อนาคตการเมืองกัมพูชา หลังเลือกตั้งทั่วไป 2561

ผลการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาเมื่อ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา กว่าจะปรากฏอย่างเป็นทางการก็คงเป็นในราวกลางเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ แต่ผลเบื้องต้นเท่าที่ปรากฏในวันที่ 30 กรกฎาคม ก็แสดงให้เห็นถึงชัยชนะแบบถล่มทลายของพรรคประชาชนกัมพูชา(ซีพีพี) ซึ่งจะส่งผลให้หัวหน้าพรรคอย่าง สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ยังคงครองสถิตินายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลกต่อไปได้อีก 5 ปีเป็นอย่างน้อย

มีผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้ราว 6.9 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมดราว 8.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 82 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 13 เปอร์เซ็นต์

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ผลคะแนนเบื้องต้นที่ปรากฏออกมา ส่อเค้าไปในทิศทางที่ว่า ในสภาผู้แทนราษฎรกัมพูชาชุดใหม่ อาจมีฝ่ายค้านอยู่จำกัดจำเขี่ยอย่างยิ่ง หรืออาจจะไม่มีหลงเหลืออยู่เลย

กัมพูชาใช้ระบบสัดส่วนในการคำนวณที่นั่งในสภา ซึ่งเอื้อต่อพรรคการเมืองใหญ่ ที่มีกลไกและอำนาจเงินครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศอยู่แล้ว ตามผลเบื้องต้นในขณะนี้ ซีพีพีจะได้ที่นั่งในสภา 114 ที่นั่ง พรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (แอลดีพี) ได้ที่นั่ง 6 ที่นั่งและพรรคฟุนซินเปก ของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ ได้ไปอีก 5 ที่นั่งเท่านั้นเอง

Advertisement

และเป็นไปได้ว่าเมื่อนับคะแนนแล้วเสร็จ ที่นั่งของ ส.ส.ฝ่ายค้านทั้ง 11 ที่นั่งอาจไม่หลงเหลืออยู่เลยด้วยซ้ำไป หากพรรคซีพีพีได้คะแนนเสียงคิดเป็นสัดส่วนเกินกว่า 93 เปอร์เซ็นต์

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ สอดคล้องกับผลการเลือกตั้งวุฒิสภา หรือสภาสูงของกัมพูชา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งซีพีพีกวาดทุกที่นั่งในสภาสูงในยามที่คู่แข่งสำคัญอย่างพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) ถูกยุบ

สภาวะที่พรรครัฐบาลสามารถครองเสียงข้างมากได้โดยสมบูรณ์ในรัฐสภาเช่นนี้ มีแนวโน้มสูงมากที่จะเกิดเผด็จการรัฐสภาสมบูรณ์แบบขึ้น

Advertisement

การเมืองกัมพูชาในอนาคตจึงแทบไม่ต่างอะไรจากประเทศที่ปกครองด้วยระบอบการปกครองแบบพรรคเดียว ทำนองเดียวกับที่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ปกครองเวียดนาม และพรรคคอมมิวนิสต์จีนปกครองจีน

เสถียรภาพของรัฐบาลมีสูงมาก เสถียรภาพทางการเมืองสูง โอกาสที่ประเทศจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วก็มีความเป็นไปได้

แต่ในเวลาเดียวกัน สภาพการปกครองเช่นนี้ก็เอื้อให้เกิดการใช้อำนาจอย่างบิดเบือน ตั้งแต่ระดับบนสุดจนถึงระดับล่างได้มาก เช่นเดียวกับการเปิดช่องให้เกิดการคอร์รัปชั่น กินสินบาทคาดสินบน ประพฤติมิชอบได้มากมายโดยปราศจากการตรวจสอบที่เข้มข้นจริงจัง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ โลกทัศน์ ของผู้นำรัฐบาล และในเวลาเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองฝ่ายค้านอีกด้วย

ในระยะสั้น พรรคฝ่ายค้าน “พลัดถิ่น” อย่าง ซีเอ็นอาร์พี คงมุ่งเน้นไปกับการกระตุ้น เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด กับกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนานนับปีก่อนหน้าถึงวันเลือกตั้ง

กระบวนการที่ดำเนินไปอย่างบิดเบือน เพื่อให้แน่ใจได้มากที่สุดว่าพรรครัฐบาลอย่างซีพีพี จะสามารถครองอำนาจต่อไปอีกสมัย

ก่อนหน้าวันเลือกตั้ง คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ สหภาพยุโรป (อียู) เดินทางมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในกัมพูชา 7 วันแล้วเสร็จไปเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนวันหย่อนบัตร บทสรุปของคณะของอียู มาถึงจุดที่ว่า อียู จะระงับโครงการช่วยเหลือพิเศษทางเศรษฐกิจ ด้วยการรับซื้อสินค้าทุกชนิด ทุกประเภทจากกัมพูชาแบบ “ปลอดภาษี” หรือไม่เท่านั้น

นักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่า ถ้าหากระงับหรือยกเลิกโครงการนี้ไป จะก่อให้เกิดปัญหาไม่น้อยกับภาคธุรกิจสิ่งทอ ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งของกัมพูชา และอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปสู่ปัญหาการว่างงานและภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด

พรรคฝ่ายค้านขนาดเล็กภายในประเทศ ย่อมเรียกร้องเช่นเดียวกันไม่ได้ สิ่งที่ทำได้ก็คือดำเนินงานการเมืองของตนต่อไปภายใต้เงื่อนไขที่ “จำกัด” มากยิ่งขึ้น

พรรคการเมืองพ่ายแพ้การเลือกตั้งได้ แต่ท้อถอยและเลิกราไม่ได้ สิ่งที่จำเป็นต้องทำหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ คือการถอดบทเรียนทุกอย่างออกมา เรียนรู้ให้มาก เติบโตให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

วิสัยทัศน์ต่อการเมืองกัมพูชาในเวลานี้ของบรรดาผู้นำพรรคการเมืองขนาดเล็ก บางพรรคเพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่หลังคำสั่งยุบพรรคซีเอ็นอาร์พี บางพรรคมีประสบการณ์ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง อย่างเช่นพรรค สันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (แอลดีพี) ของ เข็ม เวียสนา ที่เคยเป็นแกนนำของพรรค สม รังสี แต่เดิม ก่อนที่จะแยกตัวออกมาเพื่อตั้งพรรคใหม่ เมื่อสม รังสี นำพรรคไปรวมกับพรรคของ เก็ม โสคา กลายเป็นซีเอ็นอาร์พี เป็นต้น

แกนนำพรรคเหล่านี้เชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่การเมืองกัมพูชาต้องทำก็คือการ “ก้าวข้าม” สนามเพลาะหรือกับดักที่เกิดขึ้นจาก “สงคราม” ระหว่าง ซีพีพี กับ ซีเอ็นอาร์พี หรือจะให้ตรงเป้ามากกว่าคือ การปะทะกันครั้งประวัติศาสตร์ระหว่าง ฮุน เซน กับ สม รังสี ให้ได้

พรรคการเมืองเหล่านี้ กำลังมองหาสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ทางที่สาม” เพื่อนำมาเสนอให้ชาวกัมพูชาเลือกใช้

พรรคแอลดีพี ที่กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านอันดับ 1 หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ มีแนวนโยบายหลายอย่างที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะนโยบายที่พุ่งเป้าลดอิทธิพลของตัวบุคคลในทางการเมืองลง ด้วยการจำกัดการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีให้เหลือเพียง 2 สมัย และการโอนย้ายอำนาจโยกย้ายแต่งตั้งในกองทัพและตำรวจไปให้กับรัฐสภา แทนที่จะอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

พรรครากหญ้าประชาธิปไตย (จีดีพี) ก้าวไปไกลถึงขนาดจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด พร้อมทั้งนำเสนอแผนประกันสุขภาพถ้วนหน้า และพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ

มีพรรคเล็กๆ อย่างน้อย 3 พรรค ประกาศจะปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคนทันทีหากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

เหล่านี้คือพื้นฐานสำหรับการก้าวต่อไปในอนาคต ไม่ใช่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่เพื่อครั้งต่อๆ ไป

การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น แต่มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในอดีตหมาดๆ

พรรคฟุนซินเปก เคยเป็นพรรคใหญ่อันดับ 2 ในการเมืองกัมพูชาเมื่อราวปลายทศวรรษ 1990 แต่เริ่มสูญเสียความนิยมให้กับพรรคสม รังสี อย่างรวดเร็ว ในการเลือกตั้งปี 2541 ฟุนซินเปกได้คะแนนเสียง 31 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพรรคสม รังสีได้ 14 เปอร์เซ็นต์ แต่พอถึงปี 2551 กลับถูกพรรคสิทธิมนุษยชนแซงหน้าไปอีกพรรค

การเมืองกัมพูชาเลยกลายเป็นการเมืองที่มีพรรคใหญ่ 3 พรรค เรื่อยมาจนกระทั่งพรรคสิทธิมนุษยชนและพรรคสม รังสีรวมตัวกันเป็นพรรคซีเอ็นอาร์พี เพื่อลงเลือกตั้งในปี 2013

แล้วกลายเป็นเป้ารวมให้รัฐบาลขุดรากถอนโคนไปได้ในคราวเดียว

คำถามที่ต้องถามในเวลานี้ก็คือ ซีพีพี และ ฮุน เซน จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านใหม่ ได้เรียนรู้และเติบโตหลังการเลือกตั้งหนนี้หรือไม่

โสพัล เอียร์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และการทูต ชาวอเมริกันเชื้อสายกัมพูชา จาก ออคซิเดนทัล คอลเลจ แคลิฟอร์เนีย ให้คำตอบที่ไม่น่าจะเอื้อให้ใครต่อใครมีความหวังมากนัก ศาสตราจารย์เอียร์ย้ำว่า

นับตั้งแต่นี้ต่อไป ใครที่คิดว่าการแข่งขันทางการเมืองในกัมพูชาจะเป็นการแข่งขันที่ชอบธรรมละก็ กำลังฝันอยู่แน่นอน


 

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ธรรมศาสตราภิชาน ม.ธรรมศาสตร์

ตั้งแต่กัมพูชาเริ่มเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองซึ่งเป็นที่ยอมรับได้คือ ตอนที่อยู่ภายใต้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด เข้ามากำกับ มาสร้าง มาเขียนทุกอย่างให้จนถึงเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นถือได้ว่าพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงหรือระบบการเมืองของกัมพูชา เป็นสิ่งที่องค์กรระหว่างประเทศโดยเฉพาะจากยูเอ็นลงมามองว่าเป็นผลงานส่วนหนึ่งของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ เลยให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ถ้าเป็นที่อื่นก็ไม่ได้วิจารณ์มากขนาดนี้ กรณีกัมพูชา เขาพยายามวางแนวทางของการปฏิรูประบบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก แรกๆ ทำท่าจะมีหลายพรรค แล้วอยู่ๆ เปลี่ยนมาเป็นแบบนี้ เพราะสมเด็จฯ ฮุน เซนเป็นผู้ทำให้ไปสู่อำนาจนิยมแบบเผด็จการ โดยบอกว่า ตัวเองทำแบบประชาธิปไตยด้วย ซึ่งตะวันตกคงรู้สึกว่าไม่ใช่ จึงต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ

ประเทศทางตะวันตก โดยเฉพาะที่เป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม คงกลัวว่าหากกัมพูชาประสบความสำเร็จ แล้วถ่ายทอดโมเดลนี้ต่อไป หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นแบบเดียวกับกัมพูชา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการสร้างประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม และมีความเป็นไปได้ว่า ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะอิงไปกับจีนด้วย คือโมเดลเข้มแข็ง มีพรรคเดียว เกือบจะเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ไม่เรียกว่าคอมมิวนิสต์ ถ้าเป็นแบบนี้ยุโรป อเมริกา ก็รับไม่ได้

ในแง่ของยุทธศาสตร์พัฒนาการระหว่างประเทศ เขาไม่อยากให้โมเดลของกัมพูชาเป็นที่ยอมรับในประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น ตอนนี้ไทยจ่อมาติดๆ คิดว่า น่าหวาดเสียว เพราะพม่าเพิ่งหลุดมา แต่ยังหลุดไม่หมด ยังคาราคาซัง จะไปรอดหรือไม่ก็ยังไม่แน่ เพราะฉะนั้นถ้าพม่า ไทย กัมพูชาเป็นไปในแบบเดียวกันหมดนี่เจ๊งเลย

พัฒนาการระบบประชาธิปไตยแบบเสรีหายไปเกือบค่อน เพราะสิงคโปร์ก็ไม่ใช่ มาเลเซียก็กึ่งๆ จะดีกว่าหน่อยตรงที่ไม่มีทหารมายึด แต่ใช้พรรคยึดเอา ฟิลิปปินส์ก็ง่อนแง่น ประธานาธิบดีก็อำนาจนิยม ตอนนี้มีอินโดนีเซียที่เดียวที่ใกล้เคียงกับประชาธิปไตยแบบเสรี โอกาสที่อุษาคเนย์จะกลับไปเป็นอำนาจนิยมมีสูงมาก กล่าวโดยสรุปคือ ทางตะวันตกไม่น่าจะปล่อยไปง่ายๆ ต้องสู้กันยกหนึ่ง เชื่อว่าจะมีผลสะเทือนไม่น้อย อียูคงจะมีปัญหาเรื่องการเจรจาการค้าตามมาเป็นชุดๆ

การเลือกตั้งกัมพูชาครั้งนี้ กลายเป็นตัวอย่างของความสำเร็จว่า ถ้าคุณยึดอำนาจรัฐได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการอะไรก็ตาม แล้วก็ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ที่ผ่านมาเศรษฐกิจกัมพูชามีอัตราการเติบโตเกินร้อยละ 6 ทุกปี เพราะฉะนั้น เถียงไม่ได้ว่า ถ้าทำให้ประชาชนมีรายได้ มีงานทำ มีของกิน จะไปห่วงอะไรกับแค่การเลือกตั้งรัฐบาลที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่าเสียงข้างมากหรือเปล่าอยากได้ และต้องมีการประท้วงวุ่นวาย แนวโน้มกระแสเอียงขวา ผู้นำแบบทรัมป์ แบบฝ่ายขวา กำลังจอดเต็มตัวในอุษาคเนย์แบบเห็นเป็นตัวตน

ไม่ต้องรอว่าจะมาไหม มันมาแล้ว ปัญหาคือจะแตกหน่อไปใหญ่ขึ้นแค่ไหนเท่านั้นเอง


 

ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หลังจากสงครามกลางเมืองกัมพูชาหรือสงครามเขมร 3 ฝ่าย จบสิ้นลงแล้ว มีลักษณะของการเมืองที่แปลกแยก มีการช่วงชิงอำนาจเดี่ยวกันอยู่หลายลักษณะ แต่ในช่วงระยะหลังต้องยอมรับว่า สมเด็จฯ ฮุน เซน สามารถรวบอำนาจทางการเมืองไว้ได้ในทุกระบบ ในกรณีของพรรคการเมืองกัมพูชา หากมองการเลือกตั้งในแง่ของพรรคการเมืองจะพบว่า สมเด็จฯฮุน เซน ประสบความสำเร็จในการยุบพรรคฝ่ายค้านไปได้ทั้งหมด ถ้ามองในแง่ของการแข่งขันการเลือกตั้ง ข้อครหาต่างๆ โดยเฉพาะหลักการการเลือกตั้ง ฟรีแอนด์แฟร์ อาจจะถูกตั้งคำถามได้ว่า ไม่สามารถเป็นไปตามหลักการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยได้ สามารถถูกตีความไปได้ว่าพรรคฝ่ายค้านถูกสกัดอาวุธทางการเมือง

การที่พรรคฝ่ายค้านเกือบจะได้รับชัยชนะในครั้งก่อน แต่ถูกยุบพรรคไป ทำให้ตอนนี้พรรคการเมืองของสมเด็จฯ ฮุน เซน กลายเป็นพรรคเดียวครอบงำไปแล้วในระบบของการเมือง ถ้ามองในแง่ของพรรคเดียวครอบงำ ก็มีอีกสองสิ่งที่สมเด็จฯ ฮุน เซน จะทำต่อจากนี้ คือ การเข้าควบคุมกระชับอำนาจทางการเมืองของตนเอง และอีกหนึ่งสิ่งที่น่าจับตามอง เพราะน่าจะเป็นฐานสำคัญทางการเมืองต่อไปในอนาคตอีก 5-10 ปี คือการเข้าควบคุมฝ่ายกองทัพ โดยมีนายฮุน มาเนต บุตรชายของสมเด็จฯฮุน เซน ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในด้านกองทัพ จะกลายมาเป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งของการเมืองกัมพูชาหลังจากสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้รับชัยชนะในครั้งนี้ เพราะต่อจากนี้จะเกิดการสืบทอดอำนาจเกิดขึ้น แต่อาจจะต้องมองด้วยว่าจะสามารถควบคุมแรงกระเพื่อมภายในกองทัพได้หรือไม่

ประเด็นที่น่าจับตาต่อคือ พลังทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเบื่อหน่ายระบบการเมืองแบบเก่า เริ่มมีการก่อตัวทั้งภายในและภายนอกประเทศขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่ที่สมเด็จฯ ฮุน เซน ต้องจัดการ และอาจจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก สิ่งนี้เป็นสาเหตุทำให้มีการขับไล่กลุ่มพรรคพวกเอ็นจีโอออกนอกประเทศ โดยกล่าวหาว่าได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ

การเมืองในอนาคตของกัมพูชาจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองว่า การสืบทอดอำนาจจะสำเร็จได้หรือไม่ แล้วความท้าทายของพลังคนรุ่นใหม่ต่ออำนาจของสมเด็จฯ ฮุน เซน ที่อยู่มาแล้วกว่า 20 ปี จะเป็นไปในลักษณะอย่างไรต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image