คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: เส้นทางสาย “ยาบ้า”

AFP

สามเหลี่ยมทองคำในอดีต ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดสำคัญระดับโลกและทำให้พม่าในอดีตหรือที่รู้จักกันในชื่อเมียนมาในปัจจุบัน มีชื่อเสียงในฐานะแหล่งผลิตยาเสพติดอันดับต้นๆ ของโลกตามไปด้วย
ครั้งนั้น สามเหลี่ยมทองคำ พื้นที่บรรจบของชายแดน 3 ประเทศคือเมียนมา ไทย และลาว ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตฝิ่น-เฮโรอีนหมายเลข 1 ของโลก

ปัจจุบัน ตามข้อมูลของสหประชาชาติ สามเหลี่ยมทองคำ เสียแชมป์ผลิตฝิ่นได้มากที่สุดในโลกให้กับ อัฟกานิสถาน ไปเรียบร้อยแล้ว แต่นั่นใช่ว่ายาเสพติดจะหมดไปอย่างใด

ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลที่ สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (ยูเอ็นโอดีซี) เผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่า สามเหลี่ยมทองคำ เปลี่ยนสถานะไปเป็นแหล่งผลิต “ยาบ้า” หรือ “เมทแอมเฟตามีน” ที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแทน

สามเหลี่ยมทองคำวันนี้ยังคงเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดสำคัญของโลกอยู่ต่อไป

Advertisement

ภายในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและบริเวณต่อเนื่องใกล้เคียง ยังคงเป็นแหล่งผลิตฝิ่นมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ข้อมูลเมื่อปี 2017 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดของ ยูเอ็นโอดีซี ระบุเอาไว้ว่า พื้นที่เพาะปลูกฝิ่นในบริเวณดังกล่าวลดลงจาก 55,500 เฮกตาร์ เมื่อปี 2015 ลงมา แต่ก็ยังมีมากถึง 41,000 เฮกตาร์ หรือ 256,250 ไร่เลยทีเดียว

ในขณะที่สามเหลี่ยมทองคำผลิต ฝิ่น-เฮโรอีน อยู่ในระดับต้นๆของโลกต่อไป ก็ปรากฏแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งควบคู่กันไปด้วย

นั่นคือ ยิ่งนับวัน บรรดาผู้ผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำยิ่งหันไปผลิตยาเสพติดชนิดใหม่อย่าง เมทแอมเฟตามีน มากขึ้นเรื่อยๆ

เหตุผลก็คือ ยาบ้า หรือ เมทแอมเฟตามีน ต้นทุนการผลิตถูกกว่า ระบบการผลิตทำได้ง่าย ด้วยอุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้นและสารตั้งต้น ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายหลบหนีเงื้อมมือกฎหมายได้ง่ายกว่า แถมผลผลิตที่ได้ยังสามารถขนส่งลำเลียงได้ง่ายกว่าด้วยอีกต่างหาก

การผลิตฝิ่นหรือเฮโรอีน จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการปลูกฝิ่น ไร่ฝิ่นที่จำเป็นต้องอยู่กับที่นี่เอง คือจุดที่ทำให้แหล่งผลิตฝิ่นและเฮโรอีนถูกตรวจพบได้ง่ายดายกว่ามาก

ตรงกันข้ามกับยาบ้า อุปกรณ์ไม่กี่ชิ้นที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก ก็สามารถเปลี่ยนห้องน้ำ ห้องครัว ภายในอาคารบ้านเรือนที่ไหนก็ได้ให้กลายเป็นแหล่งผลิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว

เจเรมี ดักลาส ผู้แทนยูเอ็นโอดีซี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก บอกว่าการผลิตยาบ้าในสามเหลี่ยมทองคำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานนับ 10 ปีแล้ว

แต่ในช่วง 3 ปีหลังมานี้ ระดับความเร็วของการเพิ่มการผลิตสูงขึ้นมากจนเรียกได้ว่า พุ่งทะยาน
พุ่งทะยานจนเข้าสู่ระดับวิกฤตแล้ว!

 

 

เมทแอมเฟตามีน เป็นอนุพันธ์หนึ่งของ แอมเฟตามีน สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน เมื่อปี 1887 ถือเป็น “ยา” ชนิดหนึ่ง ในปีถัดมามีการสังเคราะห์ เมทแอมเฟตามีน ได้เป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น

ว่ากันว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมีการผลิตยาเม็ด เมทแอมเฟตามีน แจกจ่ายให้กับทหารในแนวรบมากถึง 72 ล้านเม็ด

เมทแอมเฟตามีนเป็นองค์ประกอบหลักในยาบ้า ซึ่งมีการเติม คาเฟอีน ลงไปเพื่อเสริมฤทธิ์ แล้วอัดเป็นเม็ด มักมีสีสันจัด เช่น แดง ส้ม ม่วง เหลือง เขียว เป็นต้น

ยาบ้า ที่ผลิตในสามเหลี่ยมทองคำจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบ แบบแรก เป็นชนิดราคาถูกกว่า คุณภาพต่ำกว่า เป็นชนิดที่เราเรียกกันทั่วไปว่า ยาบ้า ส่วนอีกแบบมีความเข้มข้นและความบริสุทธิ์สูงกว่า คุณภาพดีกว่าแต่ราคาแพงกว่า เรียกว่า “คริสตัลเมท” หรือที่รู้จักกันในหมู่นักเสพในชื่อ “ไอซ์” นิยมกันในหมู่คนที่มีกำลังซื้อมากกว่า มัก “ส่งออก” ไปยังประเทศที่มีเศรษฐกิจดีทั้งหลาย

เจเรมี ดักลาส ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ตัวเลขการจับกุมพร้อมของกลางยาบ้าเบื้องต้นเอาไว้ว่าอยู่ที่ 450 ล้านเม็ด ถือเป็นสถิติการจับกุมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และส่วนใหญ่แล้วมีร่องรอยบ่งชี้ให้สืบสาวต้นตอต่อมาได้ที่ สามเหลี่ยมทองคำ แทบทั้งสิ้น
ในประสบการณ์ของ ดักลาส ยอดการจับกุมที่ถือเป็นสถิติที่ว่านั้น ถ้าหากว่าคิดเป็นสัดส่วนแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดยาบ้าที่ผลิตออกมาทั้งหมด ก็ถือว่าเจ้าหน้าที่ “โชคดี” มากแล้ว

นั่นหมายความว่า ตลอดช่วงปี 2017 ดังกล่าว สามเหลี่ยมทองคำ ผลิตยาบ้าออกมาได้ทั้งหมด อย่างน้อยที่สุด 4,500 ล้านเม็ด

มากพอที่นอกจากจะทำให้เกิดการเสพติดยาเสพติดชนิดนี้แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย มาเลเซียและ อินโดนีเซีย แล้ว

ยังทำให้ยาบ้า แพร่หลายไปทั่วทุกหัวระแหงในเมียนมา ชนิดที่พูดได้เต็มปากว่าไม่มีเขตหนึ่งเขตใดในประเทศนี้ไม่มียาบ้าจำหน่าย

ดักลาส บอกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมทแอมเฟตามีน ที่มีต้นกำเนิดจากเมียนมา ระบาดไปไกลถึงท้องถนนใน ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่นแล้วเช่นกัน

ถ้าหากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ การแพร่ระบาดคงไปไกลกว่านั้นอีกมากมายนัก

 

 

แหล่งยาบ้าสำคัญในเมียนมามาจากรัฐชาน หรือรัฐฉาน ทางตะวันออกของประเทศ บริเวณตะเข็บชายแดนของรัฐฉานต่อเนื่องกับชายแดนจีน มี เขตปกครองตนเองอยู่ 3 เขต เหนือสุดคือเขตปกครอง โกก้าง ใต้สุดที่มีเขตแดนส่วนหนึ่งติดต่ออยู่กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือ เขตปกครองเมืองลา

ตรงกลางระหว่างเขตปกครองเมืองลา กับเขตปกครองโกก้าง คือ เขตปกครองว้า อยู่ภายใต้การควบคุมของ กองทัพสหรัฐว้า (ยูไนเต็ด ว้า สเตท อาร์มี-ยูดับเบิลยูเอสเอ) ที่มี เป้า หยั่วเสียง เป็นผู้บัญชาการ

เขตปกครองว้า หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “ว้าแดง” เป็นแหล่งผลิตยาเสพติดมานาน เชื่อกันว่า ราชายาเสพติดระดับโลกแห่งอุษาคเนย์อย่าง เว่ย เซียะกัง ก็ปักหลักใช้ชีวิตผลิตยาเสพติดอยู่ภายใต้อารักขาของว้าแดง
เช่นเดียวกับ สุรชัย เงินทองฟู หรือ “บังรอน” พ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ชาวไทย เจ้าของค่าหัว 1 ล้านบาท ก็เคยหลบไปอาศัยบารมีของกองทัพว้าอยู่ที่นี่ด้วยเช่นเดียวกัน

ทำไมที่นี่ถึงเป็นแหล่งผลิตสำคัญและใหญ่ที่สุดในโลก พ.ต.ท. ซอ ลินตุน นายตำรวจปราบปราบยาเสพติดเมียนมา บอกว่า เป็นเพราะความสะดวกในการเข้าถึง “สารตั้งต้น” สารเคมีที่จำเป็นสำหรับการผลิตยาบ้า
“เมียนมา ไม่สามารถผลิตสารเคมีใดๆ ได้ แต่เราตั้งอยู่ระหว่างจีนกับอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเคมีภัณฑ์ใหญ่ระดับโลก” ซอ ลินตุน ระบุ

เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเมียนมา บุกเข้าตรวจยึดสารเคมีที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้าปริมาณมหาศาลในเมืองมัณฑเลย์ เมืองอุตสาหกรรมตอนกลางของประเทศ

โทรเอลส์ เวสเตอร์ ผู้อำนวยการยูเอ็นโอดีซีประจำประเทศเมียนมา บอกว่า จากฮับหรือศูนย์กลางที่มัณฑเลย์ สารตั้งต้นเหล่านี้ถูกกระจายออกไปยังแหล่งผลิตต่างๆ ซึ่งน่าสังเกตุว่า ล้วนแล้วแต่เป็นจุดที่ยังคงมีความขัดแย้งกันและเกิดการสู้รบระหว่างกองกำลังติดอาวุธในท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่ทางการเมียนมาอยู่ทั้งสิ้น อาทิ ชาน และ กะฉิ่น ไม่เว้นแม้แต่ในรัฐยะไข่

ชาวโรฮีนจาในค่ายอพยพบริเวณชายแดนบังกลาเทศที่หลบหนีออกไปจากยะไข่ไม่น้อยกว่า 7 แสนคน ที่ไม่สามารถหางานทำที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ หลายคนรวมทั้งเด็กๆ หันมาเลี้ยงชีวิตและครอบครัวด้วยการ “ขนยา” เจ้าหน้าที่ความมั่นคงตามแนวชายแดนของบังกลาเทศและเมียนมา ตรวจพบและยึดยาบ้าได้รวมกันเกือบ 9 ล้านเม็ด ในช่วงระยะเวลาแค่ 3 เดือนแรกของปี 2018 นี้

นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่บังกลาเทศโหมกวาดล้างยาบ้าอย่างหนัก สังหารผู้ต้องสงสัยไปไม่น้อยกว่า 120 ราย จับกุมได้อีกไม่น้อยกว่า 700 ราย

นั่นแสดงให้เห็นว่า ตลาดยาบ้า ไม่เพียงกำลังขยายตัวในบังกลาเทศ ประเทศนี้ยังกำลังกลายเป็นทางผ่านสำคัญของยาเสพติดอันตรายชนิดนี้ไปสู่หลายประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียใต้อีกด้วย

เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว นายทหารเมียนมา 2 นายในรัฐยะไข่ ถูกจับและสอบสวนหลังจากพบว่ามียาบ้าอยู่ในครอบครองมากถึง 2 ล้านเม็ด

ในรัฐยะไข่ เช่นเดียวกัน เมื่อปีที่แล้วเช่นกัน เจ้าหน้าที่เมียนมาจับกุมพระรูปหนึ่งหลังจากพบว่า มียาบ้าอยู่ในครอบครองถึง 400,000 เม็ด

เจเรมี ดักลาส ยอมรับว่า มีรายงานอย่างเป็นทางการที่ได้เห็นมาว่า มีการสมคบคิดและทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ในกองทัพกับขบวนการผลิตและค้ายาบ้าในยะไข่!

และยิ่งเพิ่มมากขึ้นในระยะหลัง หลังเกิดปัญหาโรฮีนจาขึ้นมาที่นั่น

 

 

ปี 2018 เป็นปีที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามยาเสพติดในไทยและเมียนมา ตรวจพบและยึดยาบ้าได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ออสเตรเลีย ตรวจยึด “ไอซ์” ได้เต็มหนึ่งคันรถแวน น้ำหนักรวมกันมากถึง 1.2 ตัน

เดิมทีเข้าใจกันว่าต้นกำเนิดของ คริสตัลเมท เหล่านั้นมาจากจีน แต่เมื่อดูถุงและกระสอบบรรจุ และตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว ข้อบ่งชี้ทั้งหมดแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ต้นตอมาจากสามเหลี่ยมทองคำ

ก่อนหน้านั้น ไอซ์อีก 1.2 ตัน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียตรวจสอบพบเมื่อเดือนพฤษภาคม บรรจุอยู่ในถุงใบชา ภาษาและสัญลักษณ์บนถุงบรรจุ แสดงว่ามาจากแหล่งเดียวกัน

ในขณะที่จำนวนผู้เสพติดในแต่ละประเทศ ก็ทวีจำนวนขึ้นเป็นรายวัน

เจเรมี ดักลาส เชื่อว่า ปัญหานี้จะร้ายแรงมากขึ้นหากยังไม่มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อควบคุม
แต่ปัญหานี้เกี่ยวพันเชื่อมโยงถึงอีกหลายปัญหา ตั้งแต่เรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ คอร์รัปชัน สาธารณสุข และความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่จำเป็นต้องคำนึงถึงไปพร้อมๆ กันและแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันและกันให้กว้างขวางมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เพราะบรรดาราชายาบ้าทั้งหลายที่อยู่เบื้องหลังขบวนการผลิตและจำหน่ายทั้งหมด พร้อมเสมอที่จะผลักดันผลผลิตของตนออกไปให้ไกลที่สุด และกว้างขวางที่สุด

เนื่องจากนั่นหมายถึงเงินจำนวนมหาศาลอย่างน้อยปีละ 40,000 ล้านดอลลาร์หรือ 1.3 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image