แถลงการณ์ร่วม ‘จี20’ จี้เจรจาแก้ตึงเครียดการค้า หวั่นคุกคามศก.โลก

AFP PHOTO / G20 PRESS OFFICE

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สมาชิกกลุ่มประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ชาติหรือจี20 เรียกร้องเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ให้มีการเจรจามากขึ้นเพื่อปลดชนวนความตึงเครียดทางการค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง

รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจากกลุ่มจี20 ปิดการประชุมเป็นเวลา 2 วันในกรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา โดยเตือนว่า “ความตึงเครียดด้านการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ที่พุ่งสูงขึ้น” เป็นภัยคุกคามต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

การประชุมนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่นโยบายกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกายั่วยุให้เกิดความโกรธเกรี้ยวจากพันธมิตรยาวนานทั้งสหภาพยุโรป (อียู) แคนาดาและเม็กซิโก และจุดชนวนให้เกิดมาตรการตอบโต้ใส่กันเป็นชุดๆ

แถลงการณ์ร่วมสุดท้ายของจี20 เน้นย้ำถึง “ความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความพยายามในการเจรจาและมาตรการในการบรรเทาความเสี่ยงและเสริมสร้างความเชื่อมั่น” ท่ามกลางความกลัวการยกระดับของสงครามการค้าโลก

Advertisement

ในขณะที่แถลงการณ์ไม่ได้ระบุถึงสหรัฐที่เป็นศูนย์กลางของข้อพิพาททางการค้ากับสมาชิกจี20 อย่างจีน อียู และอีกหลายชาติ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความกังวลที่มากขึ้นกว่าเมื่อครั้งการประชุมในเดือนมีนาคมที่สมาชิกกลุ่มจี20 หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเหตุการณ์นี้ด้วยกันทั้หมด

นายนิโคลัส ดูฮอฟเน รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาระบุว่า จี20 ไม่สามารถยอมรับความแตกแยกในเรื่องข้อพิพาททางการค้า ซึ่งเขาระบุว่าควรจะได้รับการแก้ไขผ่านการเจรจากันโดยตรงระหว่างรัฐบาลและผ่านกลไกขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)

“นี่ไม่ใช่การปฏิเสธความแตกต่าง” นายดูฮอฟเนกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังปิดการประชุม “แต่เราจำเป็นต้องเน้นย้ำให้เกิดความเห็นพ้องกันของส่วนใหญ่เนื่องจากเราตระหนักถึงความสำคัญในการทำให้ทั้งกลุ่มสอดประสานและเดินหน้าต่อไป

Advertisement

ด้านนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐยืนยันข้ออ้างของตนว่า สหรัฐเพียงแค่ต้องการ “ความสมดุลทางการค้ากับประเทศอื่นๆ ที่มากขึ้น” เท่านั้น

นายมนูชินยังปฏิเสธผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการปรับเพิ่มกำแพงภาษีจำนวนมาก โดยระบุว่าถึงตอนนี้มีผลกระทบต่อสหรัฐใน “ระดับจุลภาค” เท่านั้น และ “ในด้านมหภาคนั้น เรายังไม่เห็นแนวโน้มที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของเราอย่างชัดเจน”

ทั้งนี้ ธุรกิจของสหรัฐได้รับผลกระทบจากมาตรการกำหนดกำแพงภาษีลงโทษจากจีน อียู แคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งรวมถึงกำแพงภาษีต่อถั่วเหลือง มอเตอร์ไซค์ วิสกี้เบอร์เบิน และสินค้าอื่นๆ ในขณะที่ผู้ผลิตจำนวนมากต่างก็ตำหนิในเรื่องราคาที่สูงขึ้นของวัตถุดิบสำคัญจากกำแพงภาษีของสหรัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image