คอลัมน์ ไฮไลต์โลก: มังกรดิ้นหนีกำแพงภาษีทรัมป์

(AP Photo/Andy Wong)

ประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน สองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก นับวันยิ่งทวีความ

ร้อนแรง หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศงัดมาตรการทางภาษีขึ้นมาเล่นงานจีนเพื่อตอบโต้การทำการค้าของจีนที่ทรัมป์บอกว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบสหรัฐจนทำให้ต้องเสียดุลการค้าจีนไปเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี

นั่นทำให้ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเราได้เห็นสหรัฐตั้งกำแพงภาษี 25 เปอร์เซ็นต์ต่อสินค้าจีนที่นำเข้ามายังสหรัฐระลอกแรก มีมูลค่าทั้งสิ้น 50,000 ล้านดอลลาร์ ต่อด้วยก๊อกสองที่สหรัฐจ่อจะเก็บภาษีจากสินค้าจีนอีกมีมูลค่าราวๆ 200,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งร่ำๆ จะมีการประกาศออกมาเร็วๆ นี้ แต่ยังไม่ทันไรเมื่อสัปดาห์ก่อนทรัมป์ออกมาขู่จีนอีกว่าจะจัดหนักจัดเต็มด้วยการจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทุกชนิดกันเลยทีเดียว

เมื่อบรรยากาศขัดแย้งทางการค้าดิ่งเหวลงเช่นนี้ คนที่เดือดร้อนหนักย่อมเป็นภาคเอกชนจีนที่ต้องรีบดิ้นหาทางหนีทีไล่ ก่อนผลกระทบที่ได้รับจะเลวร้ายหนักไปกว่านี้ ซึ่งมีรายงานว่าหนึ่งในวิธีการที่ภาคเอกชนจีนหลายรายพยายามหาทางหลีกเลี่ยงการเผชิญมาตรการทางภาษีของทรัมป์ ที่มีต่อสินค้า เมดอินไชนาŽ คือการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่น ที่มีปัจจัยแวดล้อมเป็นมิตรต่อการลงทุนของภาคเอกชนจีนแทน เช่น เวียดนาม เซอร์เบีย เม็กซิโก เมียนมา รวมถึงไทย

Advertisement

โดยรายงานข่าวระบุว่า นอกจากบริษัทต่างชาติที่มีฐานการผลิตอยู่ในจีนจะได้ย้ายโรงงานออกจากจีนไปมากขึ้นแล้ว ภาคอุตสาหกรรมจีนหลายแห่งในหลายแวดวงก็เริ่มวางแผนโยกย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่นแล้วเช่นกัน เช่นบริษัท Zhejiang Hailide New Material ผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ พลาสติก และผ้าใบยางรถยนต์ ที่ผู้บริหารออกมาชี้แจงต่อกลุ่มนักลงทุนว่าเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงภัยต่อมาตรการการทุ่มตลาดและกำแพงภาษี ทางบริษัทจึงตัดสินใจจะไปตั้งโรงงานใหม่ในประเทศเวียดนาม ซึ่งบริษัทหวังว่าจะสามารถจัดการการผลิตสินค้าป้อนไปยังตลาดสหรัฐได้ในอนาคตอย่างไม่มีปัญหา หรือ บริษัท H1 Corp ผู้ผลิตชิ้นส่วนจักรยานที่รายงานต่อนักลงทุนว่าจะไปตั้งโรงงานผลิตในเวียดนามเช่นกัน

สืบเนื่องจากกำแพงภาษีสหรัฐ ส่วนภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอเสื้อผ้าหลายรายก็ย้ายฐานผลิตมายังเมียนมา ไทยและเม็กซิโก

คริสโตเฟอร์ โรเจอร์ส นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทานจากบริษัทผู้ให้บริการข้อมูลทางการค้าแห่งหนึ่งชี้ว่าเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มาตรการทางภาษีดังกล่าวจะยิ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้บริษัทเอกชนต่างๆ ต้องทบทวนถึงห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกของตนเอง เพื่อที่จะทำให้ทางบริษัทไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงหรือได้ผล
กระทบอย่างหนักโดยตรงจากมาตรการดังกล่าว

Advertisement

สอดคล้องกับความเห็นของนายกุย ฟาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าอีกรายที่มองว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐกำลังเป็นตัวเร่งให้เกิดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค่าโลกหรือห่วงโซ่การผลิต ที่หากเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายก็อาจนำไปสู่ปัญหาการว่างงานขึ้นตามมาได้ ซึ่งแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงนี้จำเป็นที่จะต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image