มะกันเผยรายงานสิทธิมนุษยชนปี 58 วิพากษ์ไทยยังมีข้อจำกัดเสรีภาพทางการเมือง

Chip Somodevilla/AFP

นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศเปิดตัวรายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ ประจำปี พ.ศ. 2558 (รายงานสิทธิมนุษยชน) เมื่อวันที่ 13 เมษายน รายงานประจำปีฉบับนี้ครอบคลุมสิทธิพลเมือง สิทธิด้านการเมือง และสิทธิของแรงงานอันเป็นที่ยอมรับของนานาชาติซึ่งสะท้อนถึงสิทธิต่างๆ ที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อตกลงระหว่างประเทศและอื่นๆ รายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนที่จัดทำขึ้นตามคำสั่งของสภาคองเกรสเหล่านี้บรรยายถึงสถานภาพด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศและดินแดนต่างๆ เกือบ 200 ประเทศ โดยนำเสนอปัญหาท้าทายที่ปัจเจกชนและองค์กรต่างๆ เผชิญเนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการตามพันธกิจส่งเสริมสิทธิมนุษยชนสากลได้อย่างที่ควร รายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยในปีนี้ชี้ให้เห็นว่า ไทยยังคงมีข้อจำกัดด้านเสรีภาพของพลเมืองและเสรีภาพทางการเมืองอยู่ ตลอดจนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในบริบทของการก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และปัญหาอื่นๆ ด้านสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ สำนักข่าวเอเอฟพีแะรอยเตอร์ระบุว่า รายงานยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะชาติคู่ปรับของสหรัฐอย่างจีนและรัสเซีย ไม่เว้นแม้แต่ชาติพันธมิตรของสหรัฐอย่างตุรกีและอียิปต์

นายแคร์รีกล่าวว่า การโจมตีคุณค่าทางประชาธิปไตย เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงวิกฤตทางธรรมาภิบาลโลก และว่า เราได้เห็นแนวโน้มในทุกพื้นที่ทั่วโลกที่ตัวแสดงทั้งที่เป็นรัฐ และ ไม่ใช่รัฐ ทำการปิดช่องว่างของภาคประชาสังคม มีการจำกัดเสรีภาพสื่อ เสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต ไปจนถึงการไม่ให้ความสำคัญกับเสียงคัดค้าน และในกรณีเลวร้ายที่สุดคือ การเข่นฆ่าประชาชนหรือผลักดันให้พวกเขาเหล่านั้นต้องพลัดพรากจากบ้าน

นายแคร์รีกล่าวอีกว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายที่สุดในปี 2558 เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นผลจากสงครามในประเทศอิรักและซีเรียที่ทำให้ต้องจมอยู่กับปัญหาทุกข์ยากหนักขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี ยังมีพัฒนาการทางประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นอย่างสำคัญในประเทศอย่าง ตูนิเซีย ไนจีเรีย ศรีลังกา และพม่า ทว่าแต่ละประเทศยังคงเผชิญความท้าทายที่จำเป็นจะต้องฟันฝ่าไป ซึ่งสหรัฐกำลังทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยเหลือให้ประเทศเหล่านี้รับมือกับความท้าทายเหล่านั้นอยู่

Advertisement

ในส่วนของตัวรายงานฉบับนี้ เป็นไปตามคาดที่มีการวิพากษ์ชาติคู่ปรับสำคัญของสหรัฐอย่าง จีน ที่ถูกระบุว่ามีการปราบปรามทนายความและบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับคดีทางการเมืองที่ถือเป็นประเด็นอ่อนไหวในประเทศจีน โดยมีทนายและที่ปรึกษาทางกฎหมายหลายร้อยคนถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำ สอบสวน และหลายคนถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานที่ลับเป็นเวลาหลายเดือนโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาหรือได้พบกับทนายหรือครอบครัวของตนเองแต่อย่างใด ส่วนรัสเซียถูกระบุว่ารัฐบาลประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้เพิ่มการปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและองค์กรภาคประชาคมสังคมภายในประเทศมากขึ้น และยังมีการดำเนินคดีกับชาวยูเครนและชาวตาตาร์ที่ไม่ยอมรับการถือสัญชาติรัสเซียหลังจากสาธารณรัฐไครเมียของยูเครนถูกผนวกอยู่ภายใต้อาณัติของรัสเซีย

ขณะที่ตุรกีแม้จะเป็นชาติพันธมิตรสหรัฐในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต) แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยรายงานฉบับนี้ของสหรัฐกล่าวอ้างว่ารัฐบาลตุรกีใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายและกฎหมายหมิ่นประมาทในการปราบปรามสื่อที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลและยังจับกุมดำเนินคดีผู้สื่อข่าว ตลอดจนประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล
ในรายงานยังระบุถึงประเทศมาเลเซียและทาจิกิสถานว่าใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายหรือกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในการจำกัดควบคุมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและเสรีภาพในการแสดงออก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image