คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ที่กัมพูชา “ประชาธิปไตยตายแล้ว”!

REUTERS/Samrang Pring

“ประชาธิปไตยตายแล้ว” เป็นวาทะกรรมที่บรรดาแกนนำระดับสูงของพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) พรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ ให้เป็นรูปธรรม ที่สั้น กระชับที่สุด สำหรับเป็นเหตุผลว่าทำไม กลุ่มตนถึงได้รณรงค์ให้ผู้มีสิทธิออกเสียง “บอยคอต” ไม่ไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้

และเรียกร้องให้นานาชาติ “แซงก์ชัน” การเดินทางระหว่างประเทศของ บุคคลที่เป็นแกนนำระดับสูงในคณะรัฐบาลและพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) กับครอบครัว แทนการแซงก์ชันทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบต่อสามัญชนในกัมพูชามากกว่า

วาทะกรรมดังกล่าว มีนัยเดียวกันกับที่ ฮิวแมนไรท์ วอทช์ (เอชอาร์ดับเบิลยู) ระบุเอาไว้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาครั้งนี้ “ไม่ใช่การเลือกตั้งที่แท้จริง”

ในขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ ปักใจเชื่อว่า “กระบวนการเลือกตั้งทั้งหมด” ในการเลือกตั้งครั้งนี้ “เป็นปัญหามากเกินไป” จนไม่ควรค่าแม้แต่กับการส่งทีมสังเกตุการณ์เข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

Advertisement

ปัญหาของการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชา ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การจัดการกับพรรคและนักการเมืองฝ่ายค้านสำคัญทั้งหมดเท่านั้น แต่องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของปัญหากลับเป็นสิ่งที่รัฐบาลกัมพูชา ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี สมเด็จฯ ฮุน เซน ถูกกล่าวหาว่า “ใช้อำนาจอย่างบิดเบือน” เพื่อขจัด หรือ ปิดกั้น ทางเลือกอื่นๆ ไปทั้งหมด

จนหลงเหลือเพียงทางเลือกเดียวเท่านั้น คือการเลือกพรรคและนักการเมืองจากซีพีพี ที่ครองอำนาจในประเทศมาอย่างต่อเนื่องตลอด 33 ปีที่ผ่านมา

เอชอาร์ดับเบิลยู ประมวลการกระทำเหล่านั้นเอาไว้ว่า ประกอบด้วย การยุบพรรคฝ่ายค้านหลัก, สะกดรอย ข่มขู่ และใช้แรงจูงใจทางการเมืองดำเนินคดีต่อบุคคลสำคัญของฝ่ายค้าน, การกวาดล้างสื่อมวลชนอิสระ, การปิดกั้น ตัดขาดการเข้าถึงสื่อ โดยไม่เป็นธรรมและไม่เสมอภาค และการใช้กฎหมายเพื่อจำกัดการแสดงออกด้วยวาจา การสมาคมและการชุมนุม, คณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่เป็นอิสระจากรัฐ

Advertisement

การดำเนินการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ พร้อมๆ กับที่มีนายทหารและนายตำรวจระดับสูง รณรงค์หาเสียงให้กับพรรคซีพีพีอย่างต่อเนื่อง

นี่ยังไม่นับขบวนการกดขี่ ข่มขู่คุกคามใครก็ตามที่ต่อต้านระบอบการปกครองของ ฮุน เซน ซึ่งอัลจาซีรา อิงลิช ระบุว่า มีเส้นสายไปไกลถึงชุมชนกัมพูชาในออสเตรเลีย ในขณะที่ การ์เดียน อ้างว่า รัฐบาลกัมพูชา ส่งสายเข้ามา ปฏิบัติการไล่ล่า บรรดาแกนนำฝ่ายค้านและกลุ่มผู้ต่อต้านถึงในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 400 คน

ภรรยาและเพื่อนนักการเมืองฝ่ายค้านถูกแกะรอยติดตาม ถูกข่มขู่คุกคามด้วยการทุบกระจกรถ

ภายใต้สภาวะการณ์เช่นนี้ บรรยากาศก่อนหน้าวันเลือกตั้งในกัมพูชา จึงปกคลุมไปด้วยความหวั่นกลัว หวาดระแวง มากกว่าที่จะเป็นกระตือรือร้นและคึกคักอย่างที่ควรจะเป็น

เป็นบรรยาการอึดอัด วิตกต่ออนาคตของตัวเองหลังการเลือกตั้งที่พวกตนไม่มีทางเลือกใดๆ ทั้งสิ้น

 

 

หากยึดเอาการเลือกตั้งครั้งหลังสุด เมื่อปี 2013 เป็นเกณฑ์ กัมพูชามีประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน ผลจากการเลือกตั้งครั้งนั้น แสดงให้เห็นว่า ชาวกัมพูชาราว 2.9 ล้านคน หรือประมาณ 44 เปอร์เซ็นต์ ลงคะแนนเลือกพรรคซีเอ็นอาร์พี

ในการเลือกตั้งดังกล่าว ซีพีพี พรรครัฐบาลกัมพูชา ได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพียง 3.5 ล้านคะแนน หรือราว 48.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เป็นข้อเท็จจริงที่น่าทึ่งมาก ถ้าหากยึดถือข้อเท็จจริงที่ว่า ซีพีพี มีสมาชิกที่ลงทะเบียนกับพรรคอย่างเป็นทางการมากถึง 5.3 ล้านคน

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ซีพีพี ได้รับคะแนนเสียงมากกว่าจากพื้นที่ชนบท ในขณะที่ในเขตเมือง หรือในจังหวัดที่มั่งคั่ง ส่วนใหญ่จะให้การสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรค ซีเอ็นอาร์พี

ผลการเลือกตั้งระดับคอมมูน หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งหลังสุด เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ก่อนหน้าที่ซีเอ็นอาร์พีจะถูกยุบพรรค สะท้อนข้อเท็จจริงดังกล่าวออกมาอย่างชัดเจน

ตัวอย่างเช่น ในพนมเปญ ซึ่งมีที่นั่งสำหรับสภาคอมมูนรวมทั้งสิ้น 899 ที่นั่ง พรรคซีเอ็นอาร์พีกวาดมาได้เกินครึ่ง คือ 468 ที่นั่ง ที่กัมปงจาม ก็เช่นเดียวกัน ซีเอ็นอาร์พี ได้ที่นั่งในสภาท้องถิ่นมาถึง 435 จาก 817 ที่นั่ง ในขณะที่ซีพีพี ได้เพียง 380 ที่นั่งเท่านั้น

ในสถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ ในยามที่เครื่องบ่งชี้ถึงความชอบธรรมทางการเมืองอื่นๆ ถูกมองว่าไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น รัฐบาลกัมพูชา มีทางออกอย่างเดียวเท่านั้นที่ช่วยให้สามารถอ้างความชอบธรรมในการปกครองประเทศต่อไปอีกวาระ 5 ปี นั่นคือ จำนวนผู้ที่มาใช้สิทธิในการเลือกตั้ง

ซึ่งเป็นคนละขั้วกับการรณรงค์ของพรรคฝ่ายค้านพลัดถิ่น ที่เรียกชื่อการรณรงค์ของตนไว้ว่า “แคมเปญ นิ้วสะอาด” พอดิบพอดี

ในการเลือกตั้งปี 2013 มีผู้มาใช้สิทธิรวมทั้งสิ้น 68.5 เปอร์เซ็นต์ นักวิเคราะห์เชื่อว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ หากต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ น่าจะทำให้ความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งครั้งนี้หมดไปทันที

“นิ้วสะอาด” เป็นการรณรงค์ผ่านสื่อใหม่ โดยอาศัยการผลักดันผ่านบรรดาแรงงานชาวกัมพูชาในต่างแดนเป็นหลัก ใช้ผู้ใช้แรงงานเหล่านี้รณรงค์ผ่านเฟซบุ๊ก หรืออื่นๆ เรียกร้องในคนในครอบครัวและเพื่อนพ้องของตนที่ยังอยู่ในประเทศบอยคอตการเลือกตั้งครั้งนี้

สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่นักวิชาการเคยตั้งข้อสังเกตไว้จากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วว่า คนรุ่นใหม่ ซึ่งรับสารจากสื่อใหม่เป็นหลัก คือผู้สนับสนุนสำคัญของพรรคฝ่ายค้าน

นั่นหมายความว่า หากผู้สนับสนุนซีเอ็นอาร์พี ยังไม่เปลี่ยนใจ จะมีคนอย่างน้อย 2 ล้านคนไม่ไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งหนนี้

แต่ในสถานการณ์ที่เป็นจริง ไม่ทำให้สามารถสรุปเอาได้ง่ายๆ เช่นนั้นได้

 

 

กล่าวหากันว่า รัฐบาล ฮุน เซน ใช้ทุกสรรพสิ่งที่ “อยู่ในมือ” เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า กลไกของรัฐ ทุกอย่าง “อยู่ในมือ” ของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ทั้งสิ้น จนดูเหมือนว่า ฮุน เซน มีวิธีการแก้ลำ แก้ปัญหา ขจัดการต่อต้านทุกอย่างได้จนหมดจด หมดสิ้น

แบบที่หลายคนค่อนแคะว่า ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล หลายอย่างที่จัดการด้วยวิถีทางกฎหมายไม่ได้ ก็บังเกิด “พฤติกรรมนอกกฎหมาย” แก้ปัญหาให้ ฮุน เซน อยู่เสมอมา

นักสังเกตการณ์นานาชาติถึงได้เชื่อว่า การตายของ เก็ม เลย ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เครือข่ายธุรกิจของครอบครัวตระกูลฮุน ทั่วประเทศกัมพูชาได้ 2 วันก็ถูกยิงเสียชีวิต ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเด็ดขาด

พรรคซีพีพี ใช้ทั้งไม้นวมและไม้แข็ง ในการจัดการกับฐานเสียงของพรรคฝ่ายค้าน ทั้งในตัวเมืองและในชนบท
ในตัวเมือง ซีพีพี พุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้แรงงานในโรงงานต่างๆ ราว 850,000 คน ที่เคยยกโรงงานเลือกพรรคฝ่าย

ค้านมาแล้วในครั้งที่แล้ว ส่งนายกรัฐมนตรีตระเวนแถลงนโยบายตามโรงงานต่างๆ แถมแจกเงินจากงบประมาณแผ่นดินกับคนเหล่านั้น ก่อนหน้ากำหนดอนุญาตให้หาเสียงได้ 21 วันระหว่าง 7-28 กรกฎาคมนานนับเดือน

การ์เดียน ระบุว่า เพราะการหาเสียงแถมแจกเงินนอกฤดูกาลดังกล่าว รัฐบาลต้องเจียดงบประมาณไปใช้ถึง 3.5 ล้านดอลลาร์

เท่านั้นยังไม่พอ คนงานหลายคนบอก การ์เดียน ว่า เจ้าของ ผู้จัดการโรงงานยังสำทับกับพวกตนว่า ถ้าหากไม่ไปเลือกตั้ง กลับมาไม่มีสีหมึกที่นิ้วตามแคมเปญ “นิ้วสะอาด” ก็จะถูก “เล่นงานทางวินัย” ได้

แรงงานโรงงานสิ่งทอรายหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนถนน เวง สเรง บูเลอวาร์ด บอกว่า ถูกข่มขู่หนักถึงขั้น “ไล่ออก” เลยทีเดียว

เพื่อแก้ปัญหา “นิ้วสะอาด” ผ่านเฟซบุ๊กและสื่อใหม่อื่นๆ เพียงอย่างเดียว คณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชา ถึงกับออกประกาศว่า การรณรงค์ให้บอยคอตการเลือกตั้ง ถือเป็น “ความผิดอาญา”

ซาร์ เคง รัฐมนตรีมหาดไทย บอกว่า ผู้ที่รณรงค์ไม่ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเดินทางไปเลือกตั้ง มีความผิดทางอาญา เทียบเคียงได้กับการแสดงพฤติกรรม “ขัดขวางการเลือกตั้ง”

และผู้มีสิทธิออกเสียงรายใดที่เข้าร่วมในการรณรงค์ดังกล่าว มีความผิดซึ่งมีระวางโทษปรับถึง 167,000 บาท หรือ 20 ล้านเรียล เลยทีเดียว!

 

 

ในพื้นที่ชนบท โดยเฉพาะในหมู่บ้านต่างๆ ในจังหวัดกัมปงจาม ซึ่งเคยเป็นฐานเสียงสำคัญของฝ่ายค้าน ในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ บรรดาคนของพรรคซีพีพี ลงพื้นที่ไล่เคาะประตูบ้านกันแบบบ้านต่อบ้าน ครัวเรือนต่อครัวเรือนกันเลยทีเดียว

คำบอกเล่าที่พวกเขาได้รับก็คือ ถ้าหากพวกเขาไม่เลือกพรรคซีพีพี “ชีวิตความเป็นอยู่ต่อไปนี้จะลำบาก”การ์เดียน ระบุว่า เมื่อเจ้าบ้านรายหนึ่งทะลุกลางปล้องขึ้นมาว่า ขอนอนเสียดีกว่าจะไปเลือกตั้งในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ คำตอบที่ได้รับก็คือ “ถ้าไม่อยากเจอคุกอย่าพูดอย่างนี้อีกเป็นอันขาด”

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางการกัมพูชาระบุว่า จะใช้เจ้าหน้าที่ในการควบคุมการเลือกตั้งครั้งนี้ 80,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีอาสาสมัครที่ถูกเรียกว่า “กองกำลังพลเรือน” อยู่ด้วยราว 20,000 คน

อาสาสมัครเหล่านี้ระดมมาจากสมาชิกของซีพีพีในท้องถิ่นทั่วประเทศ และเป็นคนที่รู้จักหน้าค่าตาของคนในแต่ละคอมมูนดี ดังนั้น คนในคอมมูนในชนบทของประเทศ จึงยากที่จะหลีกเลี่ยง ไม่ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้

โสพัล เอียร์ ศาสตราจารย์ด้านการทูตและกิจการโลกจาก มหาวิทยาลัย ออคซิเดนทัล คอลเลจ ในลอสแองเจลิส บอกตรงไปตรงมาว่า ในชนบทกัมพูชา ยากที่ใครๆ จะหลีกหนี “หูตาสัปปะรด” ของ ฮุน เซนพ้นได้

จัก โสเพียบ ตัวแทนนักเคลื่อนไหวจากศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนกัมพูชา บอกว่า ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นเรื่อง “อ่อนไหวสูงสุด” สำหรับรัฐบาลไปแล้ว

“การเลือกตั้งหนนี้ ไม่ใช่การเลือกตั้งทั่วไป แต่กลายเป็นการลงประชามติรับรองความชอบธรรมของรัฐบาลไปกลายๆ” เธอระบุ “ดังนั้นแรงกดดันให้ไปเลือกตั้งถึงได้สูงเอามากๆ”

กระนั้น สำหรับ พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการประจำวิทยาลัยชุมชนอาเซียนศึกษา ของมหาวิทยาลัยนเรศวร บอกว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิ จะสำคัญก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ โปร่งใส ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น เขากลับเชื่อว่า

คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ประกอบด้วยคนของพรรคซีพีพีเป็นส่วนใหญ่ สามารถปั้นตัวเลขอะไรๆ ออกมาก็ได้ทั้งนั้น

รวมทั้งจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ที่ว่านี้!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image