คอลัมน์ ส่องเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐ : เก็ต เอาท์ เดอะ โหวต

การเป็น “อาสาสมัคร” เป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในสายเลือดของชาวอเมริกันมายาวนาน

การเมืองสหรัฐมีระบบที่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ผ่านการเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยในการหาเสียงโดยการจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้สนับสนุนผู้สมัครคนใดก็ตาม หรือชักชวนให้บริจาคเงิน

ผมและคณะผู้สื่อข่าวจากประเทศไทยจำนวนหนึ่งพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้เดินทางมาสัมผัสถึงวัฒนธรรมตรงนี้อย่างใกล้ชิด ผ่านคำเชิญชวนของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

เราได้มาที่สำนักงานหาเสียงของ เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกรัฐเวอร์มอนต์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่การเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารีในรัฐนี้จะมีขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน

Advertisement

ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นช่วง “เก็ต เอาท์ เดอะ โหวต” หรือโค้งสุดท้ายก่อนหน้าการเลือกตั้งที่ต้องคอยกระตุ้นให้ผู้คนไม่ลืมที่จะออกไปลงคะแนน

พาทริซ แอล. เจปป์สัน หัวหน้าอาสาสมัครประจำสำนักงานหาเสียงของแซนเดอร์สเปิดเผยว่า การเลือกตั้งขั้นต้นแบ่งออกเป็น 3 ช่วง

ระยะแรกคือการ “ค้นหา” โดยอาสาสมัครจะโทรหรือไปพบเพื่อสอบถามผู้มีสิทธิออกเสียงว่า “จะไปลงคะแนนเลือกตั้งหรือไม่” จากนั้นช่วงที่ 2 คือการพยายามชักจูงผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้มาสนับสนุนผู้สมัครของตน

Advertisement

แล้วอาสาสมัครรู้ได้อย่างไรว่าจะไปหาคนเหล่านี้ได้ที่ไหน?

เจปป์สันบอกว่า ทีมงานหาเสียงต้องไป “ซื้อ” รายชื่อของคนเหล่านี้มาจากทางพรรคเดโมแครต ซึ่งบัญชีรายชื่อเหล่านี้ถือได้ว่ามีค่ามากจนเรียกขานกันว่าเป็น “โกลเด้น ลิสต์” หรือ “บัญชีรายชื่อทองคำ”

ที่จริงแล้ว บัญชีทองนี้คือรายชื่อที่อยู่ในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพรรคเดโมแครตซึ่งเป็นผู้ที่ในอดีตที่ผ่านมาลงคะแนนเสียงให้กับทางพรรค

เหตุผลที่ทำให้รายชื่อเหล่านี้มีความสำคัญเนื่องจากการเลือกตั้งขั้นต้นในรัฐเพนซิลเวเนียเป็น “โคลส ไพรมารี” หรือการเลือกตั้งแบบปิด ซึ่งผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตัวแทนพรรคเดโมแครตจะต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนว่าเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น เช่นเดียวกับผู้ที่จะลงคะแนนเลือกตัวแทนพรรครีพับลิกันในรัฐนี้จะต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน

นอกจากบัญชีทองแล้ว เจปป์สันยังบอกด้วยว่า รายชื่อของคนที่มีแนวโน้มว่าจะไปใช้สิทธิเป็นครั้งแรกก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สมัครที่ถือได้ว่าเป็นรองอย่างแซนเดอร์ส โดยรายชื่อเหล่านี้ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล แต่ดูจากผู้ที่มาลงทะเบียนกับสำนักงานหาเสียงของแซนเดอร์สนั่นเอง

หลังจากที่ค้นหาและชักจูงจนแน่ใจแล้วว่าคนกลุ่มนี้จะลงคะแนนให้กับแซนเดอร์ส ในช่วง 4 วันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งเป็นช่วงที่เรียกว่า “เก็ต เอาท์ เดอะ โหวต” หรือการเอาคะแนนเสียงที่มีอยู่ออกมาให้ได้มากที่สุด โดยอาสาสมัครเหล่านี้ที่มีทั้งหมด 164 คน จากสำนักงานหาเสียงของแซนเดอร์ส 8 แห่ง ในเมืองฟิลาเดลเฟีย จะต้องออกไปเคาะประตูบ้านกว่า 10,000 หลัง เพื่อกระตุ้นหรือเตือนให้คนอย่าลืมออกไปลงคะแนน ซึ่งอาสาสมัครจะใช้เวลากับบ้านแต่ละหลังเฉลี่ยแล้วแค่ราว 3 นาทีเท่านั้น

เจปป์สันบอกกับเราว่า การทำแบบนี้ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทำด้วยจิตของความเป็นอาสาสมัคร

น่าเสียดายที่ผลการเลือกตั้งขั้นต้นในรัฐเพนซิลเวเนียที่ออกมานั้น ปรากฏว่าแซนเดอร์สไม่สามารถพลิกเอาชนะคู่แข่งอย่างฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศได้

แถมยังพ่ายแพ้ในศึกซุปเปอร์ทิวส์เดย์ 4 ในวันดังกล่าวไปอีก 3 รัฐ และเอาชนะได้เพียงแค่รัฐเดียวเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image