คอลัมน์ Think Tank: หายนะประชุมสุดยอด ‘ทรัมป์-ปูติน’

(AP Photo/Alexander Zemlianichenko)

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกา และประธานาธิดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียอาจบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์บางเรื่องในการประชุมสุดยอดที่กรุงเฮลซิงกิของฟินแลนด์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรืออาจไม่บรรลุข้อตกลงใดๆ เลย ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนพูด ที่หลังจากผ่านมาหลายวัน ก็ยังไม่ค่อยมีใครแน่ใจนักในเรื่องนี้
จากการที่ไม่มีรายละเอียดใดๆ ปรากฏออกมาหลังการประชุมหารือกันของ 2 ผู้นำเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา นอกจากบทสรุปอันคลุมเครือที่ผู้นำทั้ง 2 นำเสนอด้วยตนเอง ทำให้เจ้าหน้าที่ สมาชิกสภานิติบัญญัติและพลเมืองจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐสงสัยว่า มีสิ่งใดที่ทั้งคู่เห็นพ้องกันได้จริงๆ บ้าง

ทั้งทรัมป์และปูตินประกาศว่า การประชุมหารือกันเป็นผลสำเร็จครั้งใหญ่ที่เร็วๆ นี้จะออกดอกผลยิ่งใหญ่ในด้านภูมิศาสตร์การเมืองหลายเรื่อง

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม สิ่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของการหารือครั้งนี้จากคำบอกเล่าของปูติน ชี้ให้เห็นว่าผลลัพธ์ใดๆ ก็ตามยังอยู่ห่างไกลจากความแน่นอน

และความจริงที่ว่าการประชุมสุดยอดในระดับ “ไฮโปรไฟล์” ที่มีเดิมพันสูงระหว่างผู้นำของ 2 ประเทศมหาอำนาจด้านอาวุธนิวเคลียร์ยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลก จัดขึ้นโดยไม่มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม สร้างความสับสนให้ผู้คนจำนวนมาก

Advertisement

ในสหรัฐ ความคับข้องใจที่ไม่มีข้อมูลจากการประชุมครั้งนี้สร้างความกังขาเป็นอย่างสูงต่อตัวของทรัมป์ โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติพรรคเดโมแครตได้ผลักดันให้เรียกดูบันทึกของล่ามที่กระทรวงต่างประเทศใช้งานในการหารือครั้งนี้ หรือออกหมายเรียกตัวเข้าให้ปากคำ ซึ่งฝ่ายรีพับลิกันได้สกัดกั้นย่างก้าวนี้

เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐเปิดเผยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมาด้วยว่า ทำเนียบขาวและกระทรวงต่างประเทศมีแนวโน้มจะใช้ข้อต่อสู้ว่าการเปิดเผยบันทึกดังกล่าวเเป็นการละเมิดอำนาจฝ่ายบริหาร ทำให้บันทึกเหล่านี้จะไม่ปรากฏออกมาจนกว่าจะได้รับการเผยแพร่ในฐานะบันทึกทางประวัติศาสตร์ในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

แม้แต่แดน โคทส์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐยังยอมรับว่า “ผมไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในการประชุมครั้งนี้”

Advertisement

ตามปกติแล้ว การประชุมสุดยอดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างประเทศมหาอำนาจ 2 แห่งของโลก จะเกิดขึ้นได้หลังการวางแผนอย่างพิถีพิถันของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน โดยมีเป้าหมายในการสร้างผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม

โดยทั่วไปแล้ว วาระหรือหัวข้อในการหารือ ผลสำเร็จที่ต้องการหรือแม้กระทั่งการบรรลุข้อตกลงที่สำคัญจะมีการเจรจาล่วงหน้าระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อการตระหนักรับรู้ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย

แนวปฏิบัติตามแบบแผนเหล่านี้ถูกทรัมป์เทำลายและ “ปล้น” การดำเนินกิจการของรัฐไป ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้ผลในการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์กับคิม จอง อึนผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือเมื่อเดิอนที่แล้ว

แต่ครั้งนี้ ไม่มีแม้แต่แถลงการณ์ร่วมเรื่องผลลัพธ์ของการประชุมอย่างเป็นทางการ

มีเพียงแค่การแถลงข่าว 45 นาทีที่ทรัมป์จุดชนวนให้เกิดข้อโต้แย้งเป็นอย่างสูงด้วยการดูเหมือนจะเข้าข้างปูตินในเรื่องผลการประเมินของหน่วยข่าวกรองสหรัฐกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2016 เท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image