เศรษฐกิจปีลิงป่วนโลก!

A pedestrian looks at a screen showing movements for the Tokyo Stock Exchange in Tokyo on January 19, 2016. Tokyo shares closed 0.55 percent higher January 19 after China released data showing the world's number two economy grew last year in line with expectations. AFP PHOTO / KAZUHIRO NOGI

ผมก็เหมือนๆ กับอีกหลายๆ คนในเมืองไทยและในอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่สดับรับฟัง (อย่างตั้งใจบ้าง ไม่ตั้งใจบ้าง) เรื่องราวภาวะปั่นป่วน ผันผวนของตลาดหุ้น ตลาดน้ำมัน และตลาดเงินโลก ด้วยความกังวลระคนกังขาไปพร้อมๆ กัน

ที่กังขา เพราะเราไม่รู้ว่าสาเหตุ “จริงๆ” ของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ คืออะไรกันแน่

ความไม่รู้ดังกล่าวนำไปสู่ความกังวล ต่อเนื่องมาอย่างช่วยไม่ได้ เพราะเมื่อไม่รู้สาเหตุ เราก็ไม่อาจบอกได้ว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งเท่าที่เห็นนั้น นอกจากจะ “ไม่ปกติอย่างยิ่ง”

แล้วยังส่อแสดงให้เห็นถึงนัยว่า “ไม่ดีแน่” ในเวลานี้นั้น กำลังนำเรา หรือเศรษฐกิจของทั้งโลกไปสู่อะไร? สั้นยาวมากน้อยแค่ไหน หนักหน่วงรุนแรงแค่ไหน และที่สำคัญก็คือ เราควรเตรียมตัวอย่างไร?

Advertisement

ความรู้เศรษฐศาสตร์ของผมจัดอยู่ในประเภท “ครูพักลักจำ” ร่ำเรียนมาแบบผิวๆ งูๆ ปลาๆ ที่เหลือก็อาศัยการคัดกรองทรรศนะทั้งหลายที่ได้อ่าน ได้ฟังมาเล่าสู่กันฟัง โอกาสพลั้งผิด บกพร่องก็มีอยู่

แต่ว่าก็ว่าเถอะ หลังจากประมวลความคิดเห็นทั้งหลายเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกในเวลานี้มาใคร่ครวญดูแล้ว

ผมอยากให้ความเห็นของ “ผู้สันทัดกรณี” เหล่านั้น ผิดพลาดชะมัด!

Advertisement

ฝรั่งมีอมตะวาจาประโยคหนึ่งซึ่งเขามักหยิบมาใช้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ปั่นป่วนในตลาดโลกอยู่บ่อยๆ นั่นคือ “what goes up will come down” อะไรก็ตามที่ขึ้นสูงขึ้นไป ต้องตกลงมาวันยังค่ำ ฟังดูก็เป็นตรรกะดี แต่กำปั้นทุบดินไปหน่อย (ยกเว้นว่าจะใช้เป็นการอธิบายทฤษฎีแรงโน้มถ่วงโลกของ เซอร์ ไอแซค นิวตัน อันเป็นที่มาของสำนวนนี้)

อย่างไรก็ตาม สำนวนนี้ก็ช่วยเป็นจุดเริ่มต้นให้กับคำอธิบายสภาวะเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี เพราะแนวความคิดหนึ่งซึ่งถูกนำมาใช้อธิบายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่กับตลาดหุ้น ตลาดเงิน และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกในเวลานี้ก็คือ ระบบเศรษฐกิจของทั้งโลก กำลังอยู่ระหว่างการ “เริ่มต้น” กระบวนการปรับตัวจากภาวะ “ไม่สมดุล” ที่ดำเนินมาต่อเนื่องนานปี

สภาพไร้ดุลยภาพที่ว่านี้ สะท้อนออกมาในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ภาวะตลาดหุ้นวอลสตรีทที่เติบโตขยายตัวอย่างต่อเนื่องมานานร่วม 5 ปี สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง สภาพอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกดไว้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เรื่อยไปจนกระทั่งถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงของจีน ทั้งๆ ที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐอเมริกาในปี 2008 ต่อด้วยวิกฤตหนี้ในยุโรปในเวลาต่อมา

เราจะเห็นได้ว่าในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงตลาดหุ้นคึกคัก ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตั้งแต่น้ำมัน เรื่อยไปจนถึงข้าวและยาง ถีบตัวขึ้นสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แล้วก็ถูกจัดการ “ทำ” ให้มันคงสภาพอยู่อย่างนั้นด้วยแรงส่ง “เทียมๆ” ที่ไม่มีวันยั่งยืน อย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยถูกแสนถูก ที่ทำให้เงินล้นทะลักออกมาให้ “เล่น” กับราคาหุ้นราคาน้ำมัน ราคาทองคำกันสนุกสนาน หรือการจัดการค่าเงินให้อ่อนลงอย่างมากๆ นานๆ ในระดับที่ไม่น่าเชื่อเพื่อผลในการส่งออก, ภาวะขาดดุลการค้าแบบน่าตกใจในประเทศใดประเทศหนึ่งกับภาวะเกินดุลแบบเหลือเชื่อในอีกประเทศ เป็นต้น

ภาวะดังกล่าวนี้ก่อให้เกิด “ฟองสบู่” ขึ้นในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น เรื่อยไปจนถึงสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ

ถามว่า แล้วไอ้ความไม่สมดุลที่ว่านี้ มันมีราก มีที่มาจากไหน? บางคนสาวหาสาเหตุไปไกลถึงการพังทลายลงอย่างราบคาบของลัทธิสังคมนิยมควบคู่ไปกับการเบ่งบานของลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม บ้างชี้ถึงภาวะ “โลกาภิวัตน์”

ที่ลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพราะการมาถึงของยุคอินเตอร์เน็ต แล้วถูกกระตุ้นด้วยการผ่อนคลายข้อกำหนดกฎเกณฑ์ทางการเงิน นโยบายการเป็น “โรงงานผลิตของโลก”

ของจีน และประเทศที่ยึดแนวทางเศรษฐกิจการส่งออกทั้งหลาย รวมถึงทรรศนะของผู้บริโภคอเมริกันและยุโรปที่เต็มใจและพร้อมที่จะบริโภคทุกอย่างที่ขวางหน้า แม้ว่าต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อการนั้นก็ตามที

วิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2008 ที่ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และยุโรป เป็นผลพวงส่วนหนึ่งของภาวะไร้สมดุลที่ว่านี้ แล้วก็เป็นที่มาของนโยบายของรัฐบาลในทั้งสองภูมิภาคเพื่อป้องกันไม่ให้ทุกอย่าง “หลุดออกนอกการควบคุม” และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกขึ้นมาใหม่ ที่จำเป็นต้องทำ และถือว่าได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ในเวลาเดียวกันก็ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่สำคัญขึ้นตามมา

นั่นคือ กลายเป็นแรงส่งเทียมที่ทำให้การปรับตัวสู่สมดุลของทุกๆ อย่าง ยืดยาวออกไปอีก

ก่อนที่จะมาเกิดขึ้นเอาอีตอนนี้!

“what goes up will come down” ไม่ได้บอกอยู่อย่างหนึ่งว่า อะไรๆ ที่มันต่ำผิดปกติอย่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ก็จำเป็นต้องปรับขึ้นในที่สุด เพื่อให้กลับคืนสู่ระดับ “ปกติ” อย่างที่ควรจะเป็น กองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ดึงแล้วดึงอีกจนรอต่อไปไม่ไหว ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิงเมื่อตอนปลายปีที่แล้ว และก่อให้เกิดผลกระทบสารพัดอย่าง ทั้งภายในสหรัฐอเมริกาเองและภายนอกประเทศทั่วโลก

ในทางหนึ่งนั้น มันเป็นตัวลดความคึกคักในกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทธุรกิจต่างๆ ทั้งการควบรวมกิจการและอื่นๆ ในเวลาเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อเงินปันผลและภาวะหนี้ของบริษัท ซึ่งเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งในการกำหนดราคาหุ้น ในอีกทางหนึ่งมันทำให้นักลงทุนดึงเงินออกจากตลาดหุ้นไปหาตลาดตราสาร ที่แน่นอนกว่า (แต่ที่ผ่านมาให้กำไรน้อยเพราะดอกเบี้ยต่ำ)

การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลต่อ “ยอดขาย” ของอะไรก็ตามที่ซื้อกันแบบเงินผ่อน ทั้งรถ บ้าน เรื่อยไปจนถึงคฤหาสน์ คอนโด ที่ก่อนนี้ราคาพุ่งขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำ พอถึงตอนนี้ทั้ง ราคา ทั้งมูลค่าของสินค้าเงินผ่อนเหล่านี้เริ่มปักหัวลง เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น กดความต้องการให้น้อยลง แน่นอน ยอดขายย่อมลดลง การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ก็ลดลงตามมา

นอกจากนั้น โลกยังเผชิญหน้ากับการปรับตัวทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของจีน เมื่อในที่สุดแล้ว “โมเดล” เศรษฐกิจที่อาศัยแรงงานราคาถูก ผลิตสินค้าราคาถูก ส่งออกไปขายถูกๆ กว่าชาวบ้านและครองตลาดส่วนใหญ่อยู่ เกิดสภาพ “ตีบตัน” ขึ้นมา

ที่ตีบตันเพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปีในช่วงสามทศวรรษของจีน ทำให้ “ชาวบ้านบ้านนอก” ทั้งหลายที่เคยเป็นแหล่งที่มาของ “แรงงานราคาถูกในเมือง” เริ่มร่ำรวย มั่งคั่งขึ้น กลายเป็นแรงงานมีทักษะที่เรียกร้องค่าแรงสูงขึ้น หนทางเดียวที่เหลืออยู่สำหรับจีนที่จะทำให้สินค้าส่งออกของตน “ราคาถูก” อยู่ต่อไป ก็คือทำให้ค่าเงินของตัวเอง “ถูก” อย่างที่ไม่ควรจะเป็น และป้องกันไม่ให้พลเรือนที่ร่ำรวยขึ้น ขนเงินไปลงทุนนอกประเทศ

แต่นั่นทำให้เกิดฟองสบู่ขนาดใหญ่ขึ้นภายในประเทศอย่างช่วยไม่ได้ ทั้งในตลาดอสังหาริมทรัพย์และในตลาดหุ้น อย่างที่เห็นๆ กัน

เพื่อจัดการกับปัญหาฟองสบู่ที่ว่านี้ จีนจำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีเศรษฐกิจของตัวเอง เลิกพึ่งพาการส่งออก แต่พยายามหันไปพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนแทน ขยับเปิดระบบการเงินของตัวเอง ปล่อยให้เงินทุนจากการออมของคนจีนไหลออกนอกประเทศได้มากขึ้น และปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดค่าเงินของตน ซึ่งส่งผลดีแน่ แต่ต้องเป็นในระยะยาวครับ

ในระยะสั้น ความเจ็บปวดจากการปรับตัวย่อมเกิดขึ้นแบบช่วยไม่ได้เช่นเดียวกัน!

นัยของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น แต่เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า ทุกอย่างที่เคยง่ายๆ เคยถูกๆ เมื่อก่อนนี้จะไม่เป็นอย่างนั้นอีกแล้ว ตัวอย่างเช่น รัฐบาลของรัฐ และรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา จะไม่มีการอุ้มธุรกิจเอกชน ด้วยการไล่ซื้อหุ้นอีกต่อไป และจะเริ่มต้นลดบำเหน็จบำนาญ และเริ่มต้นขึ้นภาษี เพื่อปรับสภาพการขาดดุลงบประมาณในช่วงที่ผ่านมา เข้าสู่ภาวะสมดุล เพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนต่อไปในอนาคต

ทั้งหมดเหล่านั้นคือองคาพยพของระบบเศรษฐกิจโลกที่กำลังดิ้นรนปรับตัวเองเข้าสู่สมดุลครั้งใหม่ ที่ผู้สันทัดกรณีทั้งหลายบอกเอาไว้ว่าต้องใช้ระยะเวลานานเป็นปีๆ กว่าจะเข้าที่เข้าทาง และอย่างที่ว่าเอาไว้ตั้งแต่เริ่มแรกว่า กระบวนการนี้เพียงแค่ “เริ่มต้น” เท่านั้น เรายังจำเป็นต้องอยู่กับมันต่อไปอีกนานไม่น้อยเลยทีเดียว

ภาวะปรับตัวสู่สมดุลใหม่นี้ สะท้อนออกมาให้เห็นในตลาดหุ้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และตลาดเงินทั้งหลาย เพราะนั่นคือแหล่งทำมาหากินของ “นักลงทุน” จมูกไวทั้งหลายที่คาดหมายกะเก็งสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับราคาสินทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยและค่าเงิน ฯลฯ เหล่านี้ได้ก่อนที่เราๆ ท่านๆ ที่เป็นชาวบ้านทั่วๆ ไปจะกระสากลิ่้น

นั่นคือแนวความคิดแรกที่เชื่อว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้เป็นผลลัพธ์อันเกิดขึ้นมาจากกระบวนการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องใช้เวลา ในขณะที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจของโลกยังคงขยับขับเคลื่อนของมันต่อไปตามปกติ

คำถามก็คือว่า แล้วถ้าพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ปกติล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น?

คําถามทำนองนี้นี่แหละครับที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์อีกส่วนหนึ่งกำลังกังวลกันอยู่ว่า ปัญหาเรื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายที่ร่วงเอาๆ ในเวลานี้ อาจสะท้อนถึงข้อเท็จจริงในอีกทางหนึ่ง นั่นคือ ข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของโลกทั้งโลก กำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ

โดยปกติแล้วการที่ราคาพลังงานลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาสินแร่ต่างๆ มักได้รับการตอบรับด้วยดีจากผู้บริโภค เพราะนั่นหมายถึง เงินในกระเป๋าที่จะเพิ่มมากขึ้นจากราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และอื่นๆ อีกมากมายที่ลดลง ผลก็คือ ผู้บริโภคจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยเงินทองมากขึ้น ที่ในที่สุดก็จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น แต่คราวนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น

มีคนพยายามอธิบายว่า การที่ราคาน้ำมันลดลง แต่ไม่ได้ส่งผลเชิงจิตวิทยาต่อผู้บริโภค เพราะจริงๆ แล้วราคาน้ำมัน (ในการขายปลีก) ไม่ได้ลดลงตามสัดส่วนของราคาในตลาดโลก เหตุผลก็เพราะที่ผ่านมาในขณะที่ราคาน้ำมันโลกอยู่ในระดับสูง รัฐบาลของแต่ละประเทศใช้เงินในการรักษาระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่ “รับได้” ตอนนี้ก็เลยถึงเวลาที่จะต้อง “ดึงเงินกลับ” ทั้งเพื่อชดเชยกับที่เคยใช้อุดหนุน และเก็บเตรียมไว้สำหรับการอุดหนุนในอนาคตต่อไป

คำอธิบายดังกล่าว ใช้อธิบายได้บางส่วนเท่านั้นเอง นอกจากนั้นยังไม่สามารถใช้อธิบายภาวะตกต่ำของราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ทั้งแต่เหล็ก ทองแดง เรื่อยไปจนถึงยางพาราได้

ผู้สันทัดกรณีบางรายถึงได้เชื่อว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงสภาวะทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงพร้อมๆ กันทั่วโลก ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ มูลค่าการค้าทั่วโลกจะลดต่ำลง บางประเทศจะตกสู่ภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว เหมือนเช่นที่กำลังเกิดขึ้นกับเปอร์โตริโก และเวเนซุเอลา อีกบางประเทศจะถูกผลักเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

ภาวะเงินฝืดแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นและพยายามแก้กันแล้วแก้กันอีกมานานหลายทศวรรษ ยังไม่หลุดพ้นนั่นเอง

แดเนียล เยอร์กิน นักประวัติศาสตร์พลังงานและรองประธานบริษัทที่ปรึกษา ไอเอชเอส ชี้ให้เห็นว่า การที่ราคาน้ำมันลดต่ำลงแล้วไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้นได้เหมือนอย่างที่เคยเป็น แสดงให้เห็นว่า ภาวะตกต่ำของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตอนนี้ไม่เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา และสามารถอธิบายได้ 2 ทางเท่านั้น

ทางหนึ่งนั้นถ้าไม่เป็นเพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการลงทุนเพื่อการผลิตสินค้าเหล่านี้กันมากจนเกินไป ไม่เช่นนั้นก็เป็นอีกทางหนึ่ง นั่นคือเศรษฐกิจโลกกำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้

แต่เมื่อถามตัวเองว่ารู้สึกกับสถานการณ์ในเวลานี้อย่างไร เยอร์กินบอกความในใจออกมาว่า

สงสัยเรากำลังเผชิญหน้ากับทั้งสองอย่างนั้นอยู่ในเวลานี้ครับ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image