คำต่อคำ นักวิชาการอินโดฯแสดงความเห็นใน ‘จาการ์ตา โพสต์’ ค้าน ‘ประยุทธ์’ เป็นประธานอาเซียนปีหน้า

เว็บไซต์เดอะจาการ์ตา โพสต์ เผยแพร่บทความ ที่มีชื่อว่า “อย่าปล่อยให้ผู้นำรัฐบาลทหารไทยเป็นประธานอาเซียนปีหน้า”

บทความแสดงความคิดเห็นโดยคอร์เนเลียส ปูร์บา นักวิชาการคอลัมนิสต์ของเดอะจาการ์ตาโพสต์ แสดงความคิดเห็นผ่านบทความโดยระบุว่า “ในปีหน้า เป็นคิวของประเทศไทยที่จะรับตำแหน่งประธานอาเซียนที่มีสมาชิก 10 ชาติ แทนที่สิงคโปร์ โดยนายกรัฐมนตรีลี เซียน หลุง ของสิงคโปร์มีกำหนดส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยในเดือนพฤศจิกายนนี้ นับเป็นการยกระดับทางการเมืองครั้งสำคัญของนายทหารยศ พล.อ.ผู้นี้

อินโดนีเซียจะปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นหรือ?

ในเวลานี้ ความเปลี่ยนแปลงนั้นมีความหมายมากกว่าการส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียน รัฐบาลทหารของไทยไม่คู่ควรกับตำแหน่งดังกล่าว ท่ามกลางกระแสความเป็นประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งในภูมิภาคนี้ เราเพิ่งได้เห็นมาเลเซียจัดการกับผู้นำที่ทุจริต เช่นเดียวกับพม่าที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยครั้งใหญ่ แม้ว่านางออง ซาน ซูจี ผู้นำที่แท้จริงจะยังไม่สามารถปกครองประเทศได้อย่างเต็มที่ ส่วนฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียก็เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แม้จะมีปัญหาหลายประการในประเทศก็ตาม

Advertisement

ตามกฎบัตรอาเซียนที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2007 เป็นหลักการพื้นฐานกำหนดเอาไว้ว่าอาเซียนยึดมั่นในนโยบายไม่แทรกแซงและมีฉันทามติร่วมกัน

พม่าเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 1997 พร้อมกับลาว ตามมาด้วยกัมพูชา ในปี 1999 เวียดนามเป็นสมาชิกในปี 1995 พม่าได้รับตำแหน่งประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2014 เพื่อเป็นรางวัลให้กับรัฐบาลพม่าแลกกับการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประชาธิปไตยหลังการปกครองในระบอบเผด็จการเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งเกิดขึ้น 3 ปีหลังจาก พล.อ.อาวุโส เต็ง เส่ง ขึ้นปกครองประเทศเป็นเวลา 3 ปี

ในปี 2015 นางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งทั่วไปในพม่า โดยนายมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียในเวลานั้น ระบุว่า การปฏิรูปของพม่าทำให้มีความเป็นไปได้ที่พม่าจะได้รับตำแหน่งประธานอาเซียน
จะเป็นความขายหน้าโดยไม่จำเป็นของอาเซียนต่อหน้าประชาคมโลกเมื่ออาเซียนให้ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า

Advertisement

พล.อ.ประยุทธ์โค่นล้ม น.ส.ยิงลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งตามหลักการประชาธิปไตยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2014 ด้วยการรณรงค์ที่พุ่งเป้าไปที่ประเด็นหยุดยั้งการทุจริตที่ถูกกล่าวหา และการใช้อำนาจในทางมิชอบของน้องสาวอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นความจริงที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ผู้เกษียณราชการแล้วนั้นมุ่งมั่นที่จะปราบปรามทุจริตอย่างจริงจัง แต่มีจุดประสงค์หลักที่การโค่นล้มผู้นำฝ่ายตรงข้ามลง

สำหรับชาวอินโดนีเซียที่เคยใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองของซูฮาร์โต กลยุทธ์ปิดกั้นสื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ การควบคุมหน่วยงานด้านกฎหมาย และการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและชุมนุมนั้นเป็นเรื่องที่คุ้นเคย แต่เพราะเหตุใดชาวไทย ซึ่งรวมไปถึงสื่อไทยดูเหมือนจะยอมรับรัฐบาลทหาร?

หลังจากที่ไม่สามารถจะทำตามคำมั่นในการจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม พล.อ.ประยุทธ์ให้คำมั่นอีกครั้งว่า จะทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ประเทศมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น และเป็นไปได้สูงว่าเขาจะไม่เคารพต่อคำพูดของตัวเอง เพื่อนบ้านของไทยควรช่วยกันกอบกู้ชื่อเสียงกลับคืนมา ไม่เพียงในฐานะแบบอย่างของการพัฒนาเศรษฐกิจและธรรมาภิบาลที่ดี แต่ควรเป็นประเทศที่ทำให้แน่ใจว่าประชาชนคือผู้ที่มีอำนาจปกครองประเทศที่แท้จริง

ประเทศไทยเป็นสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งอาเซียนขึ้นพร้อมกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ บทความของประเทศไทยในอาเซียน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 มักจะมีความสำคัญ ประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้ว 25 ครั้ง มีการรัฐประหารมาแล้ว 19 ครั้ง และมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับนับตั้งแต่ปี 1932

หลายคนเชื่อว่ารัฐบาลนี้เป็นหนึ่งในรัฐบาลทหารที่กดขี่มากที่สุด และยาวนานถึง 4 ปี ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่เป็นที่เคารพอย่างมากและมีบทบาทสำคัญในอาเซียน อีกทั้งยังเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ไม่เคยต้องเจอกับความขมขื่นจากการเป็นเมืองขึ้นของประเทศล่าอาณานิคม การห้ามผู้นำทหารขึ้นเป็นประธานอาเซียนไม่ได้เป็นการลงโทษประชาชน แต่เป็นการลงโทษผู้นำทหาร

ประยุทธ์ ใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งของผู้สนับสนุนทักษิณ (เสื้อแดง) และผู้สนับสนุนกลุ่มอำมาตย์และทหาร (เสื้อเหลือง) อย่างฉลาด ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 2001-2006 ก่อนถูกทหารโค่นล้ม แต่เขายังคงมีอำนาจมากภายใต้พรรคการเมืองหลากหลายชื่อ แต่ก็สามารถชนะการเลือกตั้งได้ถึง 6 ครั้ง

ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯตั้งแต่ปี 2011-2014 ก่อนถูก พล.อ.ประยุทธ์โค่นล้มและนำตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ขึ้นศาล แต่ภายหลังก็ยอมปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์หนีออกจากประเทศไทยก่อนหน้าที่ศาลจะมีคำตัดสินออกมา

กว่า 17 ปีที่ทักษิณถูกกองทัพและผู้สนับสนุนมองว่าเป็นศัตรูของชาติ แต่ข้อเท็จจริงที่ทักษิณชนะการเลือกตั้งหลายครั้ง แสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้ทักษิณเป็นผู้นำของพวกเขา ประเทศไทยควรหวนคืนสู่ประชาธิปไตย ไม่ใช่การถูกทหารยึดครอง

ในสัปดาห์นี้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เปิดการประชุมประจำปีที่สิงคโปร์ แต่ละชาติจะได้หารือกับประเทศมหาอำนาจหลักของโลก ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียจะหยิบยกประเด็นปัญหาเรื่องรัฐบาลทหารกับประเทศสมาชิกอาเซียน

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด จะต้องใช้กลยุทธ์การทูตแบบเงียบกับผู้นำชาติอื่นๆ เกี่ยวกับบทบาทของประเทศไทย วิโดโดต้องดำเนินการตามวิถีอาเซียนที่เป็นความเห็นชอบร่วมกัน

ประเทศไทยมีสิทธิที่จะเป็นประธานอาเซียน แต่ไม่ใช่ภายใต้รัฐบาลทหารที่ยังคงยึดมั่นในอำนาจที่ปล้นมาจากประชาชนเมื่อ 4 ปีก่อน ก่อนหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า ควรจะทำตามคำมั่นที่เคยให้ไว้ว่าจะจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นประชาธิปไตยขึ้น ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นก็ไม่ควรที่จะนั่งเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า”

อ่าน คาด ‘บิ๊กตู่’ งดจ้อสื่อ หลังสื่อหลักอินโดฯเสนอบทความผู้นำรัฐบาลทหารไม่ควรนั่งเก้าอี้ ปธ.อาเซียน

อ่าน “บิ๊กตู่”โบกมืองดสัมภาษณ์ หลัง Jakarta Post”ตีบทความค้านนั่ง ปธ.อาเซียนปีหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image