บ.เกาหลีใต้เผยพบความเสียหายของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย 24 ชั่วโมงก่อนหน้าที่เขื่อนจะแตก

(Attapeu Today via AP)

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานความคืบหน้าเหตุเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในแขวงอัตตะปือ สปป.ลาว ที่เกิดสันเขื่อนแตกจนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก ตั้งแต่คืนวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม บริษัท เอสเค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จากเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ออกแถลงการณ์ระบุว่า มีการพบส่วนบนของโครงสร้างเขื่อนถูกซัดออกไปก่อนหน้าที่เขื่อนจะแตกราว 24 ชั่วโมง โดยพบความเสียหายของเขื่อนเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 22 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่นในลาว และได้รีบแจ้งไปยังทางการและเริ่มการอพยพชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณใต้เขื่อน

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า การซ่อมแซมเขื่อนที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก และได้ทำให้ถนนได้รับความเสียหาย โดยในช่วงเช้าวันที่ 23 กรกฎาคม ได้มีการระบายน้ำให้ไหลออกมาจากเขื่อนเซน้ำน้อย หนึ่งในเขื่อนหลัก 2 หลักของโครงการ เพื่อลดแรงดันภายในโครงสร้างเขื่อน

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ระบุว่า ในช่วงเที่ยงรัฐบาลลาวได้มีการเตือนประชาชนว่าเขื่อนอาจจะได้รับความเสียหายเพิ่มเติมอีก พร้อมกับสั่งให้มีการอพยพประชาชนใต้เขื่อนออกไป และหลังจากนั้นอีกไม่กี่ชั่วโมง เขื่อนก็แตก และช่วงเช้าวันที่ 24 กรกฎาคม มีรายงานว่ามีหมู่บ้าน 7 จาก 12 หมู่บ้านที่อยู่ใต้เขื่อน ถูกน้ำท่วม ภาพจากมุมสูงแสดงให้เห็นน้ำสีน้ำตาลที่ปกคลุมทั่วพื้นที่

บริษัทของเกาหลีใต้ ยังระบุด้วยว่า ได้ส่งทีมรับมือกับสถานการณ์วิกฤตไปยังบริเวณที่เกิดเหตุ พร้อมด้วยเฮลิคอปเตอร์ เรือและเจ้าหน้าที่กู้ภัย และตอนนี้ เอสเค อีแอนด์ซี กำลังปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือผู้คนและบรรเทาความเสียหายร่วมกับรัฐบาลลาว

Advertisement

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของโครงการบนเว็บไวต์ ระบุว่า เขื่อนแห่งนี้ซึ่งมีมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งอยู่ใกล้กับชายแดนที่ติดกับประเทศกัมพูชา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการของบริษัท เซเปียน เซน้ำน้อย เพาเวอร์ คอมพานี หรือ พีเอ็นพีซี ที่ร่วมทุนกับหลายฝ่ายคือลาว และบริษัทจากไทย 1 แห่ง และบริษัทจากเกาหลีใต้ 2 แห่ง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 มีความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้า 410 เมกะวัตต์ และจะสามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2562 โดยจะส่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์มายังประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image