คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: วิกฤตค่าเงินลีรา ปัญหาใหญ่จากตุรกี

FILE PHOTO: REUTERS/Murad Sezer/File Photo

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ค่าเงินลีราของตุรกีร่วงลงวันเดียวแรงและเร็วมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ถึงจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ ส่งผลกระทบต่อทั้งตลาดเงินและตลาดทุนในหลายประเทศต่อเนื่องกันหลายวัน ไม่เว้นแม้แต่ตลาดวอลสตรีท ที่ร่วงหนักติดต่อกัน 4 วันรวด

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อค่าเงินของหลายประเทศ ตั้งแต่ เงินเม็กซิกันเปโซของเม็กซิโก, เรอัลของบราซิล, เปโซอาร์เจนตินา, เงินแรนด์ของแอฟริกาใต้, รูปีของอินเดีย และแม้กระทั่งเงินหยวนของจีนก็ตามที พากันดิ่งลงอย่างหนัก ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์อเมริกันแข็งโป๊ก

ปัญหานี้เพิ่งสร่างซาลงไปในช่วงปลายสัปดาห์ เมื่อค่าเงินลีรา ขยับแข็งค่าขึ้นมาเล็กน้อย 5-6 เปอร์เซ็นต์
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ วิกฤตในตุรกี สิ้นสุดลงแล้วหรือ? เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร?

ปัญหาในตุรกีใหญ่โตขนาดไหน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากน้อยเพียงใด?

Advertisement

นักวิเคราะห์และผู้สันทัดกรณีทั้งหลายตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่ “หนังตัวอย่าง” เพราะปัญหาระดับวิกฤตของตุรกีเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นเอง

ผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงกับบอกว่า ระดับความหนักหนาสาหัสของวิกฤตค่าเงินลีราครั้งนี้ หนักหน่วงไม่แพ้กรณี “ต้มยำกุ้ง” ที่เริ่มต้นในเมืองไทยด้วยวิกฤตค่าเงินบาทเลยทีเดียว

เผลอๆ อาจหนักหน่วงกว่า เนื่องจากตุรกีมีผู้นำที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จอย่าง ประธานาธิบดีแอร์โดอาน ที่ทำให้หนทางแก้ปัญหาจำกัดแคบลงอย่างเหลือเชื่อ

Advertisement

ส่งผลให้ภาพรวมในอนาคตอันใกล้ของสภาวะเศรษฐกิจทั้งโลกเหมือนกับมีเมฆดำมาปกคลุม ความเสี่ยงที่จะตกหลุมตกร่องพุ่งสูงปรี้ดเลยทีเดียว

 

 

ค่าเงินลีรา ดิ่งลงหลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาประกาศผ่านทวิตเตอร์ขึ้นพิกัดอัตราภาษีนำเข้าสำหรับเหล็กและอลูมิเนียมจากตุรกีขึ้นอีกเท่าตัวก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ทำให้หลายคนเข้าใจกันว่า สหรัฐอเมริกาเป็นสาเหตุของวิกฤตการณ์ทางการเงินในตุรกีครั้งนี้

ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาของตุรกีมีมานานกว่านั้นมาก

การ “ลงโทษ” จากสหรัฐอเมริกา หลังจากประธานาธิบดีแอร์โดอาน ปฏิเสธการปล่อยตัว แอนดรูว์ บรุนสัน บาทหลวงชาวอเมริกัน ที่ถูกจับกุมในข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามก่อรัฐประหารและก่อการร้ายเมื่อ 2 ปีก่อนนั้น เป็นเพียงตัวจุดชนวนให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาเท่านั้น

ปัญหาของตุรกีสั่งสมมาเป็นเวลานานไม่น้อย ทางหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลปล่อยให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวสูงโดยปราศจากการควบคุม โดยเฉพาะการเติบโตที่อยู่บนพื้นฐานจากเงินกู้ต่างประเทศ ที่ต้นทุนต่ำ เพราะนโยบายผ่อนคลายทางการเงินในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู)

อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศถูกกดอยู่ในระดับต่ำด้วยอิทธิพลทางการเมือง ธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติไม่เป็นอิสระ ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและฟองสบู่ขึ้นตามมา

ที่สำคัญคือนโยบายต่างๆ เหล่านี้ สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินลีรา มาตลอดนับตั้งแต่กองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือแบงก์ชาติของสหรัฐอเมริกาขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ดึงเงินดอลลาร์ที่เคยมีมากมายจากทั่วโลกให้ไหลกลับประเทศ

ค่าเงินลีรา อ่อนค่าลงต่อเนื่องจนมาหนักสุดในปีนี้ เพราะทั้งปีลีราอ่อนค่าลงมากกว่า 43 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับดอลลาร์

เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อยู่ระหว่าง 15 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่แบงก์ชาติกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ตัวอย่างเช่น ขนมปัง ขยับขึ้นราคา 15 เปอร์เซ็นต์และราคาไอโฟนในตุรกีพุ่งขึ้นไปราว 1 ใน 4 จากระดับเดิมมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม

ข้อมูลของ แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ชี้ให้เห็นว่า นับจนถึงเดือนมีนาคมปีนี้ หนี้ต่างประเทศสะสมของตุรกีพุ่งขึ้นถึงระดับ 466,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แล้วมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว

ที่สำคัญที่สุด หนี้ต่างประเทศ (ที่ต้องจ่ายคืนเป็นดอลลาร์) เหล่านี้ เป็นหนี้ระยะสั้นที่กำหนดถึงเวลาต้องชำระอยู่มากถึง 180,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 22 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

ปัญหาเหล่านี้ปะทุขึ้นมาในยามที่เศรษฐกิจของประเทศแทนที่จะขยายตัวกลับชะลอลง ทำให้ภาพรวมเปราะบางอย่างรุนแรง รอเพียงเหตุปัจจัยที่จะมาจุดชนวนระเบิดเท่านั้น

การประกาศแซงก์ชันจากสหรัฐอเมริกา คือชนวนที่ว่านั้น

เงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว พอๆ กับการลงมือของนักเก็งกำไรค่าเงิน ค่าเงินลีราจึงตกอยู่ในสภาวะวิกฤตอย่างที่เห็นกัน

 

 

จนถึงวันที่ 17 สิงหาคม สถานการณ์ของตุรกี ดูเหมือนจะผ่อนคลายลง แม้ว่าสหรัฐอเมริกา ออกมาข่มขู่อีกว่ากำลังเตรียมการแซงก์ชันเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม หากข้อเรียกร้องของตนยังไม่ได้รับการตอบสนอง

ค่าเงินลีราปรับตัวสูงขึ้่นเล็กน้อย หลังจากธนาคารกลางตุรกีจัดการกับการซื้อขายเงินลีราในต่างแดนด้วยกรรมวิธี “ชอร์ตเซลล์” สภาพคล่องของระบบธนาคารดีขึ้นเมื่อมีเงินช่วยเหลือ 15,000 ล้านดอลลาร์จากกาตาร์ ในรูปของการลงทุนทางการเงินโดยตรง

เบรัต อัลเบร์รัค รัฐมนตรีคลัง กล่าวกับนักลงทุนผ่านระบบเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ พูดถึงการกระชับวินัยทางการคลังของประเทศ

ทั้งหมดนั้นช่วยพยุงค่าเงินลีราให้กระเตื้องขึ้น กระนั้นก็ยังคงอ่อนค่าลงมากถึง 35 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินทั้งหลายบอกตรงกันว่า นั่นเป็นเพียงการ “ซื้อเวลา” ยื้อวิกฤตให้ยืดเยื้อออกไปเท่านั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่อย่างใดทั้งสิ้น

โดยทั่วไป เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเกินระดับที่ยอมรับได้ แบงก์ชาติต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อลดลง

เมื่อเงินเฟ้อในตุรกีขยับขึ้นเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ แบงก์ชาติยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 17.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนนำเงินเข้าฝากในธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ย

การขึ้นดอกเบี้ย ถ้าสูงมากพอ อย่างเช่นปรับไปสู่ระดับ 25 เปอร์เซ็นต์หรือเกินกว่านั้น เป็นทางออกทางหนึ่งสำหรับค่าเงินลีราในเวลานี้ เพราะนอกจากจะช่วยให้เงินฝากในธนาคารเพิ่มขึ้น สภาพคล่องในระบบธนาคารสูงขึ้น และทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ซึ่งทำให้ค่าเงินลีรามีเสถียรภาพและกระเตื้องมากขึ้น

แต่การขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้เงินหมุนเวียนในตลาดลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของภาวะว่างงาน การลงทุนชะลอ เศรษฐกิจชะลอลง

นั่นเป็นเรื่องที่ประธานาธิบดีแอร์โดอานยินยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้

แอร์โดอานเองยืนยันเสมอมาว่า อัตราดอกเบี้ยสูงๆ คือ “โคตรแห่งความชั่วร้าย” นั่นเอง

 

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อย่าง สตีฟ แฮนเก ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ชี้ว่า หากไม่เลือกหนทางขึ้นอัตราดอกเบี้ย อีกหนทางที่ ตุรกีสามารถทำได้ ก็คือ การตรึงค่าเงินลีราตายตัวกับค่าเงินดอลลาร์ แล้วยกเลิกบทบาทของธนาคารกลาง หันมาใช้ระบบคณะกรรมการเงินตรา หรือ “เคอร์เรนซีบอร์ด” แทน โดยอาศัย “ทองคำ” เป็นทุนสำรองแบบ 100 เปอร์เซ็นต์

แต่แม้ “เคอร์เรนซีบอร์ด” ช่วยแก้ปัญหาค่าเงินได้ ช่วยพยุงค่าเงินลีราในขณะที่ตุรกีพยายามแก้ปัญหาและเรียกศรัทธา ความน่าเชื่้อถือของเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้งได้ กลับไม่สามารถแก้ปัญหาอื่นๆ ที่ตุรกีเผชิญอยู่ในเวลานี้ได้

วิน ทิน หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์เงินตราในประเทศเศรษฐกิจใหม่ของ บราวน์ บราเธอร์ส ชี้ว่า ปัญหาของตุรกี ซับซ้อนและแผ่ออกไปกว้างขวางมาก เกินกว่าที่วิธีแก้ปัญหาทำนองนี้จะแก้ไขได้

ที่สำคัญก็คือ ภายใต้ระบบเคอร์เรนซีบอร์ด เศรษฐกิจของประเทศจะทรุดตัวลงไปอีกหรือไม่ ปัญหาหนี้จะทำอย่างไร

นั่นคือเงื่อนปมที่ทำให้ทางออกนี้ไม่ใช่ทางเลือกในแง่การเมืองจากประธานาธิบดีแอร์โดอาน

ทำนองเดียวกันกับการใช้การควบคุมเงินทุน หรือ “แคปิตอล คอนโทรล” ห้ามการนำเงินออกนอกประเทศ ซึ่งจะยิ่งทำให้เงินทุนยิ่งไหลออกหนักและเร็วมาก ก่อนที่มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้

ที่สำคัญที่สุดคือ ประธานาธิบดีแอร์โดอาน ยังคงไม่ยอมรับข้อเท็จจริงและสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา
ผู้นำตุรกียังคงฝังใจกับการถูก “โจมตี” ใน “สงครามเศรษฐกิจ” อย่างไม่เป็นธรรมจากมหาอำนาจ และประกาศจะต่อสู้จนถึงที่สุด

ทำให้ทางเลือกในการแก้ปัญหาแทบไม่หลงเหลืออยู่เลยในเวลานี้

นอกจากจะถูลู่ถูกังต่อไปและในที่สุดก็ต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่เป็นทางเลือกสุดท้ายในอนาคตอันใกล้

เพอร์ ฮัมมาร์ลุนด์ หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ประเทศเศรษฐกิจใหม่ของ นอร์ดิค แบงก์ เอสอีบี เชื่อว่า สิ่งที่ตุรกีทำอยู่สามารถซื้อเวลาได้อีกอย่างน้อย 3 เดือนหรืออย่างมากที่สุดก็ 6 เดือนเท่านั้น

หลังจากนั้น ตุรกี จะเผชิญกับวิกฤตหนี้ต่างประเทศเต็มตัว

ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าจะหนักหนาสาหัสกว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นกับอาร์เจนตินาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้หลายเท่าเลยทีเดียว

 

 

ปัญหาค่าเงินลีรา ทำให้ปัญหาเศรษฐกิจของตุรกีหนักข้อมากขึ้น หนี้ต่างประเทศที่เคยมี เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะค่าเงินลดลง, ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสำคัญๆ อย่างเช่น น้ำมัน ซึ่งซื้อขายกันด้วยเงินดอลลาร์ จะสูงขึ้น ซื้อหากันได้ลำบากมากขึ้น

อัตราเงินเฟ้อจะยิ่งทวีสูงขึ้น อำนาจซื้อของประชาชนและธุรกิจในตุรกีลดลง ส่งผลให้ทั้งประชาชนและองค์กรธุรกิจ ระงับการจับจ่ายและแผนการลงทุนไปโดยอัตโนมัติ

คนที่จะลำบากสาหัส ไม่ใช่นักการเมืองหรือคนร่ำรวยระดับเศรษฐี มหาเศรษฐีทั้งหลาย แต่เป็นประชาชนทั่วไปนั่นเอง

ที่ผ่านมาปัญหาค่าเงินลีรา ส่งผลกระทบหนักต่อค่าเงินและตลาดหุ้นของประเทศเศรษฐกิจใหม่ ที่มีลักษณะปัญหาคล้ายคลึงกับตุรกี เป็นหลัก คือมีหนี้ต่างประเทศเยอะและเศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก

แต่หากความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกายังดำเนินต่อไปและเลวร้ายมากขึ้น ในขณะที่รัฐบาลตุรกียังคงปฏิเสธแนวทางแก้ปัญหาที่เพียงพอต่อการยุติวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ผลกระทบต่อโลกภายนอกจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเจ้าหนี้และประเทศคู่ค้า

ยิ่งวิกฤตตุรกียืดเยื้อออกไปมากเท่าใด โอกาสที่จะเกิดวิกฤตเป็นวงกว้างในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนายิ่งสูงมากขึ้น

ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งโลกนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image