คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : กับดักแห่งกาลเวลา ที่”กัมปัง บารู”

AFP PHOTO

กับดักแห่งกาลเวลา ที่”กัมปัง บารู”

เขตกัมปัง บารู พื้นที่ของชนพื้นเมืองมาเลย์ ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย และถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีราคาที่ดินสูงที่สุดในกรุงกัวลาลัมเปอร์

ท่ามกลางความเจริญเติบโตอย่างไม่หยุด แต่ในกัมปัง บารู ก็ยังมีพื้นที่ที่ยังไม่ถูกความเจริญเบียดบัง เป็นพื้นที่ที่มีอยู่แค่ราว 1.2 ตารางกิโลเมตรของชนพื้นเมืองมาเลย์แท้ๆ ที่ที่ชาวบ้านอยู่กันแบบง่ายๆ บ้านเรือนเก่าๆ แก่ๆ ผุพังตามกาลเวลา ชาวบ้านเลี้ยงไก่ เด็กๆ เดินเล่นกันเท้าเปล่า โดยที่เบื้องหลังคือ ตึกแฝดปิโตรนาส สัญลักษณ์อันโดดเด่นของเมืองหลวงแห่งนี้

กลายเป็นพื้นที่ที่สุดท้ายในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่ยังไม่เปลี่ยนไปตามการพัฒนาของประเทศ แม้ว่า กัมปัง บารู จะถูกกำหนดไว้ว่าจะต้องถูกพัฒนาใหม่ในเชิงประวัติศาสตร์เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนามหานครที่มีประชากรอยู่ถึง 7 ล้านคน แต่เจ้าของที่ดินในพื้นที่นี้ซึ่งทั้งหมดเป็นคนเชื้อสายมาเลย์ ต่างมีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง และไม่ยินยอมให้ใครเข้าไปพัฒนาที่ดินแห่งนี้

Advertisement

อัฟเฟนดิ ซาฮารี หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ดินของกัวลาลัมเปอร์ บอกว่า “พวกคุณอยากจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ซอมซ่อที่ปู่ย่าตายายของคุณสร้างมาตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อนหรือ”

“เราไม่อยากเห็นพวกคุณติดอยู่ในกับดักแห่งกาลเวลาเช่นนี้” ซาฮารีกล่าวถึงชาวบ้านที่ไม่ยอมให้ทางการเข้าไปพัฒนาที่ดินแห่งนี้

ขณะที่ฮาชีมาห์ ยุน หนึ่งในชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณที่ดินแห่งนี้ บอกว่า ปู่ย่าตายายของเธอได้ที่ดินผืนนี้มาด้วยเลือดและเงิน ดังนั้น เธอจะไม่ยอมขายที่ดินแห่งนี้เด็ดขาด ไม่ว่าจะได้เงินมากแค่ไหนก็ตาม

Advertisement

ทั้งนี้ ประเทศมาเลเซีย ประเทศที่มีประชาชนมาจากหลายเชื้อชาติ พยายามที่จะสร้างสมดุลให้กับชนเชื้อชาติต่างๆ ในมาเลเซีย และปี ค.ศ.1900 ได้กำหนดให้กัมปัง บารู หรือหมู่บ้านใหม่ เป็นเขตพิเศษสำหรับชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่แห่งนี้ถูกชาวจีนเข้าไปครอบงำท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองหลวงแห่งนี้ และกลายเป็นเขตของชนพื้นเมืองมาเลย์จนถึงปัจจุบัน

หากแต่ความหวงแหนในพื้นที่ที่บรรพบุรุษได้มาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย ที่ถูกเรียกว่า “กับดักแห่งกาลเวลา” นั้น ไม่รู้ว่าจะสามารถทานแรงของอำนาจเงินได้มากน้อยแค่ไหน และอีกนานเท่าไหร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image