คอลัมน์ Think Tank: เฟดทำงานอย่างไร

(FILES) (Photo by Brendan Smialowski / AFP)

กองทุนสำรองแห่งรัฐหรือธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) เป็นเป้าหมายในการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากรัฐบาลและนักลงทุนทั่วโลกจากที่การตัดสินใจของพวกเขาสามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก แต่อันที่จริงแล้วเฟดมีวิธีการทำงานอย่างไร?

เฟดก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 1913 ในสมัยของประธานาธิบดีวู้ดโรว์ วิลสัน

เฟดไม่เหมือนกับธนาคารกลางส่วนใหญ่ อาทิ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่มุ่งเน้นไปที่การควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำแต่เพียงอย่างเดียว แต่สภาคองเกรสของสหรัฐได้กำหนดให้เฟดมี “หน้าที่สำคัญ 2 ประการ” ในการส่งเสริมการจ้างงานอย่างเต็มที่และสร้างเสถียรภาพด้านราคาด้วยการกำหนดนโยบายการเงิน

นอกจากนี้เฟดยังเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีหน้าที่ออกกฎระเบียบในการควบคุมดูแลธนาคารและสร้างความแน่ใจในความเข้มแข็งและเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งเป็นกลไกที่ได้รับการทดสอบอย่างหนักหน่วงมาแล้วในช่วงวิกฤตการเงินปี 2008

Advertisement

ระบบของเฟดนำโดยคณะกรรมการผู้ว่าการในวอชิงตันที่ประกอบไปด้วยสมาชิก 7 คนที่เสนอชื่อโดยประธานาธิบดีและให้การรับรองโดยวุฒิสภาซึ่งรวมถึงเจอโรม พาวเวลล์ประธานเฟด

นอกจากนี้ยังมีเฟดสาขาภูมิภาคอีก 12 แห่งทั่วประเทศเพื่อเฝ้าติดตามดูแลเศรษฐกิจและธนาคารท้องถิ่น และประธานสาขาได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ของเฟดสาขานั้นๆ

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ประชุมกันปีละ 8 ครั้ง เพื่อหารือกันในเรื่องนโยบายการเงิน อย่างไรก็ตาม พวกเขาสามารถหารือกันได้บ่อยครั้งกว่านั้น แม้แต่ทางโทรศัพท์

เอฟโอเอ็มซีประกอบไปด้วยสมาชิกที่มีสิทธิลงมติ 12 คน ได้แก่ผู้ว่าการ 7 คน ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก และประธานเฟดสาขาท้องถิ่นอีก 4 คนที่หมุนเวียนเข้ามาเป็นคณะกรรมการในแต่ละปี

คองเกรสก่อตั้งเฟดขึ้นมาให้เป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่ดำเนินการโดยอิสระ บรรดาผู้ว่การเฟดมีวาระการดำรงตำแหน่ง 14 ปี เพื่อไม่ให้เกิดอิทธิพลต่อวาระการเลือกตั้ง และคองเกรสไม่ได้ให้เงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานของเฟด

แม้ว่าประธานเฟดจะต้องรายงานต่อคองเกรสปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการยินยอมให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อนโยบายของเฟด แต่ประธานาธิบดีในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้งดเว้นจากการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะในเรื่องอัตราดอกเบี้ย ทว่าโดนัลด์ ทรัมป์ได้โจมตีเฟดซ้ำๆ โดยระบุว่าเฟด “บ้าไปแล้ว” และ “ไม่สามารถควบคุมได้”

เครื่องมือหลักของเฟดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคืออัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารพาณิชย์ต้องจ่ายในการกู้ยืมระยะสั้น ซึ่งในทางหนึ่งส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อรถยนต์ หุ้นกู้ และสินเชื่ออื่นๆ

และจากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้นทำให้ธุรกิจต้องลงทุนโดยใช้เงินมากขึ้นและผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้นในการซื้อสินค้าซึ่งมีแนวโน้มทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงและลดอัตราเงินเฟ้อ

ขณะที่การลดอัตราดอกเบี้ยหรือการกำหนดนโยบายแบบ “ผ่อนคลาย” มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายและส่งเสริมอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image