต้นให้เกาะกุมได้จากที่นั่น

เธอพบว่า กระบวนการนี้ยุ่งยากและเปลืองเวลากว่าที่คิดไว้มาก ข้อมูลที่เป็นคำบอกเล่าส่วนใหญ่ไม่มีรายละเอียด การเจาะลงไปถึงรายละเอียดของแต่ละเรื่องลำบากไม่น้อย หลายคน “กลัวมากเกินไป” วิตกกับผลสะท้อนกลับจากการเปิดเผยถึงตัวผู้ต้องสงสัยในการกระทำผิดที่เชื่อมโยงอยู่กับพรรคซีพีพี

กลัวว่าจะเกิดอย่ทางหนึ่งอย่างใดกับตัวเองและกลัวว่าอาจเกิดอะไรขึ้นก็ได้กับครอบครัวที่เหลือที่ยังคงอยู่ในกัมพูชา

สิ่งที่ได้รู้เพิ่มเติมก็คือ ธุรกิจและทรัพย์สินของครอบครัวฮุน เซน และ คนในรัฐบาลหรือพรรครัฐบาล รวมไปถึงนายทหารทั้งหลาย ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศ หากแต่ยังมีอยู่ในออสเตรเลียอีกต่างหาก

มีการกล่าวหากันว่า แกนนำสำคัญๆ ในพรรค ก่ออาชญากรรมร้ายแรงหลายต่อหลายอย่าง ตั้งแต่ฟอกเงิน, การเบียดยังเอาประโยชน์ชนิดไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมไปถึงการลักลอบค้ายาเสพติด

ทุกความผิดดังกล่าวนั้นควรแก่การถูกตรวจสอบ สะสางอย่างถี่ถ้วนทั้งสิ้น

แมรี แอนน์ โจลีย์ พูดถึงความรู้สึกกลัวที่เธอสัมผัสได้ไว้ว่า

“น่าตกใจมาก ที่ได้พบว่า มีหลายคนมากที่เคยหลบหนีการเข่นฆ่าเอาชีวิตของเขมรแดงมา ยังคงรู้สึกถูกคุกคาม ถูกข่มขู่ ทั้งๆ ที่อยู่ห่างออกมาจากรัฐบาลกดขี่ของกัมพูชาภายใต้การนำของฮุน เซนถึงหลายพันไมล์”

นั่นไม่ใช่ความกลัวแบบไร้เหตุผล แต่เป็นความกลัวที่เกิดจากการมี “ตัวอย่าง” ให้เห็นได้ชัดเจน

ใครก็ตามที่เปิดโปงรัฐบาลถ้าไม่ลงเอยด้วยการถูกกระทำต่ออย่างรุนแรง ก็จบลงด้วยความตาย

กัลยาณ กาย เป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนที่ไม่กลัว และพร้อมที่จะเปิดเผยถึงการคอร์รัปชั่น ที่เธออ้างว่าเห็นมากับตา ระหว่างที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลฮุน เซน เพราะเชื่ออย่างไร้เดียงสา ว่าการทำหน้าที่ดังกล่าวนั้นจะช่วยให้การค้าระหว่างกัมพูชาและออสเตรเลียดีขึ้นและยังประโยชน์ให้กับสามัญชนในประเทศบ้านเกิดได้ไม่มากก็น้อย

แต่ในที่สุดแล้ว กัลยาณ ได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่พรรครัฐบาลกัมพูชาทำ ก็คือการทำให้รัฐบาลอยู่รอดการอาศัยสารพัดกิจกรรมผิดกฎหมายและระบบอุปถัมภ์ เธอลาออกและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอีกเลย

ทางการออสเตรเลียยืนยันกับ แมรี แอนน์ โจลลีย์ ว่า กัลยาณ กาย เคยยื่นเรื่องร้องเรียนต่อพฤติกรรมฉ้อฉลและกิจกรรมผิดกฎหมายของสมาชิกระดับสูงของพรรครัฐบาลกัมพูชาในออสเตรเลีย ซึ่งรวมถึงการฟอกเงินผ่านการซื้ออสังหาริมทรัพย์และการลงทุนในธุรกิจต่างๆ แต่ปฏิเสธว่า ไม่ได้ “หลับหูหลับตา” ต่อพฤติกรรมดังกล่าว เพราะต้องการรักษาความสัมพันธ์กับฮุน เซน

แต่ไม่ได้ระบุเช่นกันว่า ทำไมถึงไม่มีการจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดกับการกล่าวหาดังกล่าว

แหล่งข่าวรายหนึ่งของ แมรี แอนน์ โจลลีย์ บอกให้เธอไปหาคดีในศาลสูงออสเตรเลียเมื่อปี 2014 มาดูรายละเอียด ซึ่งทำให้เธอได้รู้จักชื่อ “วิบล กง” เป็นครั้งแรก

คดีดังกล่าว วิบล กง เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องร้องต่อศาลให้ดำเนินการกับหุ้นส่วนธุรกิจของตนในเวลานั้น ฐานยักยอกเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์ ที่โจทก์โอนเข้าไปยัง กองทุนเพื่อการลงทุนประเภททรัสต์ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์มูลค่ารวมสูงกว่า 17 ล้านดอลลาร์

ตัวคดีก็ว่ากันไปตามกฎหมาย แต่สิ่งที่ทำให้ คดีดังกล่าวน่าทึ่งมากในสายตาของ โจลลีย์ ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า หุ้นส่วน 2 คนในทรัสต์ของ วิบล ที่เป็นจำเลยในคดีนี้เคยโกงภาษีกรมสรรพากรออสเตรเลียรวมมูลค่าสูงถึง 1,800 ล้านดอลลาร์มาแล้ว และกำลังตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดี ซุกซ่อนและฟอกเงิน มูลค่ารวมแล้วมากกว่า 15 ล้านดอลลาร์อีกด้วย

บันทึกของคดีดังกล่าว ยังมีสิ่งที่ทำให้ โจลลีย์ แปลกใจได้อีกหลายอย่าง อย่างเช่น ระบุว่า วิบล กง เป็นข้าราชการ ทำงานมีเงินเดือนไม่ถึง 1,000 ดอลลาร์ แต่สามารถมีเงินมาลงทุนได้ถึงเกือบ 1 ล้านดอลลาร์? สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมตามกฎหมายได้มากกว่า 40,000 ดอลลาร์ แถมยังบินมาออสเตรเลีย ด้วยเครื่องบินในที่นั่้งบิสสิเนสคลาส มูลค่า 15,000 ดอลลาร์ ได้อีกต่างหาก

ทั้งหมดนั่นเป็นข้อมูลจากปากของ วิบล กง ในการให้การต่อศาลในคดีที่ถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
สิ่งที่ไม่ได้อยู่ในลายลักษณ์อักษรดังกล่าวก็คือ ดูเหมือนว่า นั่นจะไม่ใช่ธุรกิจเดียวของ วิบล กง เพราะชื่อนี้ยังครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในเมลเบิร์นอีกมูลค่าหลายล้านดอลลาร์!

วิบล กง เป็นคนที่ชุมชนชาวกัมพูชาในออสเตรเลียรู้จักกันดี เพราะใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจนสำเร็จบัญชี และยังประกอบอาชีพในออสเตรเลียอยู่พักใหญ่ ก่อนกลับประเทศในปี 1993 เข้ารับราชการจนได้ตำแหน่งระดับอธิบดีในเวลานี้

โจลีย์ บอกว่า ในกัมพูชา วิบล กง ได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีเส้นสายดีเยี่ยม นอกจากตำแหน่งราชการเป็น “อธิบดีกรมสรรพากร” แล้ว ยังรับตำแหน่ง “คณะกรรมการกลาง” ของพรรคซีพีพี ในเวลาเดียวกัน ก็ยังเป็น “ผู้อุปถัมภ์” รายใหญ่ของบริษัทกฎหมายแห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าของคือ “ฮุน กิมเลง” หลานสาวของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน และยังเป็น เพื่อนสนิทของ “เนธ โสเวือน” สามีของ ฮุน กิมเลง

เป็น เนธ โสเวือน หลานเขยของท่านนายกฯ คนที่ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกัมพูชา

แมรี แอนน์ โจลลีย์ บอกว่า ทันทีที่ได้ยินชื่อ วิบล กง อธิบดีกรมสรรพากร ทำให้เธอนึกถึงเรื่องหนึ่งขึ้นมาทันที

เป็นเรื่องที่ อยู่ดีๆ หนังสือพิมพ์ แคมโบเดีย เดลี สื่ออิสระของกัมพูชา ถูกกรมสรรพากรยื่นโนติส ขอให้จ่ายภาษีย้อนหลัง 6.3 ล้านดอลลาร์ จนในที่สุดก็ต้องปิดตาย เลิกกิจการ ไปเมื่อต้นปีนี้

พนมเปญ โพสต์ สื่ออิสระอีกราย ซึ่งในเวลาต่อมาถูก “เพื่อนนักธุรกิจ” ชาวมาเลเซียของท่านนายกฯ เข้าซื้อกิจการ เคยพยายามตรวจสอบภูมิหลังของ วิบล กง คนที่ทำเรื่องนี้คือ แจ็ค เดวีส์ ซึ่งเป็นนักข่าวของโพสต์ในเวลานั้น

เดวีส์ พบว่า ท่านอธิบดีคนนี้มีญาติๆ ที่เชื่อมโยงอยู่กับบริษัทปิโตรเลียมแห่งหนึ่ง ซึ่งจัดเป็นบริษัทปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศ

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ บริษัทนี้จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อปี 2008 แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อเสียภาษีกับกรมสรรพากรจนกระทั่งถึงเดือนมีนาคมปี 2017 ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในบันทึกของบริษัท

เมื่อแมรี แอนน์ โจลลีย์ เดินทางไปสัมภาษณ์วิบล กง ถึงที่ทำงานในพนมเปญ แล้วสอบถามความผิดปกติที่ว่านี้

คำตอบแรกก็คือ ข้อมูลที่บันทึกอยู่ในเว็บไซต์การจดทะเบียนบริษัทอย่างเป็นทางการของรัฐบาลนั้น “ผิด”  เพราะญาติๆ ของตนขายกิจการไปนานหลายปีแล้ว

ส่วนข้อมูลการขึ้นทะเบียนเสียภาษีที่ว่านั้นก็ “ผิด” อีกเช่นเดียวกัน

โจลลีย์เลิกถามต่อ เพราะเชื่อว่า ถามต่อไปอีกก็คงได้คำอธิบายแบบเดียวกันว่า บริษัทและทรัพย์สินทั้งหลายในชื่อของ วิบล กง ในออสเตรเลีย

ก็คงเป็น “ความผิดพลาด” อีกเหมือนกัน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image