คอลัมน์ ‘Think Tank’ : นโยบายต่างประเทศเจ้าปัญหาของทรัมป์

AFP

นโยบายต่างประเทศเจ้าปัญหาของทรัมป์

คอลัมน์ Think Tank

โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวเก็งผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกัน สู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลกจากคำประกาศด้านนโยบายต่างประเทศของเขา

การกล่าวว่า องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) “คร่ำครึ” และญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ควรมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อลดภาระของสหรัฐในการปกป้องประเทศเหล่านั้น ถือว่าทรัมป์ได้สร้างความกังขาต่อเรื่องที่เป็นรากฐานสำคัญในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ

Advertisement

คำกล่าวของมหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ผู้นี้เรียกเสียงประณามอย่างรุนแรงจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา และจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ

โอบามากล่าวอย่างฉุนเฉียวว่า เขา “ถูกผู้นำต่างชาติซักถามอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับข้อเสนอต่างๆ ที่บ้าบอ” ของทรัมป์

โอบามาบอกว่า ทรัมป์ “ไม่รู้มากนักเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ นโยบายนิวเคลียร์ คาบสมุทรเกาหลี หรือแม้กระทั่งสถานการณ์ของโลกโดยทั่วไป”

Advertisement

เมื่อตอนที่แคร์รีเดินทางเยือนอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 เมษายน เขาระบุถึงข้อเสนอของทรัมป์ที่ให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ว่าเป็นความคิดที่ “วิปลาส”

คาซึฮิโร มาเอชิมะ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัยโซเฟียในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น บอกว่า คำกล่าวของทรัมป์ “มาจากมุมมองที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง” เนื่องจากความเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่น “เป็นผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐ”

หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี “อย่างน้อยที่สุดจะก่อให้เกิดความสับสนและเสี่ยงที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนในความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่น”

แม้ว่าทรัมป์จะมีคะแนนนำอยู่ในการชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกัน แต่เป็นที่คาดหมายว่า เขาจะพ่ายแพ้ให้กับฮิลลารี คลินตัน ที่มีแนวโน้มสูงว่าจะได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

ปัญหาคือ การหาเสียงของทรัมป์อาจสร้างความเสียหายระยะยาวให้กับความสัมพันธ์กับต่างชาติของสหรัฐ หรืออย่างน้อยก็สร้างความกังวลให้กับชาติพันธมิตรและยกระดับความตึงเครียดกับชาติที่ไม่เป็นมิตร

ตัวอย่างเช่นการสร้างความตกตะลึงในวงกว้างเมื่อเขาประกาศว่า “ความสำคัญลำดับแรก” ในการเป็นประธานาธิบดีของเขาคือ การล้มข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

คำกล่าวข้างต้นเหมือนเป็นความพยายามเพื่อดึงดูดเสียงสนับสนุนจากกลุ่มนิยมอิสราเอลในสหรัฐที่คัดค้านข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าว

นิมรอด โกเรน ประธานสถาบันนโยบายต่างประเทศอิสราเอลบอกว่า ทรัมป์ไม่น่าจะได้คะแนนเสียงจากเรื่องนี้ เพราะถือว่าข้อตกลงอิหร่านเป็นเรื่องที่สิ้นสุดไปแล้ว

ขณะที่ในอิหร่าน คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ต่อให้ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีจริง ความทะเยอทะยานและความปรารถนาของเขาจะถูกกลไกต่างๆ ของวอชิงตันควบคุมไว้

นาสเซอร์ ฮาเดียน ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกรุงเตหะรานของอิหร่าน บอกว่า “หากคนอย่างทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี ผู้เชี่ยวชาญในกระทรวงต่างประเทศ เพนตากอน ซีไอเอ แม้กระทั่งยูเอ็นเอสซีจะพยายามหยุดยั้งความต้องการของเขา”

นักวิเคราะห์เชื่อว่าการที่ทรัมป์มี “ความน่าเชื่อถือ” น้อย จะทำให้โลกไม่พยายามทำตามการนำของเขา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image