คอลัมน์ Think Tank: บทความนิรนามสั่นสะเทือนทำเนียบขาว

AFP PHOTO / ANGELA WEISS

การตัดสินใจของนิวยอร์กไทม์สในการตีพิมพ์บทความแสดงความคิดเห็นจากคนวงในของทำเนียบขาว ไม่เพียงก่อให้เกิดความร้อนแรงทางการเมือง และสร้างความโกรธเกรี้ยวให้กับประธานาธิดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังจุดชนวนให้เกิดการอภิปรายถกเถียงเรื่องจริยธรรมสื่อด้วย

นับตั้งแต่บทความยาวเกือบ 1,000 คำดังกล่าวเผยแพร่บนเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือมากที่สุดฉบับหนึ่งของอเมริกา เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ผู้คนได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์ของนิวยอร์กไทม์สมากกว่า 11,000 ข้อความและมีการทวีตเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายหมื่นครั้ง

บทความที่มีหัวข้อว่า “ข้าพเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของการขัดขืนภายในฝ่ายบริหารของทรัมป์” นั้น ผู้เขียนได้รับการเปิดเผยแต่เพียงว่าเป็น “เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารระดับสูง” และในขณะที่การเขียนบทความแบบไม่ลงชื่อ ไม่ได้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ไม่บ่อยครั้งนัก

นิวยอร์กไทม์สเปิดเผยว่ามีคนกลางติดต่อมาหาจิม ดาว บรรณาธิการหน้าบทความแสดงความคิดเห็นเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าการตีพิมพ์โดยระบุว่า มีผู้ต้องการเขียนบทความในเรื่องนี้

Advertisement

ดาวตกลงที่จะขอดูและเมื่อบทความชิ้นดังกล่าวถูกส่งมา เขาเปิดเผยไว้ในรายการพอดแคสต์ เดอะเดลี ของนิวยอร์กไทม์สว่า เขาประทับใจกับความชัดเจนในการเขียนและผลกระทบทางอารมณ์ของบทความชิ้นนี้
หลังจากนั้น ดาวได้ตรวจสอบภูมิหลัง พิสูจน์ตัวตนและความน่าเชื่อถือของผู้เขียน แล้วจึงได้ดีพิมพ์บทความชิ้นดังกล่าว

“ห้องข่าวได้อนุญาตให้มีการปิดบังชื่อเจ้าของเรื่องเมื่อรู้สึกว่าผู้คนเหล่านั้นจะตกอยู่ในอันตราย ทั้งด้านกายภาพ หรือในแง่ชีวิตความเป็นอยู่ นั่นคือกฎของเรา” ดาวบอกกับเดอะเดลี แต่ก็ระบุด้วยว่านี่ไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายนัก

“แน่นอนว่าผมเป็นกังวลในเรื่องนี้จากหลายๆ เหตุผล หนึ่งคือความปลอดภัยของผู้เขียน อีกหนึ่งคือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หน้าบทความแสดงความคิดเห็นและนิวยอร์กไทม์สในฐานะสถาบันจะต้องเผชิญ”

Advertisement

เรื่องนี้ทำให้เกิดการอภิปรายถกเถียงอย่างร้อนแรงจากวงการเมืองอเมริกันที่เบ่งแยกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจนว่านิวยอร์กไทม์สทำถูกต้องหรือไม่ในกรณีนี้

ฝ่ายอนุรักษนิยมแสคงความเห็นอย่างแข็งกร้าวว่านิวยอร์กไทม์สผิด เป็นการเน้นย้ำคำกล่าวหาของทรัมป์อีกครั้งในเรื่องว่าสื่อเขียนแต่ “ข่าวปลอม”

ฌอน แฮนนิตี ผู้ประกาศข่าวดังของฟ็อกซ์นิวส์ ช่องโปรดของทรัมป์ ประณามบทความชิ้นนี้ว่า ตีพิมพ์ออกมาอย่าง “ขาดความรับผิดชอบ” และ “เป็นอันตราย”?

ด้านเดวิด กรีนเบิร์ก ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาสื่อ วารสารศาสตร์และประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยรัตเจอร์ส ระบุว่าบทความชิ้นนี้เป็นการ “นำเสนอความรับรู้อย่างยอดเยี่ยม” ให้กับสาธารณชนในเรื่องการทำงานภายในทำเนียบขาว

การมาของบทความชิ้นนี้ตามหลังหนังสือเล่มใหม่ของบ็อบ วูดเวิร์ด นักข่าวดัง ที่ฉายภาพความยุ่งเหยิงในฝ่ายบริหารของทรัมป์ทำให้ถือว่าบทความชิ้นนี้ “ถูกเวลา” และช่วยให้ประชาชนสนใจจับจ้องการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image