3 นักวิทย์จากสหรัฐและอังกฤษ คว้ารางวัลโนเบลสาขาเคมี 2018

(Photo by Jonas EKSTROMER / TT News Agency / AFP)

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า การประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2018 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ปรากฏว่า ตกเป็นของนักวิทยาศาสตร์ 3 คน คือ นางฟรานเซส เอช.อาร์โนลด์ ชาวอเมริกัน นายจอร์จ พี.สมิธ ชาวอเมริกัน และเซอร์ เกรกอรี พี.วินเทอร์ ชาวอังกฤษ

โดยนางอาร์โนลด์ ได้รับรางวัลจากการวิจัยเรื่องการกำกับวิวัฒนาการของเอ็นไซม์ ซึ่งเป็นโปรตีนที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี และได้ปรับปรุงวิธีการดังกล่าวจนในทุกวันนี้มีการนำมาใช้เป็นประจำเพื่อพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาใหม่ๆ วิธีการประยุกตร์ใช้เอ็นไซม์ของนางอาร์โนลด์นั้น รวมไปถึงการพัฒนาการผลิตสารเคมีที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่าเดิม ซึ่งนำไปใช้กันในภาคการผลิตตั้งแต่ การผลิตเวชภัณฑ์ ไปถึงการผลิตเชื้อเพลิงที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อภาคการขนส่ง

ส่วนอีกผลงานที่ได้รับรางวัล คือผลงานของ สมิธ กับวินเทอร์ นั้น นายสมิธพัฒนาวิธีการซึ่งรู้จักกันในงานนี้ว่าเป็น “เฟจ ดิสเพลย์” โดยการนำเอาแบคทีริโอเฟจ ซึ่งเป็นไวรัสที่สามารถแพร่เชื้อให้กับแบคทีเรียได้ มาใช้ในการพัฒนาโปรตีนชนิดใหม่ขึ้น ส่วนวินเทอร์ นำเอาวิธีเฟจ ดิสเพลย์ มาใช้ในการกำกับวิวัฒนาการของแอนตี้บอดี้ โดยวางเป้าหมายเพื่อการผลิตเวชภัณฑ์ใหม่ๆ และประสบความสำเร็จในการใช้วิธีการนี้ผลิตยา “อดาลิมูแมบ” ที่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้ได้ในการรักษาโรครูมาตอยด์เรื้อรังได้ ในปี ค.ศ.2002 โดยยาอดาลิมูแมบ ยังใช้สำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงินและโรคอักเสบในช่องท้องอีกด้วย

ทั้งนี้ ราชบัณฑิตยสภาสวีเดน ผู้ตัดสินรางวัลโนเบลสาขาเคมีระบุว่า ผลการวิจัยดังกล่าวเป็นนำเอาหลักการตามทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วินมาใช้ นั่นคือ พันธุกรรมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามระบบการคัดสรรสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รางวัลได้นำหลักการนี้มาใช้ในการพัฒนาโปรตีนและแก้ปัญหาสารเคมีของมนุษยชาติ

Advertisement

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล จะได้รับเงินรางวัล 9 ล้านโครเนอร์ สำหรับรางวัลใหญ่ที่ผู้คนทั่วโลกจับตามอง คือรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่จะมีการประกาศกันในวันที่ 5 ตุลาคม และปีนี้จะไม่มีการประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมแต่อย่างใด เนื่องจากมีเรื่องอื้อฉาวกรณีสามีของสมาชิกราชบัณฑิตยสภาของสวีเดนตกเป็นข่าวอื้อฉาวเรื่องล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ติดแฮชแท็ก “มีทู” ทำให้คนในราชบัณฑิตยสภาพเกิดความขัดแย้งกัน และประกาศเลื่อนการประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมออกไป เป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image