‘อียู’เล็งคงสถานะ’ใบเหลือง’ ปัญหาประมงผิดกฎหมายไทย

สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อวันที่ 21 เมษายน อ้างเจ้าหน้าที่ 2 รายของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ใกล้ชิดกับการหารือเกี่ยวกับปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย, ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ของไทย ระบุว่า ไทยจะยังคงได้รับสถานะ “ใบเหลือง” จากปัญหาไอยูยูต่อไป เนื่องจากไทยยังไม่สามารถดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมประมงและแรงงานอย่างเพียงพอ

โดยเจ้าหน้าที่ของอียูที่ไม่เปิดเผยตัวตนเนื่องจากเรื่องนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหว ระบุว่า แม้ว่าเมื่อปีก่อนไทยจะออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย แต่การแก้ปัญหาก็ไม่ได้รับการติดตามผลอย่างเพียงพอในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

“เรายังคงมีความห่วงกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและไร้การควบคุมของไทย นั่นหมายความว่า มาตรการตอบโต้ของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปไม่สามารถตัดออกไปได้” เจ้าหน้าที่อียูระบุ

รายงานระบุว่าไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลเป็นอันดับ 3 ของโลก มีส่วนแบ่งการส่งออกอาหารทะเลของโลกราว 8.1% จำเป็นที่จะต้องพึ่งตลาดอียูเพื่อคงสถานะผู้นำในตลาดอาหารทะเลเอาไว้ โดยการส่งออกอาหารทะเลของไทยมายังกลุ่มประเทศสมาชิกอียู มีมูลค่าระหว่าง 575-730 ล้านยูโร หรือราว 22,700-28,900 ล้านบาท โดยการให้สถานะใบเหลืองดังกล่าวของอียู มีขึ้นหลังมีการเปิดโปงธุรกิจแรงงานทาส ส่งผลให้มีการปลดปล่อยแรงงานทาสกว่า 2,000 คน มีการจับกุมกลุ่มผู้ค้ามนุษย์กว่า 10 ราย ในจำนวนนี้ 8 รายถูกตัดสินให้มีความผิดและถูกยึดทรัพย์มูลค่าหลายสิบล้านบาท

Advertisement

การเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อียูเกี่ยวกับการคงไว้ซึ่ง “ใบเหลือง” หรือคำเตือนที่อาจส่งผลให้ไทยถูกคว่ำบาตรการส่งออกอาหารทะเลไปยังอียูนั้นมีขึ้นในวันเดียวกันกับที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปกำลังประเมินประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกี่ยวกับมาตรการลงโทษประเทศที่มีการทำประมงที่ไม่ยั่งยืนซึ่งส่งผลให้จำนวนสัตว์น้ำถูกคุกคาม รวมถึงอียูก็กำลังประเมินด้วยว่ามาตรการปฏิรูปในบางประเทศจะเพียงพอที่จะทำให้อียูยกเลิกการให้ “ใบเหลือง” ด้วยหรือไม่ ขณะที่ไทยได้รับ “ใบเหลือง” มาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว

“เมื่อไม่นานมานี้เราได้รับหลักฐานเกี่ยวกับการปฏิรูปจากไทยน้อย ขณะที่หลักฐานจากประเทศที่ 3 และองค์กรเอ็นจีโอเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมายและการขาดการบังคับใช้กฎหมายที่มีจำนวนมากกว่า” เจ้าหน้าที่อียูระบุ

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ไทยและคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจะหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการแก้ปัญหาไอยูยูอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมนี้

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image