คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: สงครามการค้า กับ10ปีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

(ภาพ-artbaggage via Pixabay)

ย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลานี้ ข่าวที่ใหญ่ที่สุดของโลกหนีไม่พ้นเรื่องวิกฤตการณ์ทางการเงินของโลกที่เริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา บางคนเรียกว่าวิกฤตเลห์แมนฯ หรือไม่ก็ วิกฤตซับไพรม์ ที่เรียกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ให้สอดคล้องกับ ต้มยำกุ้ง ก่อนหน้านั้นก็มี

10 ปีผ่านไป วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เลือนหายไปอยู่หลังฉากตามกาลเวลา สิ่งที่เป็นข่าวใหญ่ในเวลานี้กลับเป็นเรื่องของ “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน

น่าสนใจที่นักวิชาการท่านหนึ่งของสถาบันบรูกกิงส์ ซึ่งเป็นองค์กรวิชาการในวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นทางด้านเศรษฐกิจเป็นพิเศษ จับสองเรื่องนี้มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน

เดวิด ดอลลาร์ นักวิชาการอาวุโส ประจำศูนย์จีนศึกษาจอห์น แอล ธอร์นตัน ของบรูกกิงส์ อินสติติวท์ เชื่อว่า เมล็ดพันธุ์ที่เติบใหญ่เบ่งบานเป็นสงครามการค้าอยู่ในเวลานี้ ถูกหว่านทิ้งไว้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อนในวิกฤตการณ์ทางการเงินของโลกหนนั้น

Advertisement

ต้องบอกด้วยว่า ระหว่างปี 2009-2013 นั้น เขาคือ ตัวแทนพิเศษด้านการเงินและเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง สหรัฐอเมริกาประจำประเทศจีน

ดอลลาร์ เชื่อว่า แม้ไม่ใช่เป็นต้นเหตุโดยตรง แต่วิกฤตหนนั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างที่หล่อหลอมให้เกิดสภาพแวดล้อมซึ่งเอื้อต่อการเข้าใจผิดพลาด ไขว้เขว ง่ายต่อการเกิดความขัดแย้ง เปลี่ยนทัศนะและมุมมองซึ่งต่างฝ่ายต่างมีต่อกันให้ผิดแผกไปจากที่เคยเป็นโดยสิ้นเชิง

ส่วนที่เหลือก็แค่เติมเชื้อปะทุ ที่ชื่อ โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ เข้าไปเท่านั้นเป็นอันเรียบร้อย

Advertisement

มองย้อนหลังกลับไป เรามักรู้สึกกันว่าเอเชีย โดยเฉพาะจีน ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีก่อนมากมายนัก แตกต่างจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่วิกฤตลามเข้าหากันหนักหน่วงด้วยการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันของระบบการเงิน

จีน ซึ่งเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) อย่างเป็นทางการแบบเต็มตัวเมื่อปี 2001 ยังไม่ทันหลอมรวมเข้ากับระบบการเงินโลกดีนัก แรงสะเทือนที่ไหลผ่านช่องทางการเงินยังไม่หนักหนาเท่า
แต่กลับได้รับผลกระทบในภาคการค้าสูงมาก สูงชนิดที่เรียกได้ว่าช็อกกันทั้งประเทศก็ว่าได้

การส่งออกของจีนลดลงถึง 1 ใน 3 ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลจีนเองประเมินว่า แรงงานจีนไม่น้อยกว่า 20 ล้านคนถูก “ลอยแพ” เกือบทั้งหมดเป็นแรงงานในภาคการก่อสร้างและการผลิตที่พึ่งพาแรงงานสูง

ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นเหมือนๆ กัน นั่นคือต้องหาทางรับมือกับภาวะวิกฤตหนนั้น

 

 

ยุคทองของการขยายตัว เติบโตทางเศรษฐกิจของจีน เริ่มต้นราว 1 ปีหลังจากเข้าเป็นสมาชิกดับเบิลยูทีโอ นับตั้งแต่ปี 2002 การส่งออกของจีนขยายตัวถึงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ส่งผลให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นในสัดส่วนเลข 2 หลัก

ถึงปี 2007 จีดีพีจีนขยายตัวสูงน่าทึ่งถึง 14 เปอร์เซ็นต์

แต่ถึงตอนนั้น จีน ก็ยังเป็นแค่ “สมอลล์ เพลเยอร์” ในเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา
เดวิด ดอลลาร์ นำเอาจีดีพี ของสหรัฐอเมริกาในปี 2006 มาเปรียบเทียบกับจีดีพีของจีนในปีเดียวกัน โดยคิดเป็นมูลค่าตามค่าเงินดอลลาร์ในปัจจุบัน พบว่า ณ ปีนั้น จีดีพีอเมริกัน โตกว่า ของจีนถึง 400 เปอร์เซ็นต์

มุมมองต่อจีนในเวลานั้นก็คือ ความพยายามในการปฏิรูปในหลายๆ ด้าน จะช่วยให้จีนค่อยๆ เติบใหญ่รุดหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปใช้เวลาช่วงใหญ่ช่วงหนึ่งจึงสามารถไล่ตามสหรัฐอเมริกาได้ทัน

แต่วิกฤตเศรษฐกิจหนนั้นเปลี่ยนสภาพดังกล่าวไปในทันที ไม่ใช่เพราะวิกฤตหนนั้นทำให้เศรษฐกิจจีนเติบใหญ่ขยายตัว แต่เป็นเพราะวิกฤตหนนั้นทำให้ทางการจีนต้องแก้ปัญหาด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพื่อบรรเทาอาการช็อกจากภาวะวิกฤตในสหรัฐอเมริกา

แผนกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของจีนเพื่อชดเชยวิกฤตภายนอกประเทศหนนั้น พุ่งเป้าไปที่การพัฒนาสาธารณูปโภคในประเทศและการพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ตั้งแต่เรื่องระบบรางความเร็วสูง, ทางด่วน-ทางด่วนยกระดับ เรื่อยไปจนถึงระบบบำบัดน้ำเสีย และการสร้างเมืองใหม่ เป็นต้น

ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินมหาศาลของรัฐบาล จีดีพีของจีนกลับมาขยายตัวในระดับเลขสองหลักได้อีกครั้งอย่างรวดเร็ว

ในทางตรงกันข้าม สหรัฐอเมริกา ยังคงจมอยู่ในวิกฤตนานเป็นทศวรรษ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหากไม่ติดลบก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ระบบการเงินที่เป็นสถานที่เกิดเหตุอยู่ในสภาพเละเทะ ความเชื่อมั่นหดหาย กว่าจะฟื้นฟูได้อีกครั้งก็ต้องใช้เวลานาน

ข้อมูลของ เดวิด ดอลลาร์ แสดงให้เห็นว่า ในปี 2006 จีดีพี ของจีน (ในมูลค่าดอลลาร์ปัจจุบัน) อยู่ที่ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ พอถึงปี 2017 ตัวเลขจีดีพีรวมของจีนขยายตัวออกเป็น 12.2 ล้านล้านดอลลาร์

จากที่ขนาดจีดีพีของสหรัฐอเมริกา เคยโตกว่าจีนถึง 400 เปอร์เซ็นต์ในปี 2006 ถึงปี 2017 จีดีพีสหรัฐอเมริกาโตกว่าจีนเพียงแค่ 58 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์เอาไว้ว่า ขนาดเศรษฐกิจของ จีน จะแซงหน้าสหรัฐอเมริกา กลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกได้ภายใน 10 ปี

สิ่งที่เดวิด ดอลลาร์ พยายามบอกก็คือ วิกฤตหนนั้นฉุดสหรัฐอเมริกาไว้กับที่ ในขณะที่จีนพุ่งทะยานอย่างรวดเร็วจนทันในเวลาที่เร็วเกินกว่าที่ทุกคนคาดไว้!

 

 

วิกฤตที่เริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงส่งผลให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวจนทันสหรัฐอเมริกาในระยะเวลาเร็วกว่าที่ทุกคนคาดหมายไว้เท่านั้น ยังเปิดโปงให้เห็นสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจแบบเปิดและใช้ตลาดเป็นตัวนำ แสดงให้เห็นจุดอ่อนของระบบอย่างถึงแก่นอีกด้วย

ที่สำคัญก็คือ ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและจีน ให้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการใช้งบประมาณของรัฐลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลที่ปรากฏในบางแง่มุมกลับแสดงให้เห็นว่าภายใต้ระบบที่จีนใช้อยู่ แม้จะใช้วิธีเดียวกัน กลับได้ผลลัพธ์ดีกว่า

ดอลลาร์ยกตัวเลขรายได้ครัวเรือนมาเป็นตัวอย่างรูปธรรมในแง่นี้ ด้วยการชี้ให้เห็นว่า การที่่เศรษฐกิจจีนกลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงหลังวิกฤต ทำให้ค่ามัธยธฐานของรายได้ครัวเรือนของจีนเพิ่มขึ้นในราวๆ 6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แตกต่างมากอย่างยิ่งกับตัวเลขเดียวกันในสหรัฐอเมริกา ที่ไต่อยู่ในระดับใกล้กับศูนย์อยู่หลายปี

ในส่วนที่เกิดปัญหาขึ้นกับจีน ก็เป็นปัญหาเช่นกันในสหรัฐอเมริกา และมีแนวโน้มหนักหนาสาหัสกว่าด้วยซ้ำไป

เดวิด ดอลลาร์ ยกตัวอย่างของปัญหาหนี้ภาครัฐ ซึ่งแม้ว่าตัวเลขที่แท้จริงในจีนจะบอกได้ยาก ด้วยเหตุที่ว่า มาตรการกระตุ้นของจีนไม่ได้กระทำโดยรัฐบาลกลางที่ปักกิ่งโดยตรง แต่ทำโดยรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมณฑลแทน โดยใช้วิธีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมารองรับกิจการสาธารณูปโภคต่างๆ แล้วกู้เงินจากรัฐบาลท้องถิ่น ที่รับงบประมาณมาอีกต่อหนึ่ง

แต่ถึงอย่างนั้น ตัวเลขหนี้ภาครัฐของจีนก็โตขึ้นพรวดพราดเช่นกัน จาก 40 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 2006 กลายเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ในปี 2017 ที่ทำให้สุดท้ายทางการก็จำเป็นต้องออกมาตรการปรามการปล่อยกู้ของรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อทำให้หนี้ภาครัฐมีเสถียรภาพมากขึ้น

ในสหรัฐอเมริกา ตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจนั้น หนี้ภาครัฐอยู่ที่ราว 40 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ใกล้เคียงกับสัดส่วนของจีน แต่พอถึงปี 2017 หนี้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซ้ำด้วยการลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐของทรัมป์ ซึ่งประกาศใช้ในปี 2017 ทำให้นักเศรษฐศาสตร์คาดกันว่า หนี้ภาครัฐของสหรัฐอเมริกาจะทะลุเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีภายใน 2-3 ปี

ในความเป็นจริงแล้ว ภายในสิ้นปีนี้ รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาจะก่อหนี้ใหม่เพิ่มมากขึ้นกว่าปริมาณหนี้สะสมเดิมด้วยซ้ำไป

กลายเป็นรัฐบาลแรกในรอบ 200 ปีที่มีความสามารถทำได้เช่นนี้!

 

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ดูเหมือนไม่น่าจะเกี่ยวข้องใดๆ กับสงครามการค้าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ แต่ เดวิด ดอลลาร์ เปิดเผยจากประสบการณ์ตรงในช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีนว่า ทั้งสองอย่างเชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจ

ดอลลาร์เล่าว่าครั้งหนึ่งเคยเดินทางไปบรรยายให้กับเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นของมณฑลเหอเป่ย ของจีนราว 500 คนฟังภายใต้หัวข้อที่ว่า “จีนควรรับมือกับวิกฤตอย่างไร”

ในช่วงถามตอบท้ายรายการ มีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งลุกขึ้นถามเป็นเชิงปรารภว่า

“ตั้งแต่ต้นเรื่อยมาจนถึงตอนนี้ เราคิดว่า สหรัฐอเมริกาคือต้นแบบของทุกอย่าง ตอนนี้เราไม่รู้จะคิดอย่างไรแล้ว”

สหรัฐอเมริกา เคยถูกยึดถือเป็น “โมเดล” ในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ในการเปิดประเทศของจีน วิกฤตเศรษฐกิจหนนั้นทำลายศรัทธาต่อ “ต้นแบบ” ของตัวเองไปจนหมดสิ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการเปิดกว้างในด้านต่างๆของจีน ชะงักลงโดยสิ้นเชิง

เดวิด ดอลลาร์ ใช้ดัชนีการเปิดกว้างของภาคการเงินที่ โออีซีดี ใช้เป็นมาตรวัด มาเป็นตัวอย่างของการหยุดชะงักดังกล่าว ดัชนีดังกล่าววัดระดับการเปิดกว้างของภาคการเงินในแต่ละประเทศตั้งแต่ 0 ไปจนถึง 1 โดย 0 คือเปิดกว้างโดยสมบูรณ์และ 1 คือปิดสนิท

ในปี 1997 โออีซีดี จัด ภาคการเงินของจีนอยู่ที่ระดับ 0.8 ซึ่งเท่ากับเกือบปิดสนิทโดยสิ้นเชิง พอถึง 2006 จีนเริ่มอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติเข้าไปดำเนินกิจการในฐานะ หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โออีซีดี ปรับดัชนีชี้ภาวะภาคการเงินของจีนเป็น 0.5

ที่น่าสนใจก็คือ อีก 10 ปีต่อมาในปี 2016 ระดับการเปิดกว้างของภาคการเงินของจีนก็ยังคงอยู่ที่ 0.5 เช่นเดิม
ที่สำคัญก็คือ ภาคการเงินเป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่ง ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว จีนยังคงจำกัดการลงทุนในประเทศตนอยู่เป็นวงกว้างในด้านบริการหลายต่อหลายอย่าง เรื่อยไปจนถึงภาคการผลิตไฮ-เทค ทั้งหลาย
ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขให้บริษัทตะวันตกจำเป็นต้อง “แชร์” เทคโนโลยีก้าวหน้าของตนให้กับ “หุ้นส่วน” ในจีน

ทั้งๆ ที่รู้ว่าอีกไม่นานหุ้นส่วนดังกล่าวจะกลายเป็น “คู่แข่ง” ในอนาคต

และเป็นความขัดแย้งสำคัญกับชาติตะวันตกทั้งหลาย โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา

 

 

การขยายตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สถานะของจีนในภาพรวมของเศรษฐกิจโลกทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับความพยายามในการเพิ่มศักยภาพของตนเองในในหลายๆ ด้าน ในทิศทางที่เป็นตัวของตัวเอง และไมยึดถือตะวันตกเป็นต้นแบบอีกต่อไป

ที่ยิ่งสร้างความกังขา เคลือบแคลงให้มากยิ่งขึ้นก็คือ พัฒนาการทางด้านการทหารของจีน รวมไปถึงโครงการพัฒนาขีดความสามารถทางทหารในทะเลจีนใต้

รวมทั้ง โครงการใหญ่ระดับโลกอย่าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่เป็นการหว่านเงินลงทุนมหาศาลสำหรับการสร้างสาธารณูปโภคเชื่อมต่อไปทั่วโลก

ที่ยิ่งสร้างสิ่งซึ่ง เดวิด ดอลลาร์ เรียกว่า “ความกระวนกระวาย” ไม่แน่นอนใจต่อการผงาดขึ้นมาในโลกเศรษฐกิจของจีน และเป็นที่มาของสงครามการค้าครั้งนี้

ซึ่งไม่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะนิยามมันสวยหรูอย่างไร ก็ยังหนีไม่พ้นการสกัดกั้น ควบคุม การเติบใหญ่ของจีนในเวทีโลกนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image