เงิบ! เวียดนามสั่งเรียกคืนหนังสือ “อูฐเป็นนกที่ใหญ่ที่สุดในโลก”

File/ AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

ทางการเวียดนามเรียกคืนหนังสือของสำนักพิมพ์ฮองดุค หลังจากถูกผู้ปกครองร้องเรียนเรื่องเนื้อหาในหนังสือที่ระบุว่า “อูฐเป็นนกที่ใหญ่ที่สุดในโลก”

หนังสือให้ความรู้ที่มีปัญหานี้ ตกเป็นข่าวใหญ่หลังจากมีการเผยแพร่ความผิดพลาดของหนังสือบนโลกออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา เพราะหนึ่งในคำถามของหนังสือเล่มนี้ ถามว่า “นกที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ?” โดยคำตอบในหนังสือตอบไว้ว่า “อูฐ” พร้อมคำอธิบายว่า อูฐไม่เพียงที่จะมีรูปร่างที่ใหญ่เท่านั้น แต่ยังสามารถวิ่งได้อย่างรวดเร็ว เหมือนกับนก เหตุผลที่บอกว่า มันวิ่งได้เร็วกว่าบิน เพราะอูฐไม่สามารถบินได้ เนื่องจากน้ำหนักตัวที่สูงมาก และปีกก็ถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบใหม่

หนังสือยังได้อธิบายเกี่ยวกับอูฐไว้ว่า ในบรรดาสายพันธุ์ของอูฐทั้งหมดนั้น อูฐอาหรับเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มากกว่าอูฐอเมริกันและออสเตรเลีย โดยอูฐอาหรับ มีขนาดตัวที่ใหญ่ วิ่งได้เร็ว สามารถอาศัยอยู่ในทะเลทรายหรือพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างได้ อูฐตัวผู้จะสูง 2.75 เมตร

ภาพจาก tuoitrenews.vn
ภาพจาก tuoitrenews.vn

นอกจากนี้ ในหนังสือยังอธิบายไว้ว่า “อูฐมีขนสีขาวที่หางและปีก” พร้อมกับบทสรุปอีกครั้งที่ว่า อูฐคือ “นก” ชนิดหนึ่ง ที่มักจะอยู่กันเป็นฝูง ฝูงละ 40-50 ตัว อูฐตัวเมียจะวางไข่ ครั้งละ 8 ฟอง ส่วนอูฐตัวผู้จะทำหน้าที่ฟักไข่และคอยดูแลลูกที่เกิดใหม่

Advertisement

นายบุย เวียต บัค ผู้อำนวยการของสำนักพิมพ์ฮองดุค เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า เกิดความผิดพลาดขึ้นในข้อความที่ระบุว่า อูฐเป็นนกที่ใหญ่ที่สุด แต่ไม่ได้มีการอธิบายถึงรายละเอียดเอาไว้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

นายบุยกล่าวด้วยวว่า หนังสือดังกล่าวชื่อหนังสือ “100,000 คำถาม ทำไม” โดยหนังสือดังกล่าวได้เริ่มมีการเผยแพร่ไปทั่วประเทศตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 พิมพ์ออกมาทั้งหมด 2,000 เล่ม ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักพิมพ์ฮองดุค และมินห์ทาน ก่อนที่จะมีการหยุดการแจกจ่ายออกไปตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา เบื้องต้นได้เรียกคืนมาแล้ว 1,600 เล่มเพื่อปรับแก้ไขข้อผิดพลาดให้ถูกต้อง และยังคงมีการเรียกคืนต่อไป

ขณะที่บนโลกออนไลน์ต่างมีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานาเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นว่า เกิดได้อย่างไร ทำไมคำว่า camel ซึ่งแปลว่าอูฐ จึงกลายเป็นนกไปได้ หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า ในหนังสือต้องการที่จะพูดถึง “นกกระจอกเทศ”
และหนึ่งในคำอธิบายที่ดูจะเข้าท่ามากที่สุดคือ จริงๆแล้ว ในหนังสือ อาจจะต้องการใช้คำว่า camel bird ซึ่งจะหมายถึง นกกระจอกเทศอาหรับ แต่คนที่แปลหนังสือเป็นภาษาเวียดนามอาจจะไม่เข้าใจความหมายดังกล่าว

Advertisement
ภาพจาก wonderopolis.org
ภาพจาก wonderopolis.org
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image