‘ไอแอลโอ’ เผยแรงงานอพยพทั่วโลกพุ่ง 164 ล้านคน

(แฟ้มภาพ) / REUTERS

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ) ภายใต้สังกัดของสหประชาชาติ(ยูเอ็น)เผยว่า ปัจจุบันมีแรงงานผู้อพยพทั่วโลกสูงถึง 164 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 9 เปอร์เซ็นต์จากปี 2556 ที่มีตัวเลขอยู่ที่ 150 ล้านคน ทั้งนี้แรงงานผู้อพยพคิดเป็นสัดส่วนถึง 4.7 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั่วโลก โดยคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำงานในประเทศที่มีรายได้สูงหรือประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง

รายงานของไอแอลโอมาจากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากชาติสมาชิกยูเอ็นในปี 2560 โดยมีการให้คำจำกัดความแรงงานผู้อพยพว่าเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ที่เดินทางออกจากประเทศเพื่อไปหางาน หรือมีผู้ว่าจ้างหลังเดินทางไปอยู่ในต่างประเทศ

ไอแอลโอเผยแพร่รายงานดังกล่าวออกมาก่อนหน้าที่ชาติสมาชิกยูเอ็นจะทำการให้การรับรองความตกลงเกี่ยวกับการบริหารจัดการการอพยพของผู้คนทั่วโลกให้ดีขึ้น โดยจะมีการเก็บข้อมูลของผู้อพยพทั้งแบบปกติและไม่ปกติ โดยข้อมูลดังกล่าวยังครอบคลุมถึงผู้อพยพที่เข้ามาในตลาดแรงงานด้วย

ทั้งนี้ตัวเลขผู้อพยพทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 232 ล้านคนในปี 2556 เป็น 277 ล้านคนในปี 2560 ที่ผ่านมา โดยไอแอลโอเตือนว่า ขณะนี้มีทัศนคติที่กำลังรุนแรงขึ้นต่อผู้อพยพโดยมองว่าถือเป็นเหตุวิกฤต และการเดินทางเข้ามาของผู้อพยพเป็นการรุกราน ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยและโกรธเคืองต่อชุมชนท้องถิ่น ทั้งที่ในความเป็นจริงมีแง่มุมในด้านบวกที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง หากมีการบริการจัดการให้ดีพอ

Advertisement

ไอแอลโอย้ำว่า แน่นอนว่าการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานจะไม่ยุติลง แต่ยังจะกลายเป็นปรากฎการณ์ระดับโลก ซึ่งต้องการการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพทั่วโลก ปัจจุบันแรงงานอพยพราว 58 เปอร์เซ็นต์ หรือ 96 ล้านคนเป็นชาย ซึ่งเพิ่มขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์จาก 5 ปีก่อนหน้านี้ แต่มีแนวโน้มที่แรงงานหญิงจะออกมาหางานเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image