หวั่นมติเปลี่ยนชื่อประเทศ ‘มาซิโดเนีย’ ปิ๋วเหตุผู้ใช้สิทธิประชามติแค่ 1 ใน 3

เว็บไซต์บีบีซีรายงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ระบุว่าการลงประชามติเพื่อเปลี่ยนชื่อประเทศมาซิโดเนีย ดูเหมือนว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิจำนวนน้อยกว่าที่ต้องการเมื่อผลการนับคะแนนพบว่ามีคนออกมาใช้สิทธิเพียง 1 ใน 3

การรณรงค์บอยคอตการลงประชามติดังกล่าวของกลุ่มก้อนการเมืองชาตินิยมซึ่งรวมไปถึงประธานาธิบดีมาซิโดเนีย ดูเหมือนจะได้ผลเมื่อ ผู้มีสิทธิลงคะแนนออกมาใช้สิทธิเพียง 36 เปอร์เซ็นต์ ไม่ถึงเกณฑ์ 50 เปอร์เซ็นต์ที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตามผู้ที่มาใช้สิทธิคิดเป็นสัดส่วนถึง 90 เปอร์เซ็นต์ลงคะแนนสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศมาซิโดเนีย เป็น “มาซิโดเนียเหนือ” นั่นส่งผลให้โซรัน ซาเอฟ นายกรัฐมนตรียังคงเรียกร้องให้รัฐสภา ลงมติเห็นชอบ “ตามความต้องการของคนส่วนใหญ1”

รัฐสภาซึ่งครองเสียงข้างมากโดยพรรคร่วมนำโดยนายซาเอฟ นั้นจำเป็นที่จะต้องได้เสียงสนับสนุนเพิ่มอีกกว่า 10 เสียง เพื่อที่จะได้คะแนนเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของรัฐสภาเพื่อลงมติเห็นชอบเพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายเพื่อเปลี่ยนชื่อประเทศต่อไป ขณะที่นายกรัฐมนตรีซาเอฟเอง ก็ขู่ว่าจะประกาศยุบสภาและเลือกตั้งใหม่หากรัฐสภาไม่ลงคะแนนสนับสนุนร่างข้อเสนอดังกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ “มาซิโดเนีย” ประกาศเอกราชจาก “ยูโกสลาเวีย” ในปีค.ศ.1991 แต่กรีซคัดค้านการใช้ชื่อ “มาซิโดเนีย” ในทันที

ความขัดแย้งย้อนไปในประวัติศาสตร์เนื่องจากพื้นที่ประเทศมาซิโดเนียในปัจจุบัน และตอนเหนือของกรีซเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดในอาณาจักรโรมันที่มีชื่อว่า “มาซิโดเนีย” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 146 ปีก่อนคริสตกาล (กินพื้นที่บางส่วนของแอลเบเนียและบัลแกเรียด้วย) และทั้งสองประเทศก็อ้างมรดกตกทอดจากกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราชผู้ครองอำนาจเมื่อ 200 ปีก่อนหน้านั้นด้วย

การคัดค้านของกรีซส่งผลกดดันให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกมาซิโดเนียว่าประเทศ “อดีตสาธารณรัฐยูโกสลาฟมาซิโดเนีย” ขณะที่กรีซเองใช้สิทธิคัดค้านไม่ให้มาซิโดเนียเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในปี 2008 รวมไปถึงการยื่นขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของมาซิโดเนียด้วย

Advertisement

ทั้งนี้ข้อเสนอในการเปลี่ยนชื่อประเทศถูกเสนอโดยรัฐบาลมาซิโดเนียชุดล่าสุดที่บรรลุข้อตกลงกับกรีซในการเปลี่ยนชื่อประเทศแลกกับการที่กรีซจะเปิดทางให้มาซิโดเนีย หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในยุโรปได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้และอียูได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image