เตือนภัย “ซุปเปอร์บั๊ก” คร่าชีวิตผู้คน 2.4 ล้านคน ภายในปี 2050

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ออกมาเตือนเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนว่า จะมีผู้คนหลายล้านคนในยุโรป อเมริกาเหนือและออสเตรเลีย ที่ต้องเสียชีวิตเนื่องจากการติดเชื้อ “ซุปเปอร์บั๊ก” หากยังไม่มีการลุกขึ้นมาหาทางต่อสู้กับภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นจากซุปเปอร์บั๊ก แบคทีเรียที่มีคุณสมบัติต่อต้านยาปฏิชีวนะ

ทั้งนี้ ตามผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่แยกต่างหากจากรายงานของโออีซีดี ระบุว่า เมื่อปี 2015 ซุปเปอร์บั๊ก ได้คร่าชีวิตผู้คนในยุโรปไปมากถึงกว่า 33,000 คน

ขณะที่โออีซีดี ระบุว่า ภายในปี 2050 จะมีผู้คนตายเนื่องจากซุปเปอร์บั๊กมากถึง 2.4 ล้านคน และเงินที่ใช้สำหรับการรักษา เช่นการติดเชื้อ ในแต่ละประเทศอาจจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็นปีละ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มิเชล เคคชินี หัวหน้าทีมสาธารณสุขของโออีซีดี เปิดเผยกับเอเอฟพีว่า หลายประเทศใช้เงินเพื่อรักษาการดื้อยาต้านจุลชีพ (เอเอ็มอาร์) เฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณด้านสาธารณสุขทั้งหมด โดยระบุว่า เอเอ็มอาร์ ใช้เงินมากกว่า ไข้หวัด มากกว่าเชื้อเอชไอวี มากกว่าวัณโรค และจะต้องใช้เงินมากขึ้นอีก หากแต่ละประเทศยังไม่ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหานี้

Advertisement

รายงานระบุว่า มนุษย์เราบริโภคยาปฏิชีวนะเข้าไปมากกว่าที่เคยมา ทั้งจากการสั่งยาของหมอ และพืชผลการเษตร ผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ ที่ได้รับยาเข้าไปเพื่อฆ่าเชื้อ ซึ่งสายพันธุ์ของแบคทีเรียมีการพัฒนาการขึ้นจนสามารถต่อต้านฤทธิ์ของยาที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อยาเชื้อแบคทีเรียเหล่านั้น

โดยในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงกลาง การต่อต้านยาอยู่ในระดับที่สูงมากไปแล้ว ในประเทศอินโดนีเซีย บราซิล และรัสเซีย 60 เปอร์เซ็นต์ของการติดเชื้อจากแบคทีเรีย สามารถต่อต้านยาปฏิชีวนะได้อย่างน้อย 1 ตัว และคาดว่า การติดเชื้อเอเอ็มอาร์จะมีการเติบโตรวดเร็วขึ้นกว่าปัจจุบัน 4-7 เท่าภายในปี 2030

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image