คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ทรัมป์ กับ เลือกตั้ง2018

(AP Photo/Susan Walsh)

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ คือการเลือกตั้งกลางวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หรือที่คนอเมริกันเรียกว่า “มิดเทอม อีเลคชัน” เป็นกระบวนการเลือกตั้ง “บางส่วน” ของสมาชิกสภานิติบัญญัติของสหรัฐอเมริกา ที่จะหมดวาระดำรงตำแหน่งลงในช่วงกลางวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

เป้าหมายก็เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ยังคงสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดลงพร้อมๆ กับวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ซึ่งเป็นประมุขฝ่ายบริหาร

การเลือกตั้งกลางวาระ มีทั้ง การเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ, การเลือกตั้งวุฒิสมาชิก 35 ที่นั่งจากจำนวนทั้งหมด 100 ที่นั่ง และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาซึ่งต้องแข่งขันกันทั้งหมด 435 ที่นั่ง เนื่องจากส.ส. อเมริกัน มีวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 2 ปีเท่านั้น จึงต้องมีการเลือกกันใหม่ทั้งหมดทั้งในปีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและในการเลือกตั้งกลางวาระเช่นในปีนี้

ในการเลือกตั้งส.ส. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2016 ที่ผ่านมา พรรครีพับลิกัน ครองเสียงข้างมากอยู่ด้วยจำนวนส.ส. 235 คน ในขณะที่พรรคเดโมแครตมีส.ส.อยู่ในสภา 193 คน โดยที่จำนวนส.ส.น้อยที่สุดที่จะทำให้พรรคใดพรรคหนึ่งครองเสียงข้างมาก สามารถควบคุมสภาล่างได้คือ 218 เสียง

Advertisement

นั่นหมายความจะมีตำแหน่งส.ส. อย่างน้อยที่สุด 23 เขตเลือกตั้งที่ต้องขับเคี่ยวกันอย่างถึงพริกถึงขิงเพื่อให้พรรคบรรลุเป้าหมายในการครองเสียงข้างมากให้ได้

(ทำไมเป็น 23 ไม่ใช่ 25 ที่จะทำให้เดโมแครตมีส.ส.รวม 218 เสียง? เหตุผลเป็นเพราะใน 435 เสียงนั้นมี ตำแหน่งส.ส.ประเภท “น็อน-โหวตติ้ง” คือเสนอกฎหมายได้แต่ไม่สามารถลงคะแนนเสียงได้อยู่ 6 ตำแหน่ง จึงไม่นับรวมอยู่ในการกำหนดพรรคที่ครองเสียงข้างมากนั่นเอง)

ในทำนองเดียวกัน สภาสูงหรือวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำหนดจำนวนไว้ตายตัวที่ 100 คน แต่ละคนมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี วุฒิสภาจำนวนหนึ่งจะหมดวาระลงในช่วงกลางวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและต้องเลือกตั้งกันใหม่ 35 ตำแหน่งทุกครั้งไป

Advertisement

สัดส่วนที่นั่งในวุฒิสภาอเมริกันในเวลานี้ รีพับลิกัน ครองเสียงข้างมากอยู่เพียงฉิวเฉียด คือ 51 คนอีก 49 คนเป็นเดโมแครต

(ในจำนวนนี้มี วุฒิสมาชิกที่เป็น “อินดีเพนเดนท์ เมมเบอร์” อยู่ 2 คน ซึ่งผมไม่อยากใช้คำว่า “อิสระ” หรือ “ไม่สังกัดพรรค” เพราะจะเข้าใจไขว้เขวกันไปใหญ่ เนื่องจากวุฒิสมาชิกอิสระในสหรัฐอเมริกานั้น ถูกกำหนดโดยกฎหมายของแต่ละรัฐ (อาทิ เนบราสกา เป็นต้น) ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้แต่ต้องไม่อยู่ในนามของพรรคใดพรรคหนึ่ง แม้โดยส่วนตัวของบุคคลนั้นจะเป็นสมาชิกพรรคนั้นก็ตาม)

นั่นหมายความว่าการขับเคี่ยวเพื่อครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาก็น่าจับตามองอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน

 

 

การเลือกตั้งทุกครั้งย่อมส่งผลสะเทือนทางการเมืองหลังการเลือกตั้งไม่มากก็น้อย แต่การเลือกตั้งกลางวาระในปี 2018 มีนัยสำคัญกว่า “มิดเทอม อีเลคชัน” ทุกครั้งที่ผ่านมาด้วยเหตุปัจจัยหลายประการด้วยกัน แต่ทุกประการเหล่านั้น ล้วนเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงถึงผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ในเวลานี้อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งหมด

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และผู้สันทัดกรณีทางการเมืองหลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า นัยสำคัญที่สุดของการเลือกตั้งครั้งนี้คือ การพยายามทำให้ รัฐสภา หรือคองเกรส กลายเป็นผู้ทำหน้าที่ทั้ง “กำกับดูแล” และ “ตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจ” ของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งยิ่งนับวันยิ่งมีแนวโน้มดำเนินนโยบายไปในทางที่ “สุดโต่ง” มากขึ้นทุกที

เป็นการก้าวไปแบบ “สุดโต่ง” ได้ เพราะคองเกรส ที่อยู่ภายใต้การครอบงำของพรรครีพับลิกัน ไม่ยอมทำหน้าที่ หรือไม่สามารถทำหน้าที่ ทั้งกำกับดูแล และทั้งตรวจสอบ ถ่วงดุล ตามปกติที่เคยเป็นมา

ในบรรยากาศการเมืองแบบทั่วไปในสหรัฐอเมริกาหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา ช่องว่างระหว่างพรรคการเมือง 2 พรรคของประเทศ หดแคบลงมาก มีสมาชิกของพรรคส่วนที่สวิงมาอยู่ตรงกลางอย่างที่เรียกกันว่า “ขวา-กลาง” ในแง่ของพรรครีพับลิกัน หรือ “ซ้าย-กลาง” ในแง่ของพรรคเดโมแครต ที่ยินยอมยึดถือหลักการ หรือยึดถือแนวทางที่เป็นผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อพรรค หรือตามแนวทางของพรรคเพียงอย่างเดียวอยู่เป็นจำนวนมาก

ตรงกันข้ามกับในยามนี้ที่ช่องว่างในสภาระหว่าง 2 พรรค ถ่างกว้างและยิ่งนับวันยิ่งยึดถือเอาพรรคและพวกเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดแบบตะบี้ตะบันในทุกๆ เรื่องมากขึ้นเรื่อยๆ

เราจึงไม่เพียงได้เห็นการดำเนินนโยบายอย่าง “การทำสงครามการค้า” เรื่อยไปจนถึงมาตรการเข้มงวด จับกุม คุมขัง ผู้อพยพเข้าเมือง ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ ของสหรัฐอเมริกา ได้เห็นฝ่ายบริหารของประเทศอย่างสหรัฐอเมริการุกคืบเข้าไปมีอิทธิพลเหนืออำนาจตุลาการ และอื่นๆ อย่างชัดเจน ในหลายกรณีที่ผ่านมา

ตั้งแต่การโจมตีกระทรวงยุติธรรม, สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) หรือสถาบันอื่นๆ รวมทั้งบุคคลอื่นใด ที่มีพันธะรับผิดชอบในการดำรงรักษาจริยะในการปกครอง และการใช้อำนาจรัฐ มากขึ้นเรื่อยๆ

นี่ยังไม่นับนัยสำคัญอื่นๆ อย่างเช่นการตรากฎหมายขึ้นมาบังคับใช้ หรือการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งสูงสุดในระบบกระบวนการยุติธรรม

ที่นับวันจะสวิงไปทางที่สุดโต่งมากขึ้นตามลำดับ

 

 

ประเด็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งก็คือ ยิ่งสภาวะการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการถ่วงดุลอำนาจและกำกับดูแลการทำงานของฝ่ายบริหารมากขึ้นเท่าใด โดนัลด์ ทรัมป์ ยิ่งดำเนินความพยายามสูงยิ่งเพื่อรักษาสถานภาพของพรรคและผู้ที่สนับสนุนตนเองในรัฐสภาเอาไว้มากขึ้นเท่านั้น

ทรัมป์ ไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้งด้วยในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่กลับแสดงบทบาทหลักในการรณรงค์หาเสียงให้กับผู้สมัครรีพับลิกัน เพราะรู้ดีว่าการเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากจะเป็นการชี้ขาดการควบคุมเสียงข้างมากใน 2 สภาแล้ว ยังเป็นไปได้ที่อาจเป็นการชี้ขาดว่า นโยบายหลักๆ ของตนเองที่เคยประกาศเอาไว้ จะสามารถแปรออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้สำเร็จหรือไม่

ทรัมป์ กระโจนลงสู่เวทีการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเต็มตัวและเต็มที่ ตระเวณปราศรัย 11 เมืองในช่วงเวลาเพียง 6 วันเท่านั้น

ทุ่มเทขนาดให้เวลาและความสนใจกับเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ อย่างกรณีการกราดยิงที่ก่อให้เกิดการตายหมู่ในพิตสเบิร์ก กับ ความพยายามส่งระเบิดมุ่งทำร้ายบุคคลระดับนำของพรรคเดโมแครตหลายคน กับ องค์กรสื่อ อีกหลายแห่งเพียงน้อยนิด ทั้งๆ ที่ผู้ลงมือส่งระเบิดซึ่งถูกจับกุมตัวได้โดยเร็ววันนั้นเป็น ผู้สนับสนุนทรัมป์ชนิด “คลั่้งไคล้” ซึ่งส่งผลให้เกิดกระแสถกแถลงกันขนานใหญ่ในสังคมอเมริกันถึง “ผลกระทบ” จากวาทะกรรมทางการเมืองแบบสุดโต่ง บิดเบือน และเหมารวม ทั้งหลายของทรัมป์ที่มีต่อสังคมการเมืองอเมริกัน
ที่ยิ่งอันตรายและสุ่มเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ทรัมป์ ยังคงไม่ได้ยิน ยังมองไม่เห็น แม้ถูกต่อต้านอย่างหนักเมื่อตอนเยือนพิตสเบิร์ก ยังคงปราศรัยหาเสียงเต็มที่ชนิด “ไม่มีหูรูด” ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การจุดพลุเรื่องใช้อำนาจประธานาธิบดียกเลิกสิทธิการเป็นพลเมืองตามกำเนิดของบุคคลที่เกิดในสหรัฐอเมริกา สร้างภาพลักษณ์น่ากลัวเกินจริงของ “ขบวนผู้อพยพ” ที่กำลัง “รุกรานดินแดนสหรัฐอเมริกา” ด้วยการประกาศว่าได้สั่งการให้เพิ่มกำลังทหาร 150,000 นายไปรักษาการณ์ตามแนวชายแดนเม็กซิโก เพื่อป้องกันปัญหานี้

อันเป็นคำสั่งบนเวทีหาเสียงที่ทำให้แม้แต่ เพนตากอน เองยัง “งุนงง” ว่า จำเป็นถึงขนาดนั้นเลยหรือ?

นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งระบุว่า การจริงจังกับการเลือกตั้งกลางวาระครั้งนี้ ไม่ได้สะท้อนเพียงแค่ความพยายามครองอำนาจในรัฐสภาต่อไปของทรัมป์เท่านั้น

แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่า ทรัมป์ จริงจังกับคำประกาศเมื่อเร็วๆนี้ที่ว่า พร้อมจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 2020 นี้อีกครั้ง

จริงจังถึงขนาดปูพื้นหาเสียงตั้งแต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้เลยทีเดียว

 

 

คำถามสุดท้ายที่ถามกันมากในเวลานี้ก็คือ แล้ว เดโมแครต มีโอกาสที่จะพลิกสถานการณ์ทางการเมือง ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งกลางวาระ แล้วครองเสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่?
นักวิเคราะห์ นักวิชาการ ส่วนใหญ่ เชื่อว่า เดโมแครต มีโอกาสได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าที่จะพลิกครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา

เนท ซิลเวอร์ ผู้สันทัดกรณีเจ้าของเว็บไซต์ติดตามและวิเคราะห์การเลือกตั้ง ไฟว์เธอร์ตีเอท ระบุเอาไว้ว่า เดโมแครตมีโอกาสที่จะครองเสียงข้างมากในสภาล่างถึง 84.3 เปอร์เซ็นต์ตามการประเมินทางวิชาการด้านสถิติ ในขณะที่ คุกโพลิติคอล รีพอร์ท คิดว่า เดโมแครตมีโอกาสครองเสียงข้างมากในสภาล่าง ระหว่าง 70-75 เปอร์เซ็นต์

แม้กระทั่ง นาธาน กอนซาเลซ ผู้ก่อตั้ง “อินไซด์ อีเลคชัน” ฟันธงเอาไว้ว่า เดโมแครตจะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นสุทธิ 25-35 ที่นั่ง

ในส่วนของ วุฒิสภา นั้น เว็บไซต์ เรียล เคลีย โพลิติคส์ อาศัยผลโพลเฉลี่ยหลายสำนัก คาดการณ์ไว้ว่า วุฒิสภา ใหม่จะยังคงประกอบด้วยรีพับลิกัน 50 ที่นั่ง, เป็นเดโมแครตอย่างน้อย 44 ที่นั่ง ที่เหลือ 6 ที่นั่งนั้นยังไม่สามารถคาดเดาได้ โดยสามารถเทไปข้างไหนก็ได้

นั่นหมายความว่า รีพับลิกัน มีโอกาสสูงมากที่จะครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาอยู่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม แลร์รี ซาบาโต ผู้อำนวยการศูนย์การเมืองศึกษา ของมหาวิทยาลัย เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นเอาไว้ว่าตัว โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่โตที่สุดอย่างหนึ่งขึ้นกับการเลือกตั้ง 2018 นั่นคือ การทำให้พรรคเดโมแครตและบรรดากลุ่มก้อนต่อต้านทรัมป์ทั้งหลาย “คึกคัก มีพลังมากขึ้นมาก”

“โดยปกติแล้ว พันธมิตรเดโมแครต โดยเฉพาะในส่วนของชนกลุ่มน้อย และบรรดาคนหนุ่มสาว มักไม่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งกลางวาระเท่าใดนัก ไม่มากเท่ากับกลุ่มคนผิวขาวและกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงสูงอายุทั้งหลาย ซึ่งเป็นแกนของฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน”

แต่แนวโน้มในครั้งนี้เปลี่ยนไป และถ้าแนวโน้มดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปในวันเลือกตั้ง ซาบาโต บอกว่า “เดโมแครตจะออกมาลงคะแนนเสียงในครั้งนี้มากกว่ารีพับลิกัน”

ด้วยเหตุผลสำคัญอย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือ การระดมคะแนนเสียงเพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมรับทั้งทรัมป์ และพรรครีพับลิกัน

แน้วโน้มที่ว่านี้จะเป็นจริงหรือไม่ อีกไม่กี่วันก็จะได้รู้กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image