คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: “จามาล คาช็อกกี” กับ “เอ็มบีเอส”

โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (เอ็มบีเอส) (Photo by FAYEZ NURELDINE / AFP)

จนถึงขณะนี้ เป็นที่กระจ่างชัดแล้วว่า จามาล คาช็อกกี ถูกสังหารอย่างเลือดเย็นภายในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ณ นครอิสตันบูล แม้ว่าทางการซาอุดีอาระเบียจะพยายามเปลี่ยนคำบอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร ข้อเท็จจริงประการนี้ไม่อาจปกปิดได้อีกต่อไปแล้ว

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ แล้วทำไมต้องฆ่า นักเขียน นักหนังสือพิมพ์และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในตะวันออกกลางรายนี้?

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อทุกคนในซาอุดีอาระเบียรู้ดีว่า จามาล คาช็อกกี ไม่ใช่ “โนบอดี้” ที่สามารถหายตัวไปเฉยๆ ได้อย่างแน่นอน

โดยกำเนิด จามาล เป็นบุคคลในตระกูล คาช็อกกี ที่มีเครื่อข่ายกว้างขวางทั้งภายในและภายนอกประเทศ “อัดนัน คาช็อกกี” ผู้เป็นลุงของ จามาล คือนายหน้าค้าอาวุธระดับโลก รู้จักกันดีตั้งแต่วอชิงตันยันอินเดีย รวมถึงในประเทศไทย เคยพัวพันอยู่เป็นส่วนหนึ่งของกรณี “อิหร่าน-คอนทรา” คดีค้าอาวุธพิสดารที่เป็นหนึ่งในรอยด่างในประวัติการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ โรนัลด์ เรแกน (อัดนัน เสียชีวิตไปเมื่อกลางปี 2017 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ)

Advertisement

โดยสายเลือด จามาล ถือว่าเป็น ลูกของลูกพี่ลูกน้อง (เซกันด์ คัสซิน) ของ โดดี อัลฟาเยด ทายาทอัครมหาเศรษฐีเจ้าของ “แฮร์ร็อด” ห้างสรรพสินค้าดังในลอนดอน ที่รู้จักกันทั่วโลกในฐานะ “คนรัก” ของ เลดี้ ไดอานา “เจ้าหญิงของมวลชน”

ซึ่งทำให้ช่วยไม่ได้ที่นักทฤษฎสมคบคิดจะเชื่อมโยงการฆาตกรรม จามาล เข้ากับกรณีอุบัติเหตุในอุโมงค์กลางกรุงปารีสเมื่อหลายปีก่อน ทั้งๆที่ ไม่น่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันใดๆ ได้

โดยศักยภาพส่วนตัว จามาล ได้ชื่อว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ได้รับความเคารพ ชื่นชมยกย่องไม่เพียงจากงานเขียนแหลมคมลุ่มลึก ทั้งสำหรับสื่อในซาอุดีอาระเบีย และสื่อระดับสากล ยังเป็นเพราะการมีเส้นสายแหล่งข่าวใกล้ชิดในระดับสูงทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง จนถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญการเมืองในภูมิภาคนี้สูงสุดอีกด้วย

Advertisement

จามาล เคยทำหน้าที่เป็น “บรรณาธิการบริหาร” หนังสือพิมพ์ชื่อดังของประเทศอย่าง อัล-วาตัน ถึง 2 ช่วง ทั้ง 2 ครั้งเขาถูกบีบให้ต้องลาออกจากตำแหน่งจากข้อเขียนเชิงวิพากษ์ของตนเอง

สมัยยังหนุ่มแน่น จามาล ในวัยสามสิบเศษ เคยมีความคิดเห็นเอนเอียงไปในทางเดียวกันกับแนวความคิดของ โอซามา บิน ลาเดน และนักรบมูจาฮิดีนในอัฟกานิสถาน ถึงขนาดดั้นด้นไปพบและสัมภาษณ์บิน ลาเดน ถึงฐานที่มั่นในประเทศนั้น

ว่ากันว่า สิ่งหนึ่งซึ่ง จามาล ไม่เห็นด้วยและพยายามกดดันให้ บิน ลาเดน ยืนยันออกมาในระหว่างการสัมภาษณ์คือ การละทิ้งแนวทางใช้ความรุนแรง ซึ่งไม่ประสบผล

 

 

จามาล คาช็อกกี มี “เครือข่าย” ของตัวเองภายในศูนย์กลางแห่งอำนาจของซาอุดีอาระเบียมากชนิดที่มีผู้สื่อข่าวน้อยคนนักสามารถมีได้ เขาล่วงรู้เกี่ยวกับการจับกลุ่มเป็นพันธมิตร และการแข่งขันซึ่งกันและกันในบรรดา “เจ้าชาย” ทั้งหลาย

แต่ในเวลาเดียวกัน จามาล ก็เป็นสามัญชนเต็มตัว สามารถกลมกลืนไปกับผู้คนธรรมดารอบตัวได้อย่างน่าทึ่ง พูดจาด้วยศัพท์แสงสามัญ ทันสมัย ไม่วางตัวอยู่เหนือผู้คนเหมือนชนชั้นสูงส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่เห็นหัวคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่ในหลายๆสถานที่ที่เขาเดินทางไป มีผู้คนทั่วไปเข้ามาขอลายเซ็น และขอเซลฟีด้วยเป็นเรื่องปกติ

สิ่งสำคัญที่ จามาล เรียนรู้และนำมาใช้ปฏิบัติมาบ่อยครั้งก็คือ จะเคลื่อนไหวอย่างไรถึงจะ “ปลอดภัย” อยู่ภายใต้การคุ้มครองในระหว่างการเปลี่ยนแปลงภายในราชสำนักของซาอุดีอาระเบีย

ครั้งหนึ่ง จามาล คาช็อกกี เคยรับมอบภารกิจก่อตั้ง สถานีโทรทัศน์ให้ เจ้าชาย อัลวาลีด บิน ทาลัล ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกอาหรับในเวลานี้ ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาใกล้ชิดซึ่ง เจ้าชาย ตุรกี อัล-ไฟซาล ไว้วางใจเมื่อครั้งที่ราชนิกุลผู้นี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับของประเทศ

ในตอนแรกเริ่ม จามาล มองการผงาดขึ้นสู่อำนาจของ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หรือ เอ็มบีเอส ว่าน่าจะเป็นโอกาสอันดีของประเทศ โดยคิดว่า เจ้าชายหนุ่มวัย 33 ปี อาจเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความทันสมัยได้

แต่ไม่ช้าไม่นาน จามาลเริ่มแปลกแยกและคิดเห็นต่างกับเอ็มบีเอสมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะย่างยิ่งเมื่อได้เห็นพฤติกรรมอำนาจนิยมของ เอ็มบีเอส แสดงออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง จามาลเริ่มวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของเจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน โจมตีปฏิบัติการทางทหารในเยเมน และยิ่งวิจารณ์ความเป็น “หุ้นส่วน” ใกล้ชิดระหว่างซาอุดีอาระเบียกับฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มากขึ้นเรื่อยๆ
จามาล คาช็อกกี รู้ดีเกี่ยวกับความปลอดภัยของตัวเอง จนกระทั่งตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ หลังจากได้เห็นเพื่อนพ้องในแวดวงเดียวกันถูกจับกุมคุมขัง และตัวเองถูกห้ามตีพิมพ์ข้อเขียนใดๆ ในสื่อภายในประเทศอีก

ด้วยเหตุผลที่เขาบอกกับ แดร์ สปีเกล เมื่อไม่นานก่อนเสียชีวิตว่า ตั้งแต่ เอ็มบีเอส ก้าวขึ้นเป็นรัฐทายาท “มีการตอบโต้ ล้างแค้นกันขึ้นอย่างรวดเร็ว และเฉียบพลัน” และการตัดสินใจเลือกมาใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา จะยังผลให้

“ผมยังคงสามารถพูดต่อได้ ในขณะที่คนอื่นๆ ถูกปิดปาก”

การตัดสินใจแหกคอกของจามาล ส่งผลให้ต้องจ่ายค่าตอบแทนสูงไม่น้อย ภรรยายื่นฟ้องหย่า บรรดาเครือญาติตัดขาดการติดต่อ แต่ จามาล ยังยืนกรานทำหน้าที่ของตนต่อไป

เมื่อหน้าร้อนที่ผ่านมาราชสำนักซาอุด พยายามครั้งสุดท้ายเพื่อสานสัมพันธ์กับจามาล คาช็อกกี ด้วยข้อเสนอให้เดินทางกลับไปรับตำแหน่ง “ที่ปรึกษา” ของ “เอ็มบีเอส”

จามาล ปฏิเสธ โดยไม่รู้ว่า นั่นอาจเป็นการปฏิเสธที่ชี้ขาดชะตากรรมของตนเอง!

 

 

เมื่อ “อาหรับสปริง” หมดพลังจากความโกลาหล จากปากกระบอกปืน และจากการก่อการร้าย อิสตันบุล กลายเป็น “ที่มั่นสุดท้าย” ของบรรดาผู้คนที่แตกกระสานซ่านกระเซ็นออกมาจากสถานการณ์เหล่านั้น ตั้งแต่ กบฏในสังกัดกองทัพซีเรียเสรี เรื่อยไปจนถึงฝ่ายค้านที่ต่อต้านระบอบการปกครองของทหารจากการปฏิวัติในอียิปต์ แม้กระทั่ง อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลเยเมน หรือ อดีตสมาชิกรัฐสภาของคูเวต

จามาล คาช็อกกี เดินทางไปมาระหว่าง แม็คลีน เมืองในเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกากับอิสตันบุลของตุรกีบ่อยครั้ง ไม่ใช่เพียงเพราะ ฮาทิเช เชนกิซ คนรู้ใจคนใหม่ที่พื้นเพอยู่ในนครอิสตันบุลแห่งนี้ และไม่ใช่เป็นเพราะ เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน เพื่อนที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของตนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเพราะ จามาล กำลังพยายามฟื้นฟูกระแสอาหรับสปริงขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เริ่มตั้งแต่การรวบรวมผู้คนที่เป็น “หัวขบวน” ในชาติอาหรับทั้งหลาย มาร่วมกันขบคิดและนำเสนอแนวทาง “ประชาธิปไตย” สำหรับชาติอาหรับขึ้นมาใหม่ เผยแพร่อย่างเป็นทางการ

พูดคุยกันถึงขนาดที่ว่า นี่จะเป็นเวอร์ชันใหม่ของอาหรับสปริง เป็น “อาหรับสปริง2.0” ที่นุ่มนวลกว่าเดิม หนักแน่นกว่าเดิมแต่มุ่งมั่นและจริงจังมากกว่าทุกครั้งที่เป็นมา

เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวให้แพร่หลายและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ จามาล กำลังเตรียมก่อตั้ง องค์กรชื่อ “ประชาธิปไตยสำหรับโลกอาหรับ” (Democracy for the Arab World Now-DAWN) หรือ “ดอว์น” ซึ่งจะจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาขึ้นมา

จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดของ “ดอว์น” และ “อาหรับสปริง2.0” หนีไม่พ้น อิสตันบูล ที่พวกเขาสามารถสุมหัว ถกแถลงและเตรียมแผนดำเนินการทั้งหลายได้อย่างเต็มที่

จามาล สนับสนุน อาหรับสปริง และเชื่อว่า แนวทางของมุสลิม บราเธอร์ฮูด หรือขบวนการภราดรภาพมุสลิม คือขบวนการทางการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกอาหรับไปสู่ประชาธิปไตย ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การกำจัดขบวนการนี้ ตีตราเป็นขบวนการก่อการร้าย ก็ไม่ต่างอะไรกับการทำลายการเมืองในรูปแบบประชาธิปไตย
ทิ้งให้โลกอาหรับยังคงจมอยู่กับระบอบอำนาจนิยมและฉ้อฉลอย่างต่อเนื่องต่อไป

แต่สำหรับ เอ็มบีเอส ภารดรภาพมุสลิม คือภัยคุกคาม คือขบวนการก่อการร้ายที่ทั่วทั้งโลกต้องประนาม

หรือนี่คือฟางอีกเส้นบนหลังลาที่นำไปสู่ความตายแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ของจามาล คาช็อกกี!

 

 

มีความพยายามให้เหตุผลอันเป็นที่มาาของคำสั่งสังหาร จามาล คาช็อกกี หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การระบุว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของ “แบบฉบับ” ในการจัดการกับฝ่ายต่อต้านอำนาจการปกครองของซาอุดีอาระเบีย

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ประมวลเอาไว้ว่า นับตั้งแต่ เอ็มบีเอส ก้าวขึ้นมามีอำนาจในเดือนกันยายนปี 2017 มีผู้สื่อข่าว 15 คนหายตัวไป การจับกุมคนเหล่านี้มักมีการประกาศให้รับรู้อย่างเป็นทางการหลังจากการหายตัวไปนานหลายเดือน

ข้อมูลที่มาจากการให้สัมภาษณ์ของเอ็มบีเอสเองต่อสำนักข่าวบลูมเบิร์ก แสดงให้เห็นว่า 3 ปีที่ผ่านมามีชาวซาอุดี 1,500 คนถูกจับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ “ไม่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้น” หลายคนในจำนวนนั้น “มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานข่าวกรองต่อต้านรัฐซาอุดี หรือไม่ก็เป็นกลุ่มสุดโต่งหรือก่อการร้าย” เท่านั้น

อดัม คูเกิล แห่งฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาอยู่ที่การจำแนกแยกแยะคดีเหล่านั้น เพราะผู้ต้องหาจำนวนมากที่ถูกระบุว่า ก่ออาชญากรรมต่อต้านรัฐ หรือก่อการร้าย และถูกพิพากษาโดยศาลอาชญากรรมพิเศษ ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรับมือกับการก่อการร้ายโดยเฉพาะนั้น บ่อยครั้ง เป็นเพียงแค่คนที่เรียกร้องการปฏิรูปการเมือง เปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เท่านั้นเอง

โทษทัณฑ์สำหรับความผิดดังกล่าวนั้นมีสถานเดียวคือ ประหารชีวิต ซึ่งในซาอุดีอาระเบียหมายถึงการตัดศีรษะเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญกิจการอาหรับหลายคนบอกตรงกันประการหนึ่งว่า การลอบสังหารอย่างอำมหิตแล้วทำลายซากศพเพื่อกลบเกลื่อนนั้น ออกจะเป็นการออกนอกลู่นอกทาง “จารีตปฏิบัติ” สำหรับราชสำนักซาอุด อยู่ไม่น้อย ที่ทำกันจนเป็นสามัญปกติก็คือการใช้เงินเป็นเครื่องมือ ในการดึงฝ่ายตรงกันข้ามมาเป็นพวก

แต่นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า “เอ็มบีเอส” ไม่ใช่คนที่ยึดติดกับจารีตใดๆ เหล่านั้น

บางคนเชื่อว่า เจ้าชายหนุ่มพร้อมที่จะทำอะไรก็ได้กับใครก็ตามที่พยายามสร้างมลทินให้กับภาพลักษณ์ที่พยายามปั้นแต่งมาอย่างพิถีพิถันยาวนานของตนเอง ไม่ว่าเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม

อาจบางที คนที่ให้ความเห็นเรื่องนี้ได้ดีที่สุดน่าจะเป็น ลูลูวา อัล-ราชิด ผู้อำนวยการร่วม ศูนย์คาร์เนกีตะวันออกกลาง ในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน

ลูลูวา ไม่เพียงเป็นหนึ่งในเครือญาติของ เอ็มบีเอส เท่านั้น ยังเป็น “เพื่อนเล่น” กับเจ้าชายหนุ่มมาด้วยกันตั้งแต่ยังเยาว์ แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว ลูลูวา ต้องระเห็จมาทำงานวิชาการอยู่ในเบรุตก็ตาม

เอ็มบีเอส ในทัศนะของลูลูวา ต่างออกไปจากเจ้าชายอื่นๆ รวมทั้งพี่น้องของตนเอง เพราะไม่เคยศึกษาในต่างประเทศ เรียนรู้และซึมซับโลกทัศน์ภายนอก หากแต่สำเร็จการศึกษาในซาอุดีอาระเบีย

“ที่ผ่านมา ไม่เคยมีกษัตริย์ซาอุดีอาระเบียพระองค์ไหนเป็นที่หวั่นกลัว หวาดหวั่นของคนทั่วไป ความเหี้ยมโหด ไม่ใช่เครื่องหมายการค้าของกษัตริย์เหล่านั้่น เอ็มบีเอส ต้องการเปลี่ยนสิ่งนี้” เธอระบุ

“เขาต้องการให้ทุกคนหวาดกลัว กลัวตัวเขาเหมือนที่ทุกคนเคยกลัวซัดดัม ฮุสเซน” และสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานกงสุลในสายตาของ ลูลูวา นั้่น เป็นพฤติกรรมที่สะท้อนตัวตนของเอ็มบีเอสได้ดีที่สุด

“เอ็มบีเอส กำลังทำตัวเหมือนเด็กถูกสปอยล์ ซึ่งเพิ่งได้รับอำนาจเผด็จการมาอยู่ในมือใหม่ๆ เท่านั้นเอง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image