คอลัมน์ Think Tank: “เลห์แมนวีกเอ็นด์” การล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน

FILE- (AP Photo/Seth Wenig, File)

“เลห์แมนวีกเอ็นด์” หรือสุดสัปดาห์ของเลห์แมน ช่วงเวลาในเดือนกันยายนปี 2008 เมื่อเลห์แมนบราเธอร์ส วาณิชธนกิจอายุ 150 ปีล้มละลาย เป็นชนวนเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1930

หลังจากล้มเหลวในการหาผู้มาซื้อกิจการของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ที่ประสบปัญหาแห่งนี้ซึ่งมีความเสี่ยงสูงจากหนี้สินที่เกิดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพหรือ ซับไพรม์ ทางการสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจปฏิเสธให้ความช่วยเหลือทางการเงินและปล่อยให้สถาบันแห่งนี้ล้มละลาย

ในวันจันทร์ที่ 15 กันยายน 2008 เวลา 01.45 น. เลห์แมนบราเธอร์ส ยื่นขอล้มละลาย สร้างความประหลาดใจให้โลกโดยทิ้งหนี้สินไว้มากกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับพนักงานกว่า 25,000 คนที่อยู่ในอาการตกตะลึง

นับเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน

Advertisement

ในตลาดหุ้นวอลสตรีท ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 500 จุด นับเป็นการดิ่งลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือ 9/11

ภาพของนักค้าหุ้นที่ตกอยู่ในอาการตะลึงงันแบกกล่องใส่ของใช้ต่างๆ เดินหลั่งไหลออกมาจากอาคารกลายเป็นสัญลักษณ์ของวิกฤตครั้งนี้

บางคนถูกเหตุการณ์นี้เล่นงานแบบไม่ทันตั้งตัว แต่อีกส่วนหนึ่ง อาทิ ลอเรนซ์ แมคโดนัลด์ อดีตนักค้าหุ้นและผู้ร่วมเขียนหนังสือ “อะ โคลอสซัลเฟลลัวร์ออฟคอมมอนเซนส์: ดิ อินเครดิเบิลอินไซด์สตอรีออฟเดอะคอลแลปส์ออฟเลห์แมนบราเธอร์ส” เปิดเผยว่า ฝ่ายบริหารได้รับคำเตือนถึงความเสี่ยงที่มากเกินกว่าจะยอมรับได้มานานแล้วในการเพิ่มกำไรระยะสั้น

Advertisement

นับจากปี 2005-2007 ในช่วงเวลาที่ฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์พุ่งสู่จุดสูงสุด ที่มีการปล่อยเงินกู้ให้ผู้ซื้อบ้านที่ไม่มีความสามารถจะผ่อนได้ เลห์แมนบราเธอร์สเข้าซื้อกิจการของบริษัทนายหน้าปล่อยเงินกู้บ้านจำนวนมากและทำกำไรสูงเป็นประวัติการณ์

แต่ในช่วงกลางปี 2007 ความสูญเสียเริ่มก่อตัว หมัดน็อกตามมาในอีก 9 เดือนถัดมา

ในวันที่ 16 มีนาคม 2008 แบร์สเติร์น วาณิชธนกิจอีกแห่งที่ใกล้ล้มละลายเนื่องจากลงทุนในสินทรัพย์ซับไพรม์จำนวนมากเช่นเดียวกัน ได้ถูกเจพีมอร์แกนซื้อกิจการไปในราคาอันน้อยนิด ในข้อตกลงที่มีกองทุนสำรองแห่งรัฐหรือธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นผู้เจรจาต่อรอง ถึงตอนนี้ทุกคนจับจ้องไปที่จุดจบของเลห์แมน

เฟดและกระทรวงการคลังพยายามที่จะหาผู้มาซื้อกิจการของเลห์แมน โดยพยายามเจรจากับธนาคารของเกาหลีใต้แห่งหนึ่ง จากนั้นจึงเป็นแบงก์ออฟอเมริกาและบาร์เคลย์ส

ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐเพิ่งจะเข้าอุ้มเฟร็ดดีแม็คและแฟนนีเมย์ วิสาหกิจที่รัฐให้การสนับสนุนซึ่งรับประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนหน้า รวมถึงไม่กี่วันก่อนหน้านั้นรัฐบาลยังได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เอไอจี บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่เป็นมูลค่า 180,000 ล้านดอลลาร์รวมถึงอัดฉีดเงินทุนอีก 700,000 ล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นตลาดการเงิน

นับเป็นการตัดสินใจต้องเลือกระหว่าง 2 สิ่งที่ย่ำแย่พอกัน และรัฐบาลสหรัฐได้ตัดสินในสละเลห์แมนบราเธอร์สในท้ายที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image