คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ศึกสุดท้ายที่ซีเรีย

FILE PHOTO: เด็กชายชาวซีเรียกับแหล่งหลบภัยชั่วคราวที่ดัดแปลงจากถ้ำธรรมชาติในอิดลิบ / REUTERS/Khalil Ashawi/File Photo

เกือบตลอดเวลา 7 ปีเศษของสงครามกลางเมืองในซีเรีย “อิดลิบ” เมืองใหญ่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศบริเวณชายแดนติดต่อกับประเทศตุรกี มีสถานะ “พิเศษ” อยู่เสมอ ครั้งหนึ่งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียภายใต้การนำของ บาชาร์ อัล อัสซาด เคยประกาศให้จังหวัดขนาดใหญ่ ที่มีเมืองเอกชื่อเดียวกันนี้ให้เป็น “เขตปลอดปล่อย” ที่ปลอดจากอิทธิพลของทางการและกองกำลังติดอาวุธสารพัดกลุ่มในซีเรีย

สหรัฐอเมริกาภายใต้ความร่วมมือของตุรกี ใช้พื้นที่อิดลิบ เป็นฐานสำหรับฝึกกองกำลังติดอาวุธต่ออัสซาด ตุรกีใช้ อิดลิบ เป็นเหมือน “กันชน” ป้องกันไม่ให้กำลังคนและอิทธิพลของกองกำลังติดอาวุธชาวเคิร์ดในซีเรียแพร่เข้าสู่ดินแดนของตนเองที่มีกบฏชาวเคิร์ดอยู่ด้วย

ส่วนกบฏซีเรีย ที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านและรวมกลุ่มกันพยายามใช้อาวุธโค่นล้มรัฐบาลซีเรีย มอง อิดลิบ เป็นเหมือน “โอเอซิส” เขียวชะอุ่ม ในท่ามกลางทะเลทรายแห่งอำมหิตและความตายในซีเรีย

ในช่วงสองสามปีหลังมานี้ อิดลิบ กลายเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับพลเรือนซีเรีย โดยเฉพาะในกลุ่มที่เลือกที่จะยืนอยู่ข้างฝ่ายต่อต้านในทุกๆ เมือง เมื่อทหารรัฐบาลมาถึง เมื่อการทิ้งระเบิดปูพรมลุถึงระดับสูงสุด ชนิดที่ทำให้โรงพยาบาลแห่งสุดท้ายกลายเป็นเพียงซากปรักหักพัง พลเรือนในพื้นที่กบฏ รวมถึงบรรดานักรบที่ต่อต้าน จะถูกยื่นคำขาดเป็นทางเลือกสุดท้าย

Advertisement

ขึ้นรถบัสสีเขียว ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่อิดลิบ หรือไม่ก็ตกตายอยู่ในที่มั่นแห่งนั้น

ในกรณีของ กูตาตะวันออก ผู้ที่ตัดสินใจเดินทางออกมายังอิดลิบ เป็นบรรดานักรบของฝ่ายกบฏล้วนๆ แต่ใน ดามัสกัส กับ ดาราอิยา และซีกตะวันออกของอเลปโป ทุกคนพากันขึ้นรถมุ่งหน้าสู่อิดลิบ

จังหวัดที่เคยมีประชากรสูงสุดราว 1.4 ล้านคน ก็เพิ่มพรวดพราดขึ้นเป็นร่วม 3 ล้านคนในเวลานี้ กว่าครึ่งหนึ่งคือบรรดาผู้ที่หลบหนีเงื้อมมือของอัสซาดออกมาจากส่วนอื่นๆของประเทศ

Advertisement

แต่ในขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายก็ตระหนักมานานเช่นกันว่า อิดลิบ ก็คงตกเป็นเป้าการโจมตีของรัฐบาลอัสซาด เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ แน่ๆ ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดเท่านั้นเอง

เมื่อพื้นที่อิทธิพลของกองกำลังรัฐอิสลามลดลงเหลือเพียงไม่กี่จุด จนไม่อาจเป็นภัยคุกคามอีกต่อไป ในขณะที่พื้นที่ยึดครองของรัฐบาลขยายออกเกินกว่าครึ่งของประเทศ กองกำลังติดอาวุธที่ยึดครองพื้นที่ได้มากที่สุดรองจากรัฐบาลเป็นกองกำลังชาวเคิร์ดทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

ก็ถึงเวลาของ อิดลิบ

ตลอดหลายวันที่ผ่านมา เครื่องบินรบของซีเรีย และ รัสเซีย ถล่มระเบิดเข้าใส่พื้นที่อิดลิบอย่างหนัก ในขณะที่อัสซาดส่งกำลังทหารจำนวนมหาศาลไปชุมนุนกันอยู่ริมขอบนอกของเมือง เตรียมปฏิบัติการครั้งสุดท้ายต่อกลุ่มคนที่รัฐบาลใช้คำเรียกอย่างเป็นทางการว่า “พวกก่อการร้าย”

บาชาร์ จาฟฟารี ผู้แทนถาวรของซีเรียในสหประชาชาติ พูดถึงอิดลิบเอาไว้เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมาว่า
“การปลดปล่อยอิดลิบ…จะเป็นตะปูตัวสุดท้ายตอกลงบนฝาโลงของพวกก่อการร้ายกับใครก็ตามที่ถือหางข้างพวกนั้นและลงทุนไปนับเป็นพันล้านดอลลาร์”

คำพูดที่ไม่เพียงเหน็บแนมถากถางไปถึงบรรดามหาอำนาจตะวันตกทั้งหลาย ที่ลังเล รีรอ ห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่ยอมหนุนหลังฝ่ายต่อต้านซีเรียอย่างเต็มที่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ยังเป็นการย้ำถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่ออิดลิบ

ศึกสุดท้ายในซีเรียกำลังจะเกิดขึ้น ไม่บดขยี้ทำลายให้สิ้นซาก ไม่พิชิตให้ราบคาบไม่เลิกรา

ไม่มี “บัสสีเขียว” ออกจากอิดลิบ อีกแล้ว ไม่มี “อิดลิบแห่งที่2” ให้หลบภัยอีกแล้ว

 

 

ทุกคนสามารถมองเห็นสิ่งที่กำลังรออิดลิบอยู่ข้างหน้าได้ชัดเจน ระเบิดจากเครื่องบิน, ระเบิดถังน้ำมันจากเฮลิคอปเตอร์, ปืนใหญ่, ปืนครก และอีกสารพัดอาวุธหนักจะถล่มเข้าใส่เมืองนี้ชนิดไม่คำนึงถึงพลเรือนโดยไม่หยุดหย่อนจนกว่าจะสามารถพิชิตและยึดครองทั้งจังหวัดได้แบบเบ็ดเสร็จ การนองเลือดถือเป็นสภาพปกติ เพราะที่ผ่านมาอำมหิตเลือดเย็นยิ่งกว่านั้นเคยมีให้เห็นกันมาแล้ว แม้กระทั่งอาวุธต้องห้ามอย่างซาริน หรือ ก๊าซคลอรีน ก็ตาม

แม้แต่สหประชาชาติ ยังออกมาเตือนว่า เป็นไปได้ที่อิดลิบ จะกลายเป็น “หายนะทางมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดแห่งศตวรรษที่21” ไปในไม่ช้าไม่นาน

ถึงตอนนี้ บรรดาชาติตะวันตกได้แต่ร้องแรกแหกกะฌอ แล้วก็ฝากความหวังลมๆ แล้งๆ ไว้กับคนอย่าง วลาดิมีร์ ปูติน และ เรย์ซิป เตยิบ แอร์ดวน ว่าจะสามารถยับยั้งไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมนองเลือดได้

การทำความตกลงจัดตั้ง “เขตปลอดทหาร กว้าง 15-20 กิโลเมตร” ขึ้นเป็นเขตกันชนโดยรอบอิดลิบขึ้นระหว่างกองกำลังของรัฐบาลซีเรียและกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายกบฏ บวกกับการถอนอาวุธหนักของทุกฝ่ายออกจากพื้นที่ แลกกับการถอนกำลังออกมาของ ฮายัต ตาหรีร์ อัล-ชาม (เอชทีเอส) กองกำลังติดอาวุธเชื่อมโยงกับขบวนการก่อการร้ายอัลเคดาที่ตุรกีหนุนหลังอยู่ โดยกำหนดจะให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ดูเหมือนจะทำให้ความคาดหวังนี้มีเหตุผลมากขึ้น

แน่นอนที่ว่า ทั้งรัสเซีย และตุรกี มีผลประโยชน์ของตนเองแฝงอยู่ในอิดลิบ และพยายามจะดึงชะตากรรมของอิดลิบ ออกมาจากกำมือของ ดามัสกัส ไม่ใช่เพื่อมนุษยธรรม แต่เพื่อให้สถานการณ์นี้เป็นประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุด และเพื่อให้สถานการณ์เอื้อประโยชน์ต่อตนสูงสุด อิดลิบ จำเป็นต้องคงสถานะใกล้เคียงกับที่เป็นอยู่นี้ต่อไป

คริสโตเฟอร์ รอยเตอร์ ผู้สื่อข่าวคร่ำหวอดในตะวันออกกลางของ แดร์ สปีเกล เชื่อว่า วลาดิมีร์ ปูติน มองเห็นประโยชน์ในอนาคตของอิดลิบ

เชื่อว่า ตราบเท่าที่ รัสเซีย ยังสามารถ “คุกคาม” ยุโรปได้โดยอาศัยคน 3 ล้านคนในอิดลิบเป็นเครื่องมือได้ ตราบนั้น อิดลิบ ก็จะยังคงปลอดภัยอยู่ได้

การโหมถล่มอิดลิบ ไม่ต่างอะไรกับการผลักผู้อพยพจำนวนมหาศาลเป็นเรือนล้านให้ทะลักเข้าสู่ตุรกี และหลั่งไหลเข้าไปในยุโรปในที่สุด นี่คือเครื่องมือต่อรองสำคัญที่ปูติน เตรียมจะใช้ เพื่อดึงให้ยุโรป หันมา “ร่วมมือ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จ่ายเงิน” ให้ในภารกิจ “บูรณะ” ซีเรีย หลังผ่านศึกสุดท้ายครั้งนี้ไปแล้ว

รัสเซีย ไม่อาจปล่อยให้เกิด “โศกนาฏกรรม” ในระดับ “หายนะของมนุษยชาติ” ขึ้นในอิดลิบได้ หากต้องการความร่วมมือดังกล่าว

ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของ ตุรกี ที่นับวันหันไป “ถือไพ่มอสโก” มากกว่าตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ
กองทัพตุรกี ไม่เพียง “ปรากฏอยู่” ในอิดลิบ เท่านั้น หากแต่เป็นการ “ปักหลัก” ชนิดลงทุนไว้สูงมาก มีการสร้าง “ฐานทัพ” ต่อเนื่องกันไว้ถึง 12 ฐาน แต่ละแห่งมีทั้งหลุุมเพลาะ กำแพงกระสอบทราย และกำแพงคอนกรีต โดยมีทหารตุรกีประจำการอยู่อย่างน้อย 150 นายต่อฐาน รวมถึงสรรพาวุธและเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวอีกจำนวนหนึ่ง

นี่ยังไม่นับกำลังทหาร รถถัง และปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์ ที่ถูกระดมเข้ามาชุมนุมอยู่ตามแนวชายแดน ในทันทีที่กองทัพมหาศาลของอัสซาดรุกประชิดอิดลิบ

เชื่อกันว่า การที่ตุรกียังคงกองทหารอยู่ในอิดลิบได้ เป็นส่วนหนึ่งของความต้องการของรัสเซีย รวมทั้งการเล็งเห็นถึงประโยชน์ในอนาคตของกองกำลังนี้ เพราะเป็นที่แน่นอนว่า หากจัดการกับอิดลิบได้เมื่อใด อัสซาด จะหันไปให้ความสนใจกับ กองกำลังเคิร์ด

รูปแบบที่เป็นไปได้สูงก็คือ การทำความตกลงกันใหม่ให้เคิร์ดอยู่ภายใต้การปกครองของดามัสกัสอีกครั้ง แม้จะอยู่ในสภาพเป็นเขตปกครองตนเองเหมือนที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้

หากไม่เช่นนั้น ตุรกี ที่ไม่ต้องการเห็นความเป็นปึกแผ่นของเคิร์ดมากที่สุด ก็อาจกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับกองกำลังเคิร์ดในเวลานี้

 

 

มีรายงานข่าวไม่ยืนยันถึงกับระบุว่า มีการประชุมลับๆ เพื่อจัดสรรพื้นที่อิทธิพลในอิดลิบกันขึ้นที่ กรุงอัสตานา เมืองหลวงของคาซักสถาน กันเรียบร้อยแล้ว ภายใต้การรับรู้ของ อิหร่าน รัสเซีย และตุรกี

ภายใต้ความตกลงอัสตานา อิดลิบ จะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน ตุรกีครองอิทธิพลทางเหนือสุด ตอนกลางอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย สุดท้าย อัสซาด จะถือครองตอนใต้สุดของเมือง ซึ่งรวมถึงเมืองเล็กๆ แต่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์อย่าง จิซาร์ อัล-ชูร์กูร์ บนที่ราบต่อจากลาดเนินเขา อันซาเรียห์ ซึ่งเป็นปากทางเข้าสู่พื้นที่ของชนกลุ่มน้อย อะลาวี ดินแดนที่เป็นมาตุภูมิของ บาชาร์ อัล อัสซาด

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ อัสซาด คิดเห็นต่ออิดลิบอย่างไร รัสเซียเอง มีอิทธิพลต่อประธานาธิบดีแห่งซีเรียผู้นี้มากแค่ไหน หรือไม่มีเลย

เหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุทธการอเล็ปโป แสดงให้เห็นว่า อัสซาด ยังคงกุมอำนาจเบ็ดเสร็จในปฏิบัติการใดๆ ในซีเรียอยู่ไม่เสื่อมคลาย รัสเซียอาจเป็นเสือ แต่ก็เป็นเหมือนเสือกระดาษสำหรับคุกคามชาติตะวันตกมากกว่าจะมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลซีเรีย

ผู้สันทัดกรณีอีกหลายคน เชื่อว่า สถานการณ์ในซีเรีย เดินทางถึงจุดที่ อัสซาด สามารถชี้นิ้วได้เต็มที่อีกครั้ง โดยที่รัสเซียไม่สามารถทำอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ไม่ว่าอยากจะทำหรือไม่ก็ตาม

ซีเรียที่เป็นมิตร ทรงคุณค่าสำหรับรัสเซียในการเข้ามามีอิทธิพลในตะวันออกกลางได้มากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คุณค่าดังกล่าวสูงมากเกินกว่าที่ปูตินจะละทิ้งไปได้ ด้วยเหตุผลเพื่อมนุษยธรรมหรืออื่นใดในอิดลิบ

แนวกันชนที่ตกลงกัน เป็นเพียงลมหายใจ “ชั่วคราว” ของเมืองนี้

ไม่ช้าไม่นาน ศึกสุดท้าย ที่ยิ่งกว่าศึกไหนๆ ก็จะระเบิดขึ้นที่นี่อยู่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image