คอลัมน์ โกลบอล โฟกัส: อาชญากรกับมาเฟีย ใน‘ปานามา เปเปอร์ส’

AFP PHOTO / RODRIGO ARANGUA / AFP PHOTO / RODRIGO ARANGUA

นอกเหนือจากบรรดานักการเมืองและเครือญาติอันเป็นกลุ่มบุคคลสำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าใช้การจัดตั้งบริษัทนอกอาณาเขตหรือบริษัทออฟชอร์ ไปเพื่อประโยชน์ในการซุกซ่อน ปกปิด รายได้ และทรัพย์สินที่มีแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ไอซีไอเจ) บอกด้วยว่า ข้อมูลและเอกสารที่รั่วไหลออกมาเป็นจำนวนมากจาก มอสแสค ฟอนเซกา บริษัทผู้ให้บริการด้านกฎหมายแห่งปานามา ยังแสดงให้เห็นถึงสิ่งซึ่งไอซีไอเจกล่าวหาว่าเป็นการสมคบคิดกัน เพื่อให้บริการ ซุกงำ ปกปิด ฟอกเงิน ทั้งๆ ที่ล่วงรู้อย่างชัดเจนว่าเงินก้อนดังกล่าวมีที่มาจากการกระทำผิดกฎหมาย

คนในกลุ่มนี้ก็คือนักค้ายาเสพติด, นักต้มตุ๋น, เครือข่ายของกลุ่มก่อการร้าย เรื่อยไปจนถึงตัวแทนของรัฐบาลที่ดำรงอยู่อย่างไร้ความชอบธรรมในทรรศนะของประชาชนในชาติตนเอง หรือถูกตราหน้าว่าเป็น “รัฐอันธพาล”

ข้อมูลที่เรียกว่า ปานามา เปเปอร์ส บอกให้รู้ว่า มีบุคคลและนิติบุคคลอย่างน้อย 33 รายปรากฏอยู่ คนและบริษัทต่างๆ เหล่านี้ “อยู่ในบัญชีดำ” ของทางการสหรัฐอเมริกาเพราะมีหลักฐานพยานที่เชื่อได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิด เอกสารเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า มอสแสค ฟอนเซกา “ทำธุรกิจ” อยู่กับนักค้ายาเสพติดระดับ “เจ้าพ่อ” ของเม็กซิโกหลายราย, มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่กับกลุ่มที่เชื่อมโยงไปถึงองค์กรก่อการร้ายอย่างฮิซบอลเลาะห์ หรือประเทศอย่างซีเรียและเกาหลีเหนือ

Advertisement

หนึ่งในบริษัทในบัญชีดำเหล่านี้กลายเป็นบริษัทที่ถูกห้ามทำธุรกรรมหรือดำเนินธุรกิจด้วย เนื่องจากถูกทางการสหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าเป็นผู้จัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินให้กับรัฐบาลซีเรียใช้ สำหรับบินไปหย่อนระเบิดสังหารประชาชนของตนเองเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน

ความแตกต่างระหว่างการทำธุรกิจร่วมกับคนเหล่านี้ กับบรรดานักการเมืองและเครือญาติของมอสแสค ฟอนเซกา ก็คือ การทำธุรกิจกับบุคคลต้องห้ามหรือบริษัทต้องห้ามเหล่านี้ผิดกฎหมายโดยชัดแจ้งตั้งแต่แรกเริ่ม และยิ่งผิดมากขึ้นเมื่อดำเนินความพยายามเพื่อปกปิด ซ่อนเร้น และบิดเบือนบันทึกทางการเงินต่างๆ ไม่ให้ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบ

ตัวอย่างเช่น กรณีของมหาเศรษฐีระดับพันล้าน 29 รายที่มีชื่ออยู่ในปานามา เปเปอร์ส หรือแม้แต่กรณีของ แจ็กกี้ ชาน หรือ เฉิน หลง ที่มีชื่อเป็นเจ้าของบริษัทออฟชอร์อยู่ถึง 6 บริษัท ที่ มอสแสค ฟอนเซกา เป็นผู้ให้บริการจัดตั้งและจัดหา “นอมินี” ให้ ไอซีไอเจระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เฉิน หลง ใช้บริษัทออฟชอร์เหล่านี้ “เพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่เหมาะสม” จนกว่าจะมีการพิสูจน์กันต่อไป

Advertisement

แต่ลูกค้าประเภทเจ้ามือแชร์ลูกโซ่ระดับร้อยล้าน, เจ้าพ่อยาเสพติด, เรื่อยไปจนถึงแก๊งปล้นระดับบันลือโลก แตกต่างออกไป เพราะเป็นการผิดกฎหมายชัดเจน

ไอซีไอเจจึงสามารถกล่าวหามอสแสค ฟอนเซกา ได้เต็มปากว่าเป็นตัวการสำคัญที่อย่างน้อยที่สุดก็ยุยงให้เกิดอาชญากรรมและการก่อการร้ายขึ้นได้อีกในอนาคต ด้วยการให้บริการของบริษัท

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 1983 ทีมปล้น 6 คน เล็ดลอดเข้าสู่คลังเก็บสินค้า “บริงค์ส-แมท” ในอาณาบริเวณของท่าอากาศยานนานาชาติ ฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จับเจ้าหน้าที่รักษาการณ์จำนวนหนึ่งมัดไว้ ราดด้วยน้ำมันเบนซินจนโชก จุดไม้ขีดไฟถือไว้ในมือ ข่มขู่จะเผาเจ้าหน้าที่เหล่านั้นทั้งเป็นเรียงคน ถ้าหากไม่ยอมเปิดห้องนิรภัยในคลังสินค้าดังกล่าว

ภายในห้องนิรภัย แก๊งปล้นแก๊งนี้พบทองคำแท่ง 7,000 แท่ง อัญมณีอีกจำนวนหนึ่ง พร้อมเงินสด “ขอบคุณมากที่ให้ความช่วยเหลือ ขอให้คริสต์มาสนี้มีความสุขนะ” หนึ่งในทีมปล้นพูดขึ้นก่อนหลบหนีลอยนวลไปพร้อมกับทรัพย์สินทั้งหมด

สื่อมวลชนในอังกฤษขนานนามให้กับการปล้นคลังสินค้าบริงค์ส-แมท ครั้งนั้นว่า “อาชญากรรมแห่งศตวรรษ”

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ได้จากการปล้นครั้งนั้นล่องหนหายไปอย่างลึกลับ ไม่มีใครล่วงรู้ว่าไปลงเอยในที่ใด จนกระทั่งเกิดกรณี “ปานามา เปเปอร์ส” ขึ้นมา

ทองคำแท่งนั้น เข้าใจได้ว่ามีการหลอมแล้วทยอยนำออกขาย คำถามก็คือ แล้วเงินที่ได้จากการขายซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย แก๊งปล้นบันลือโลกนี้จัดการกับมันอย่างไร?

ปานามา เปเปอร์ส ให้คำตอบเอาไว้ว่า เจอร์เกน มอสแสค ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทมอสแสค ฟอนเซกา “อาจจะ” ช่วยเหลือผู้สมคบคิดกันปล้นครั้งมโหฬารครั้งนี้ ปกปิดทรัพย์สินเงินทองที่ได้จากการปล้นไม่ให้ถูกเจ้าหน้าที่ทางการตรวจพบ โดยการซ่อนเร้นความเกี่ยวพันของ มอสแสค ฟอนเซกา กับ กอร์ดอน แพร์รี นักธุรกิจชาวอังกฤษ ประเภท “คดในข้องอในกระดูก” ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทำหน้าที่ “ฟอกเงิน” ให้กับแก๊งนี้

หลังจากเหตุการณ์ยกเค้าห้องนิรภัยครั้งใหญ่ 16 เดือน หลักฐานที่รั่วไหลออกมาใน ปานามา เปเปอร์สแสดงให้เห็นว่า มอสแสค ฟอนเซกา จัดตั้งบริษัทออฟชอร์ขึ้นมาบริษัทหนึ่ง จดทะเบียนในปานามาใช้ชื่อว่า เฟเบอไรออน อิงค์ มี ไดเรคเตอร์ ผู้มีอำนาจเต็มในบริษัท ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ “นอมินี” ของเจ้าของที่แท้จริงอยู่ 3 คน หนึ่งในจำนวนนั้นคือ เจอร์เกน มอสแสค!

บันทึกภายในชิ้นหนึ่ง ซึ่งเขียนโดย เจอร์เกน มอสแสค เมื่อปี 1986 แสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยเจ้าตัวเองก็ล่วงรู้ถึงที่มาที่ไปของ เฟเบอไรออน อิงค์ ดี

บันทึกภายในที่ลงชื่อโดยเจอร์เกนเขียนบอกถึงบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ไว้ว่า “ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการเงินจากการปล้นลือชื่อจาก บริงค์ส-แมท ในลอนดอน ตัวบริษัทเองไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างผิดกฎหมาย แต่อาจเป็นไปได้ว่า เงินที่บริษัทนี้ลงทุนผ่านบัญชีธนาคารและอสังหาริมทรัพย์จำนวนหนึ่งนั้นมีแหล่งที่มาซึ่งผิดกฎหมาย”

ข้อมูลจากปี 1987 ที่ มอสแสค ฟอนเซกา เก็บบันทึกไว้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า มอสแสค ฟอนเซกา รู้ว่า กอร์ดอน แพร์รี เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังบริษัทเฟเบอไรออน แต่แทนที่มอสแสคฯจะช่วยทางการอังกฤษให้เข้าถึงทรัพย์สินของเฟเบอไรออน กลับดำเนินการในทางตรงกันข้าม นั่นคือ ดำเนินการเป็นขั้นตอนเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอังกฤษสามารถเข้าไปควบคุมการบริหารจัดการบริษัทเฟเบอไรออนได้

ในเวลานั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับหนังสือมอบอำนาจ 2 ฉบับที่ทำให้สามารถดำเนินการใดๆ กับเฟเบอไรออนในฐานะ “เจ้าของ” ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ได้ แต่ มอสแสค ฟอนเซกา จัดการให้มีการออกหุ้นใหม่อีก 98 หุ้น ที่ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกต่อไป

3 ปีหลังจากที่ แพร์รี ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำในฐานะผู้สมคบคิดกันปล้นบันลือโลกครั้งนั้น มอสแสค ฟอนเซกา ถึงได้ยุติการทำธุรกิจใดๆ กับเฟเบอไรออนในปี 1995!

ไอซีไอเจบอกว่าข้อมูลที่รั่วไหลออกมาแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่า “ลูกค้า” จะเป็นใคร มีชื่อเสียงดีหรือร้ายหรือไม่ก็ตาม มอสแสค ฟอนเซกา ก็พยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อเก็บรักษา “ความลับ” ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนในกรณีนี้ก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสำนักงานสาขาของตนในรัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา ที่มีปัญหากับเจ้าหน้าที่สหรัฐซึ่งกล่าวหาสาขาดังกล่าวว่ามีส่วนช่วยเหลือในการฟอกเงิน

อีเมล์และเอกสารอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า มอสแสค ฟอนเซกา พยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อป้องกันลูกค้าและตัวบริษัทเองไม่ให้ถูกเชื่อมโยงถึง โดยส่งอีเมล์ไปให้สาขาลาสเวกัสดังกล่าวจัดการทำลายเอกสารและแฟ้มเอกสารในคอมพิวเตอร์ทั้งหมด โดยทำกระทั่งส่งผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ของตนเองไปทำหน้าที่ลบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ออกจากระบบโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ของสาขาลาสเวกัส เพราะไม่ไว้วางใจคนที่สาขาจัดหาว่าเชี่ยวชาญเรื่องนี้มากพอ

อีเมล์ภายในชิ้นหนึ่งบอกเอาไว้ว่า สิ่งที่เป็นกังวลมากที่สุดก็คือกลัวว่าผู้จัดการสาขาจะ “ประสาทกิน” จนง่ายต่อการที่เจ้าหน้าที่สอบสวนจะค้นพบ “ว่าเรากำลังซ่อนอะไรบางอย่างอยู่”

หลังจากนั้น มอสแสค ฟอนเซกา อ้างกับทางการสหรัฐอเมริกาว่า บริษัทที่ลาสเวกัสแห่งนั้นไม่ใช่ “สาขา” ของตน และจริงๆ แล้ว “ไม่เกี่ยวข้องกัน” โดยสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่เอกสารที่รั่วไหลออกมาแสดงให้เห็นว่า 2 ผู้ก่อตั้งมอสแสค ฟอนเซกา กับเจ้าหน้าที่บริษัทอีกรายถือหุ้นอยู่ในบริษัทสาขาดังกล่าวนี้ 100 เปอร์เซ็นต์

จากข้อมูลเหล่านี้ ไอซีไอเจสามารถบอกได้ว่า วิธีสำคัญอย่างหนึ่งที่ มอสแสค ฟอนเซกา ใช้ในการให้ความช่วยเหลือต่อผู้กระทำผิดกฎหมายเหล่านี้ ปกปิดแหล่งที่มาของเงินและฟอกเงินให้กลายเป็นรายได้บริสุทธิ์ ก็คือการ “ออกเอกสารกำกับย้อนหลัง” ที่เอื้อประโยชน์ในทางการเงินให้กับ “ลูกค้า” ได้หลากหลายอย่าง

ไอซีไอเจพบว่า ในปี 2007 มอสแสค ฟอนเซกานำวิธีการนี้มาใช้บ่อยครั้งจนกลายเป็นเรื่องสามัญปกติ อีเมล์ที่โต้ตอบระหว่างบริษัทกับลูกค้าชุดหนึ่งแสดงให้เห็นว่า มอสแสคฯคิดค่าบริการการจัดทำเอกสารย้อนหลังเป็นรายเดือน ย้อนหลัง 1 เดือน คิดเงิน 8.75 ดอลลาร์

เอกสารย้อนหลังบางชิ้น จัดทำย้อนหลังกลับไปนานเป็น 10 ปี!

ไอซีไอเจยังพบด้วยว่า มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นชัดว่า มอสแสค ฟอนเซกา เข้าไปช่วยจัดตั้งบริษัทออฟชอร์ที่ถูกนำไปใช้เพื่อการจัดทำ “แชร์ลูกโซ่” ในอย่างน้อย 2 ประเทศ หนึ่งคือกิจการของบริษัท ไฟเดนเทีย บริษัทบริหารจัดการทรัพย์สิน ที่อาศัยเล่ห์เหลี่ยมในทำนองเดียวกันกับแชร์ลูกโซ่ ตุ๋นคนงานเหมืองในแอฟริกาใต้ คิดเป็นเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ อีกหนึ่งคือ กิจการต้มตุ๋นทำนองเดียวกันในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีคนตกเป็นเหยื่อถึง 3,500 คน วงเงินทั้งหมดรวมแล้วอย่างน้อย 150 ล้านดอลลาร์

ในกรณีของไฟเดนเทีย ไอซีไอเจกล่าวหาว่า มอสแสค ฟอนเซกา ยังพยายามช่วยปกป้องเงินที่ได้จากการฉ้อฉลดังกล่าวเอาไว้

แม้เมื่อผู้เป็นเจ้าของ ถูกทางการแอฟริกาใต้กล่าวหาอย่างเป็นทางการว่าฉ้อโกงแล้วก็ตามที

รามอน ฟอนเซกา นักเขียนระดับมือรางวัลชาวปานามา ที่ร่วมกับ เจอร์เกน มอสแสค ก่อตั้ง มอสแสค ฟอนเซกา ขึ้นมา ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ปานามาแห่งหนึ่ง ยืนกรานว่า มอสแสค ฟอนเซกา ไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อการกระทำของบริษัทออฟชอร์ที่มอสแสค ฟอนเซกา จัดตั้งขึ้นให้กับลูกค้า เป็นการ “ขายบริการ” การจัดตั้งเท่านั้น

รามอนอุปมา มอสแสค ฟอนเซกาว่า เหมือนกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งภาระรับผิดชอบสิ้นสุดลงในทันทีที่รถยนต์แต่ละคันผลิตแล้วเสร็จ ส่งมอบให้กับลูกค้าแล้ว

การตำหนิมอสแสค ฟอนเซกา ว่ากระทำผิดเมื่อใครก็ตามนำเอาบริษัทออฟชอร์ที่ก่อตั้งขึ้นไปกระทำการผิดกฎหมาย ก็เหมือนกับการเรียกร้องความรับผิดชอบหรือตำหนิโรงงานผลิตรถยนต์ “เมื่อมีผู้นำรถยนต์สักคันไปใช้ในการปล้น”

ปัญหาก็คือ ข้อมูลบางส่วนที่ไอซีไอเจมีอยู่แสดงให้เห็นว่า มอสแสค ฟอนเซกา ไม่เพียงออกแบบรถที่ตนเองผลิตให้เหมาะกับการปล้นเท่านั้น ในหลายๆ กรณียังรู้เห็นเป็นใจ แถมปกปิดการปล้นที่ว่านั้นด้วยอีกต่างหาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image