คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ฆาตกรรมในสถานกงสุล

REUTERS/Murad Sezer

ทอดเวลาห่างกันเพียง 1 สัปดาห์ หลังจากที่ผมเขียนถึงคดีพิสดารของ จามาล คาช็อกกี และห่างจากวันเกิดเหตุครั้งแรกเมื่อ 2 ตุลาคม เพียงแค่ 2 สัปดาห์เศษ แต่ช่วงเวลาสั้นๆ ดังกล่าวนั้นมากพอที่จะทำให้หลายๆ อย่างที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงพลิกผันไปสารพัด

จากคดีหายตัวแบบประหลาดพิสดาร กำลังส่อแนวโน้มจะเป็นคดีฆาตกรรมภายในสถานกงสุล ที่ทั้งอุกอาจ ป่าเถื่อนถึงขีดสุด และกำลังคุกคามบานปลายออกไปเป็นวิกฤตการทางการเมืองระหว่างประเทศที่ซับซ้อนมากที่สุดครั้งหนึ่งในตะวันออกกลาง ทั้งยังอาจกลายเป็นวิกฤตการเมืองอีกครั้งสำหรับประธานาธิบดีอเมริกันอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์และรัฐสภาสหรัฐทั้งๆ ที่กำลังจะมีเลือกตั้งอยู่ในอีกไม่กี่เพลาข้างหน้า

ที่สำคัญก็คือ มีรายละเอียดของเหตุการณ์เพิ่มขึ้นอีกมาก มากพอที่จะทำให้ทั้งโลกได้ล่วงรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นภายในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ณ นครอิสตันบุลในบ่ายวันนั้น

ได้รู้ว่า จามาล คาช็อกกี ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้มีปัญหาใดๆ กับคู่หมั้นสาวชาวตุรกี ที่กำลังจะแต่งงานกันในอีกไม่กี่วัน หากแต่เป็นการเสียชีวิตกระทันหันจากการฆาตกรรมอำมหิต ที่กลายเป็นภาพสะท้อนของความเป็นจริงอีกด้านของซาอุดีอาระเบียในเวลานี้

Advertisement

ข้อมูลทั้งหมด ได้จากการเปิดเผยออกมาเป็นระยะๆ จากสิ่งที่หน่วยข่าวกรองของตุรกีมีอยู่ในมือตั้งแต่เริ่มแรก แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ รูปแบบและจังหวะเวลาของการปล่อยเรื่องราวออกมาก ล้วนมีนัยะ ล้วนเชื่อมโยงกับการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคอย่างยิ่ง

การตายของ จามาล คาช็อกกี ถึงตอนนี้ ไม่ได้เป็นการเสียชีวิตธรรมดาๆ ไม่ใช่เหยื่อฆาตกรรมปกติทั่วไปอีกต่อไปแล้ว แต่กำลังส่งผลให้เกิดการเปลี่่ยนแปลงอย่างรุนแรงในหลายๆ ด้าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ของ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน องค์มกุฏราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุด ผู้บริหารประเทศตัวจริงแห่งซาอุดีอาระเบีย

เหตุฆาตกรรมในสถานกงสุลครั้งนี้ เปิดเผยให้เห็นโฉมหน้าอีกด้านหนึ่งของรัชทายาทวัย 33 ปี ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในซาอุดีอาระเบียสั้นๆ ว่า “เอ็มบีเอส” ผู้นี้ ที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกตะวันตก

เพราะอีกด้านที่ได้เห็นกันกระจะ กระจะ จากเหตุการณ์นี้เป็น “ด้านมืด” ของเจ้าชายหนุ่มผู้นี้!

 

 

ตอนที่ จามาล คาช็อกกี เดินผ่านประตูด้านหน้าของสถานกงสุล ที่มีสัญลักษณ์ตราแผ่นดินรูปดาบไขว้และต้นปาล์มทำจากทองเหลืองขัดเงาวาววับเข้าไปภายในอาคารแห่งนั้นเมื่อเวลา 13.15 น. ของวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อพบกับ “สุลต่าน” เจ้าหน้าที่ประจำสถานกงสุล เพื่อรับเอกสารรับรองการหย่าร้างอย่างเป็นทางการตามนัดหมายนั้น

นิวยอร์ก ไทมส์ ได้รับคำบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยข่าวตุรกีว่า ถึงตอนนั้น กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งซึ่งทะยอยเดินทางเข้าสถานกงสุลมาก่อนหน้านั้นเพียงไม่ช้าไม่นานรอคอยอยู่ก่อนแล้ว

คนทั้ง 15 คน แยกกันเดินทางเข้าตุรกีมาเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ตรงจากกรุงริยาดห์ มายังอิสตันบุลรวมทั้งสิ้น 9 คน อีกกลุ่ม 6 คนเดินทางด้วยเครื่องบินพาณิชย์ตามเส้นทางบินปกติ ทั้งหมดผ่านระบบตรวจคนเข้าเมืองของตุรกีได้อย่างรวดเร็วเพราะถือพาสปอร์ตทางการทูต

คนทั้ง 15 รอคอยการมาถึงของ คาช็อกกีอยู่ภายในห้องทำงานของ โมฮัมหมัด อัล-โอทาอิบี กงสุลใหญ่ซาอุดีอาระเบียประจำตุรกี

เจตนาในการเดินทางมาอิสตันบุลเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเศษๆ ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับนั้น เปิดเผยออกมาอย่างหมดจด ทันทีที่เจ้าหน้าที่นำ คาช็อกกี เดินเข้ามายังห้องทำงานของท่านกงสุล

ส่วนหนึ่งของคนกลุ่มดังกล่าว ตรงเข้าจับตัว คาช็อกกี ในแทบจะทันที และแล้วโดยที่ไม่มีการพูดพล่ามทำเพลง การทุบตีและทรมานก็เกิดขึ้นตามมา

ถึงตอนหนึ่งเสียงกรีดร้องของคาช็อกกีดังโหยหวนขึ้นเมื่อนิ้วมือถูกตัดทิ้ง ไม่นานเสียงร้องก็ค่อยๆ ซาลงและเงียบไปในที่สุด

ถึงตอนนี้ เสียงของท่านกงสุล อัล-โอทาอิบี ดังแทรกขึ้นได้ยินชัดเจน “เอาไปทำกันข้างนอก พวกแกกำลังจะทำให้ฉันตกที่นั่งลำบาก”

คำที่ตอบสวนกลับมาในฉับพลันคือ “ถ้ายังอยากมีชีวิตอยู่เมื่อกลับไปอาระเบียละก็ หุบปากซะ”

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่อาวุโสของตุรกีบอกกับ นิวยอร์ก ไทมส์ ตรงกันกับที่ มีเจ้าหน้าที่อีกรายเปิดเผยกับ เยนี ซาฟัค หนังสือพิมพ์ในท้องถิ่นของตุรกี ที่เหมือนๆ กับหนังสือพิมพ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ที่นั่นในเวลานี้ คือ ถ้าไม่หนุนรัฐบาลสุดกู่ ก็มีเจ้าของเป็นคนในพรรคหรือในรัฐบาลทั้งสิ้น

ทั้งนิวยอร์ก ไทมส์ และ เยนี ซาฟัค ได้ข้อมูลตรงกันว่า สิ่งที่ตามมาคือกระบวนการ “ตัดศีรษะ” และ “แยกชิ้นส่วนร่างกาย”

ผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวคือ 1 ในทีมสังหาร 15 คน ที่มีรายงานข่าวระบุก่อนหน้านี้ว่า เป็น เจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพและนักนิติวิทยาศาสตร์อันดับสุดยอดของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีประสบการณ์คร่ำหวอดอยู่กับศพมาไม่น้อยกว่า 20 ปี

ชื่อของผู้เชี่ยวชาญรายนี้คือ นายแพทย์ ซาลาห์ อัล-ทูไบกี

ก่อนที่จะเริ่มต้นกระบวนการ “ชำแหละ” อัล-ทูไบกี คว้าหูฟังขึ้นมาครอบหูตนเองพลาง บอกกับเพื่อนร่วมทีมฆาตกรรมด้วยน้ำเสียงราบเรียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นว่า

“ถ้าไม่อยากเครียดก็ฟังเพลงซะ ผมทำอย่างนี้ทุกครั้งเพื่อคลายเครียดระหว่างทำงานตามหน้าที่”
เจ้าหน้าที่ข่าวกรองตุรกี บอกกับนิวยอร์ก ไทมส์ ว่า กระบวนการสังหารครั้งนี้กินเวลาเพียง 7 นาที หลังจากนั้นเป็นการเก็บกวาด จัดการกับศพ

ภายใน 2 ชั่วโมงถัดมา ทีมสังหารก็แยกย้ายกันใช้รถ 2 คันติดทะเบียนทางการทูตเดินทางกลับไปยังสนามบิน เดินทางกลับริยาดห์ โดยแวะผ่านไคโรหนึ่งคืน

รถอีกคัน เดินทางไปในทิศทางตรงกันข้าม มุ่งหน้าสู่ทิศทางที่เป็นบ้านพักของท่านกงสุลซาอุดีอาระเบีย….
เจ้าหน้าที่ตุรกียอมรับกับนิวยอร์ก ไทมส์ว่า บอกได้ยากมากว่า ตอนที่แยกชิ้นส่วนร่างกายแล้วถูกตัดหัวนั้น จามาล คาช็อกกี ตายหรือยัง!

 

 

คำถามที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ รายละเอียดทั้งหมดข้างต้นนั้นมาจากไหน? คำตอบเบื้องต้นก็คือ มาจากเสียงที่บันทึกได้ระหว่างเกิดเหตุการณ์ในห้องทำงานของท่านกงสุลซาอุดีอาระเบีย แต่ทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของตุรกี ที่บอกกับนิวยอร์ก ไทมส์ และเจ้าหน้าที่ที่เปิดเผยเรื่องนี้กับเยนี ซาฟัค ไม่บอกเด็ดขาดว่า เสียงที่ว่านั้น “ได้มาอย่างไร”

นี่อาจเป็นไปได้ว่า แหล่งที่มาของเสียงที่บันทึกได้นั้นมาจากอุปกรณ์ดักฟังเสียง ซึ่งรัฐบาลตุรกีไม่เต็มใจที่จะยอมรับ เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับว่า ได้ลงมือกระทำการอันเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
หรือไม่ก็เพราะเกรงว่า จะกลายเป็นการเปิดโปง “แหล่งข่าวกรอง” ชั้นดีที่ตนเองมีอยู่ในมือ

จังหวะเวลาของการเปิดเผยรายละเอียดของเหตุการณ์และเสียงที่บันทึกได้ดังกล่าวก็น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะการเปิดเผยเรื่องฆาตกรรมคาช็อกกีภายในสถานกงสุลนั้น แยกออกได้เป็น 2 ช่วง

ช่วงแรกเป็นการเปิดเผยหลังเกิดเหตุไม่นานเมื่อราววันที่ 6 ตุลาคม แล้วก็ยุติลง ทั้งการปล่อยข่าวให้สื่อต่างประเทศ และการปล่อยข่าวให้กับสื่อในท้องถิ่น

เพิ่งจะมีการเปิดเผยรายละเอียดกันออกมาอีกครั้งเมื่อราว 10 วันให้หลัง หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทีเรื่องนี้ออกมา

ตอนนั้นสื่ออเมริกันหลายสำนัก รวมทั้ง ซีเอ็นเอ็น และ วอชิงตัน โพสต์ ซึ่งคาช็อกกี เป็นคอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ “เวิร์ลด์วิว” อยู่ เปิดเผยแผนของทางการซาอุดีอาระเบีย (หลังการหารือกับทรัมป์?) ว่าเตรียมการที่จะยอมรับการสังหาร จามาล คาช็อกกี

เตรียมการที่จะบอกกับโลกว่า เจ้าชายเอ็มบีเอส เป็นผู้ออกคำสั่งให้ “สอบปากคำ” คาช็อกกี เพราะต้องสงสัยว่า เป็นสมาชิกของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองของมุสลิมอย่างขบวนการภราดรภาพมุสลิม (มุสลิมบราเธอร์ฮูด) กับรีดความจริงเกี่ยวกับข้อสงสัยที่ว่า คาช็อกกี รับเงินสนับสนุนจากทางการกาตาร์ คู่กรณีความขัดแย้งทางการทูตกับซาอุดีอาระเบียจริงหรือไม่

เตรียมที่จะยอมรับว่า มีแผนที่จะ “วางยา” คาช็อกกี เพื่อนำตัวกลับประเทศ แต่ทีมเจ้าหน้าที่กลับลงมือ “ผิดพลาด” จนเป็นเหตุให้ “ถึงแก่ความตาย”

ถือเป็นการ “จัดการงานนอกสั่ง” ของทีมเท่านั้น เอ็มบีเอส ไม่ได้สั่งการให้สังหารแต่อย่างใดทั้งสิ้น

การเตรียมการดังกล่าว เป็นจริงเป็นจังมาก ถึงขนาดที่สื่อหลายสำนักเชื่อว่าจะมีการแถลง “ทางลง” ของทางการซาอุดีอาระเบียดังกล่าวอยู่รอมร่อ ตอนที่รายละเอียดเกี่ยวกับตัวบุคคลในทีมสังหาร และรายละเอียดของการสังหารจะปรากฏออกมา

ในรายละเอียดข้างต้น มีอยู่ 2 ประเด็นที่ทำให้ข้ออ้างที่ว่า เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติการของทีมสังหาร ที่ทำงานนอกสั่งเป็นไปไม่ได้

อย่างแรกคือ แทบไม่มีการสอบปากคำ จามาล คาช็อกกี เลยแม้แต่น้อย ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสิ้นสุดอย่างรวดเร็ว ภายใน 7 นาที

ไม่มีทีมสอบปากคำไหนสามารถได้ข้อมูลอะไรจากการวิธีการสอบปากคำเช่นนั้น

ถัดมาก็คือ การปรากฏอยู่ในทีมตั้งแต่เริ่มแรกของ นายแพทย์ ซาลาห์ อัล-ทูไบกี นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการชำแหละศพและชำนาญการด้านนิติวิทยาศาสตร์

ถ้าไม่คิดฆ่าแล้วปกปิดหลักฐาน นายแพทย์ ซาลาห์ อัล-ทูไบกี แทบไม่มีความจำเป็นใดๆ ในการเป็นส่วนหนึ่งของทีมในครั้งนี้เลย

 

 

สิ่งที่เราได้รับรู้ผ่านโลกของข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันนี้ก็คือ ในจำนวน 15 คนของทีมสังหาร มีอย่างน้อย 4 คน ที่ถูกระบุตัวออกมาชัดเจนอย่างยิ่งว่า ถ้าหากไม่เป็น องครักษ์ประจำราชสำนัก ก็เป็น องค์รักษ์ประจำตัว ผู้ทำหน้าที่อารักขา เจ้าชาย เอ็มบีเอส

3 คนในจำนวนนั้น ถูกนิวยอร์ก ไทมส์ ระบุว่า คือ อับดุลลาซิซ โมฮัมเหม็ด อัล-ฮอว์ซาวี, ทาอาร์ กาเหล็บ อัล-ฮารบี และ มูฮมเหม็ด ซาอัด อัลซาห์รานี ทั้ง 3 รายนี้ถูกระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีมราชองค์รักษ์หรือทีมอารักขาเอ็มบีเอส

คนสุดท้าย คือ มาเฮอร์ อัลดุลลาซิซ มูเทร็บ คือคนที่ถูกระบุว่า เป็นผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบในรายละเอียดของมาตรการรักษาความปลอดภัยประจำตัวของ เจ้าชายเอ็มบีเอส ทุกครั้งที่เสด็จฯไปไหนต่อไหน รวมทั้งเคยถูกพบเห็นและถ่ายภาพไว้ได้ว่า ลงจากเครื่องบินพร้อมเจ้าชายและยืนถวายอารักขาในระหว่างการเดินทางเยือน ปารีส, มาดริด, ฮุสตัน, บอสตัน และ ล่าสุด สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก

การฆาตกรรมในสถานกงสุลเกิดขึ้นชัดเจน อย่างน้อย 4 คนในทีมสังหารคือคนใกล้ตัวของ เอ็มบีเอส

วิกฤตครั้งนี้ยิ่งนับวันยิ่งเข้มข้นคุกรุ่นอย่างยิ่งแล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image