คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: “เก็ม โสคา” 1 ปีในเรือนจำ

(AP Photo/Heng Sinith)

เช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน เมื่อปีที่แล้ว “เก็ม มโนวิทยา” ได้รับโทรศัพท์จาก “เท ชนมะโน” ผู้เป็นมารดา บอกเล่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในบ้านพักในกรุงพนมเปญ คำบอกก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบจำนวนแน่ชัดกำลังบุกฝ่าเข้ามาภายใน

“แม่บอกว่าตำรวจกว่า 100 นายพยายามที่จะบุกเข้ามาในบ้านเรา”

เจ้าหน้าที่เหล่านั้นไม่ได้แสดงหมายค้นหรือหมายจับใดๆ แต่ก็ไม่ได้ให้ทางเลือกอื่นใดกับ โสคา เช่นเดียวกัน
ปืนที่จ่ออยู่กับศีรษะของยามรักษาการณ์หน้าบ้านพัก ทำให้หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านสำคัญของกัมพูชาตัดสินใจว่า คงปลอดภัยกว่าถ้าหากยินยอมเปิดประตูรับเจ้าหน้าที่

“พ่อบอกทางโทรศัพท์ว่า ต้องวางหูแล้วละ เพราะพวกเขากำลังใส่กุญแจมือ” มโนวิทยาบอกกับ จอร์จ ไรท์ ผู้สื่อข่าวอิสระที่เขียนรายงานพิเศษเรื่องนี้ให้บีบีซี ต่อว่า หลังจากนั้นเธอก็ไม่ได้เจอหน้าผู้เป็นบิดาอีกเลย

Advertisement

โสคา ถูกควบคุมตัวส่งไปยังเรือนจำห่างไกลในจังหวัด ทบวง คมัม ติดชายแดนประเทศเวียดนาม ไม่เคยถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อไต่สวนคดี แต่กลับถูกจองจำในเรือนขังเดี่ยว ดุจเดียวกับนักโทษอุกฉกรรจ์ที่ศาลพิพากษาให้ต้องโทษสถานหนัก

หลายคนเชื่อว่า ชะตากรรมของ โสคา อาจไม่หนักหนาสาหัสถึงเพียงนี้ หากพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) พรรคการเมืองใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของพรรค สิทธิมนุษยชนของโสคา เข้ากับพรรคสม รังสี ของ สม รังสี เมื่อปี 2012 ไม่ได้รับชัยชนะเหนือความคาดหมายในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2013

ซีเอ็นอาร์พี กวาดที่นั่งในสภาได้ถึง 55 ที่นั่ง ขาดอีกเพียงแค่ 7 ที่นั่งก็จะสร้างประวัติศาสตร์โค่นล้มพรรคประชาชนกัมพูชา ภายใต้การนำของสมเด็จฮุน เซน ลงเป็นครั้งแรก ทั้งๆ ที่เป็นการเลือกตั้งซึ่งมีการกล่าวหากันว่ามีการโกง และการแทรกแซงจากทางการอยู่มากมาย

Advertisement

สมาชิกสภาลงมติให้ เก็ม โสคา ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง รองประธานคนที่ 1 ซีเอ็นอาร์พี กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดของกัมพูชา และตกเป็นเป้าทำลายทางการเมืองมานับแต่บัดนั้น

สม รังสี คู่แข่งบารมีของ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน มาต่อเนื่องยาวนาน ต้องเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ในกรุงปารีส ตั้งแต่ปี 2015 เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องถูกจำขัง จากข้อหาที่ถูกศาลพิพากษาว่า ผิดจริง ทั้งๆ ที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า เป็น “คดีการเมือง”

ดังนั้นเมื่อวาระเลือกตั้งใกล้จะวนมาบรรจบอีกครั้ง เก็ม โสคา ก็ตกที่นั่งเป็นเพียง “การคุกคาม” เดียวที่หลงเหลืออยู่ของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน

คนที่ปกครองกัมพูชามายาวนาน 33 ปี แล้วยังคงสนุกอยู่กับการกดทุกคนให้อยู่เบื้องล่างอยู่ต่อไป

 

 

นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งภายนอกและภายในกัมพูชา บอกตรงกันว่า การจับกุม เก็ม โสคา ถือเป็นจุดที่บรรยากาศทางการเมืองที่ย่ำแย่อยู่ก่อนแล้ว เสื่อมทรามลงถึงขีดสุด ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นสามัญชน หรือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นปากเสียงทางด้านสิทธิต่างๆ สื่อมวลชนอิสระ เรื่อยไปจนถึงนักการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

วันเดียวกับที่ โสคา ถูกจับกุม “แคมโบเดีย เดลี” หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่ได้รับการยอมรับกันทั้งในและนอกประเทศว่าเป็นสื่อเสรี ก็ตกเป็นเหยื่อการกวาดล้าง จำต้องตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับสุดท้ายของตน
พาดหัวใหญ่หน้าหนึ่งในวันนั้น คือข้อความว่า “จมลงสู่เผด็จการโดยสมบูรณ์” หราอยู่เหนือภาพ เก็ม โสคา ในสภาพสวมกุญแจมือ

รัฐบาลนายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวหาว่า โสคา มีพฤติกรรมอันเป็นการกบฏ ด้วยการสมคบคิดกับต่างชาติ ซึ่งก็คือ สหรัฐอเมริกา วางแผนการล้มล้างรัฐบาล เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ

หลักฐานที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าว เป็นคลิปวิดีโอ ที่แพร่หลายอยู่ในโลกออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2013 เป็นเหตุการณ์การปราศรัยต่อชุมชนกัมพูชาพลัดถิ่นในออสเตรเลียในปีนั้น โสคาบอกกับผู้ฟังของตนเพียงว่า ตนได้รับการสนับสนุนทางการเมือง และ คำแนะนำในเชิงกลยุทธ์บางประการจากสหรัฐอเมริกา

ข้อกล่าวหาและหลักฐานทำนองนี้นี่เองที่ทำให้ ผู้ที่ติดตามสถานการณ์การเมืองในกัมพูชาอดไม่ได้ที่จะคิดว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้มีแรงจูงใจอื่นเคลือบแฝง เป็น “วาระซ่อนเร้น” ทางการเมือง ที่มุ่งเจตนาไปที่การทำให้แน่ใจว่า พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งที่จะมาถึง

สิ่งที่คล้ายจะเป็นเครื่องยืนยันวาระซ่อนเร้นทางการเมืองดังกล่าวก็คือ เพียงไม่ถึง 2 เดือน ข้อกล่าวหาเดียวกันนี้ก็ถูกนำมาใช้ยื่นคำร้องต่อศาล ที่ใช้เวลาไม่นานนักก็พิพากษาว่า มีเหตุอันควรให้ยุบพรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่างซีเอ็นอาร์พี และห้ามไม่ให้ โสคา และสมาชิกพรรคระดับแกนนำทั้ง 118 คนลงสมัครรับเลือกตั้งอีก เป็นเวลา 5 ปี

เมื่อไม่มีแม้แต่คู่แข่ง ซีพีพี ก็สามารถครองชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้แบบหมดจด ครองที่นั่งในสภาได้ทั้ง 125 ที่นั่ง

สมเด็จพระนโรดม สีหมุนี เสด็จฯ ประกอบพิธีเปิดการประชุมสภาไปเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นวาระเริ่มแรกของยุคใหม่ในกัมพูชา

ยุคของเผด็จการรัฐสภาและการปกครองแบบรวบอำนาจไว้ในพรรคการเมืองแบบพรรคเดียวโดยสมบูรณ์นั่นเอง

 

 

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา บุคคลภายนอกที่ เก็ม โสคา มีได้โอกาสได้พบหน้า เพราะได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมถึงเรือนจำได้ ก็คือ เท ชนมะโน กับทีมทนายความ บุคคลอื่นที่เหลือนอกจากนั้นที่ทำหนังสือขอเข้าเยี่ยม ถูกทางการกัมพูชาปฏิเสธคำขอทั้งหมด รวมทั้ง คำขอของนักสังเกตการณ์ระหว่างประเทศ, เจ้าหน้าที่ที่เป็นตัวแทนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น), นักการทูตที่เป็นตัวแทนของต่างประเทศ และ ตัวแทนขององค์กรเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย

โสคา ใช้วันเวลาในช่วงดังกล่าวส่วนใหญ่เพียงลำพัง กับ เจ้าหน้าที่พัสดีของเรือนจำ ซึ่งไม่จำเป็นจริงๆ จะไม่เอ่ยปากสนทนาวิสาสะกับ โสคา

มะโนวิทยา เปิดเผยว่า ต่อเมื่อไม่นานมานี้นี่เอง ทางการเพิ่งอนุญาตให้ ชนมะโน สามารถนำเอาหนังสือทั้งหลายไปทิ้งไว้ให้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการทำสมาธิ นั่งสมาธิตามหลักพุทธศาสนา
แต่ทางการกัมพูชา ยังคงไม่อนุญาตให้อดีตหัวหน้าพรรคซีเอ็นอาร์พีได้รับดินสอ ปากกา กระดาษ ใดๆ โดยเด็ดขาดอยู่ต่อไป

เฮง เพ็ง หนึ่งในทีมทนายประจำตัว เก็ม โสคา คืออีกคนที่เดินทางไปพบลูกความของตนอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ต่อครั้ง

เขาบอกกับ จอร์จ ไรท์ เอาไว้ว่า โสคา พยายามไม่อยู่เฉย หาอะไรทำอยู่ตลอดเวลา และได้รับอนุญาตให้สามารถปลูกผักภายในเขตเรือนจำได้ ช่วยให้มีกิจวัตร ลดความวังเวง โดดเดี่ยวลง

แต่ เฮง เพ็ง ยอมรับว่า อารมณ์ความรู้สึกของแกนนำฝ่ายค้านกัมพูชารายนี้ ก็ยังคงมีขึ้นๆ ลงๆ สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาสุขภาพส่วนตัว ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ

ในขณะนี้ โสคา ไม่เพียงมีอาการความดันสูง ยังป่วยด้วยโรคเบาหวานอยู่ด้วย นอกจากนั้นยังมีอาการเจ็บใหล่รุนแรงพร้อมกันไปด้วย

แต่ไม่ว่าอาการป่วยของนักการเมืองฝ่ายค้านรายนี้จะอยู่ในสภาพใด คำสั่งดั้งเดิมก็ยังคงถูกถือปฏบัติจากเรือนจำเรื่อยมา

นั่นคือ ห้ามไม่ให้มีการรักษาพยาบาลใดๆ อย่าว่าแต่คำขอเข้ารับการผ่าตัดเลย

มะโนวิทยา บอกจอร์จ ไรท์ ด้วยว่า ในเวลาเดียวกัน บ้านของเธอและครอบครัวในพนมเปญ ก็ถูกสอดแนมตรวจตราอยู่เป็นประจำ ก่อนหน้านี้ มะโนวิทยา ยังเคยบอกด้วยว่า เจ้าหน้าที่ยังสะกดรอยรถยนต์ที่ผู้เป็นมารดาด้วยซ้ำไป ผู้เป็นแม่จึงตกอยู่ในสภาพ “เจ็บปวดบอบช้ำทางจิตใจ” โดยสิ้นเชิง

ในแง่ของจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดแล้ว คนที่ลำบากมากที่สุดในความเห็นของ มะโนวิทยา คือ มารดาของเธอนี่เอง

 

 

สมาชิกซีเอ็นอาร์พี ที่ถูกควบคุมตัวก่อนหน้าเลือกตั้ง ได้รับอิสรภาพพร้อมๆ กันเมื่อไม่นานมานี้ย่างไรก็ตาม เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ศาลพนมเปญ กลับมีคำสั่งยืดระยะเวลาการควบคุมตัว โสคา เพื่อรอการพิจารณาคดีต่อไปอีก 6 เดือน ไม่ให้ประกันตัวเด็ดขาด

น่าสนใจที่คำสั่งศาลดังกล่าว มีขึ้น 1 วัน หลังจากที่ ฮุน เซน บอกกับที่ชุมนุมแรงงานสิ่งทอราว 10,000 คน ในพนมเปญว่า ต้องการให้ผู้นำฝ่ายค้านรายนี้ “ถูกคุมขังอยู่ต่อไป”

คล้ายๆ จะเป็นการขานรับความต้องการของผู้นำกัมพูชา ที่กล่าวอ้างอยู่ตลอดเวลาว่า กระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ “เป็นอิสระเสรี” ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองใดๆ

แอสทริด โนเรน-นิลส์สัน รองศาสตราจารย์อาวุโสผู้เชี่ยวชาญการเมืองกัมพูชา ของมหาวิทยาลัยลุนด์ แห่งสวีเดน ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า การตัดสินใจคุมขัง เก็ม โสคา ต่อไปนั้น แสดงให้เห็นถึงเจตนาของพรรครัฐบาลที่จะไม่ยอมผ่อนปรนการจัดการกับพรรคฝ่ายค้านสำคัญอย่าง ซีเอ็นอาร์พี แบบ “เบ็ดเสร็จเด็ดขาด” แน่นอน
เป็นความพยายามสร้าง “ความคุ้นชินใหม่” กับสภาวะ “กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ” ภายใต้การปกครองพรรคเดียวให้เกิดขึ้นกับสังคมกัมพูชา

เก็ม มะโนวิทยา เห็นพ้อง แต่ด้วยอีกเหตุผลหนึ่ง เธอไม่เชื่อว่า ผู้เป็นบิดาจะได้รับอิสระ ได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดีด้วยพื้นฐานด้านมนุษยธรรม

ฮุน เซน ไม่ได้เป็นคนดีถึงขนาดนั้น!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image