คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ใต้เงาอนุสาวรีย์

AFP

เมื่อนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี้ แห่งอินเดีย เดินทางไปเปิด “อนุสาวรีย์แห่งเอกภาพ” บนเกาะ สธู เพท เกาะกลางแม่น้ำนรรมทา ที่แผ่ขยายกว้างออกสุดลูกหูลูกตาสืบเนื่องจากเขื่อน สารทา สโรวาร ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่ของเมืองนรรมทา รัฐคุชราต รัฐสำคัญทางตะวันตกของประเทศ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น นายกฯโมดี้ได้สร้างสถิติใหม่ขึ้นมาประดับโลกประการหนึ่ง

นั่นคือ ทำให้อินเดียกลายเป็นเจ้าของอนุสาวรีย์ หรือรูปเคารพที่สูงที่สุดในโลก

ที่ความสูง 182 เมตร (ไม่รวมฐาน ซึ่งเป็นอาคารสูง 58 เมตร) อนุสาวรีย์แห่งเอกภาพ สูงกว่ารูปเคารพที่เคยสูงที่สุดในโลก คือ พระพุทธรูป พระไวโรจนพุทธะ (หนึ่งใน 15 ปางอวตารของพระพุทธเจ้าตามคติของนิกายวัชรยานหรือนิกายตันตระ และนิกายมหายาน) ที่วัดฟัวเฉวียน ในเมืองลู่ซาน มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน อยู่ 54 เมตร

และทำให้อนุสาวรีย์เสรีภาพที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งสูง 93 เมตร (รวมฐาน) ดูเล็กจ้อยไปเลย

Advertisement

การก่อสร้างใช้เวลานานกว่า 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2014 มูลค่าของค่าใช้จ่ายรวมจนถึงขณะนี้ 430 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 14,000 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน

บุคคลที่เป็นต้นแบบของอนุสาวรีย์นี้ คือ สารทร วัลลภัย ปาเตล หนึ่งในสมาชิกของขบวนการชาตินิยมอินเดีย เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษร่วมกับบุคคลในตำนานของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพอย่าง โมหันทาส คานธี หรือ มหาตมะ คานธี เยาวหราล เนห์รู หรือ บัณฑิตเนห์รู และ รพินทรนาถ ฐากุร หรือ คุรุเทพ ฐากุร

ในสุนทรพจน์เปิดอนุสาวรีย์ โมดี้กล่าวสรรเสริญ สารทร ปาเตล เอาไว้ว่าเป็น “แหล่งที่มาของเอกภาพ…ด้วยสำนึกนี้ เราจักก้าวเดินต่อไป ก้าวต่อไปพร้อมกับความใฝ่ฝันที่จะสร้างประเทศนี้ให้เป็นอินเดียอันหนึ่งอันเดียว เป็นอินเดียที่ทรงอานุภาพเหนือใคร”

Advertisement

และยังแสดงความคาดหวังเอาไว้ว่า อนุสาวรีย์ที่สุดในโลกแห่งนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศ

“ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน” และนำมาซึ่ง “ความรุ่งเรือง” ต่อบรรดาชนพื้นเมือง พื้นถิ่นซึ่งเรียกดินแดนส่วนนี้ว่า บ้านเกิด!

แม้จะไม่โด่งดังและเป็นที่รู้จักเท่ากับคนของโลกอย่าง คานธี หรือเนห์รู หรือแม้แต่ ระพินทรนาถ ฐากุร นักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหวผู้ยิ่งใหญ่ (คนที่เริ่มต้นขานคำนำหน้านามของคานธีว่า “มหาตมะ” ตอบแทนต่อการเรียกขานตนว่า “คุรุเทพ”) แต่ สารทร ปาเตล ก็ได้รับการยอมรับทั้งในความสำคัญและความสำเร็จในการสร้างปึกแผ่นให้กับอินเดีย

บทบาทของปาเตลอยู่ที่การสร้างชาติ สร้างความเป็นเอกภาพให้กับอินเดียใหม่หลังได้รับเอกราช ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนแรก ควบกับตำแหน่งรัฐมนตรีกิจการภายใน ถือว่าเป็นแกนนำสำคัญที่ทำให้อินเดียที่ในเวลานั้นแยกกันออกเป็น “รัฐมหาราชา” มากมายถึง 562 รัฐ (บางแห่งระบุว่า 565 รัฐ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว มีรัฐมหาราชา ซึ่งมีมหาราชาปกครองจริงๆ อยู่ไม่มากมายนัก บางข้อมูลระบุว่ามีเพียง 21 รัฐ)

อนุสาวรีย์แห่งนี้ในทางหนึ่งคือการแสดงคารวะ เชิดชูต่อความพยายามดังกล่าว พร้อมๆ กับการให้ความสำคัญต่อการรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอินเดีย

แต่เหรียญมีสองด้านฉันใด อนุสาวรีย์ใหญ่ยักษ์ที่ทอประกายเรื่อเรืองเมื่อแสงสว่างสาดส่อง ก็ย่อมต้องมีด้านมืดอยู่ตรงกันข้ามเช่นเดียวกัน

ใต้เงามืดของรูปเคารพมหึมา ที่ทำให้ดูเหมือนว่า ปาเตลกำลังย่างเท้าก้าวไปเหนือน้ำนั้น เต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์เฉกเช่นกัน

การก่อสร้างอนุสาวรีย์ ไม่ใช่ประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ แต่การสร้างอนุสาวรีย์ที่สูงที่สุดในโลก เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่นเดียวกับมูลค่าการก่อสร้างและพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งตัวอนุสาวรีย์และอาคารสถานที่ประกอบอื่นๆ ที่ถูก “เวนคืน” มาจากชาวบ้านที่เป็นชนเผ่าในพื้นถิ่นนั้น

“อินเดียสเปนด์” องค์การสื่อสารมวลชนของอินเดีย เคยรวบรวมแล้ววิเคราะห์ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอาไว้ว่า ในเม็ดเงินนับหมื่นๆ ล้านที่ว่านี้ รัฐบาลสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกมากมาย ตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์ก็คือ เงินจำนวนเดียวกันนี้สามารถนำไปใช้เพื่อก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันเพื่อการศึกษาขั้นสูงได้ถึง 9 สถาบัน สามารถนำไปใช้จัดสร้างและดำเนินการจัดส่งยานอวกาศเพื่อภารกิจสำรวจดาวอังคารได้ 6 ครั้ง และสามารถนำไปจัดสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่เอี่ยมได้ถึง 5 โรง

ภาพสะท้อนดังกล่าวคงไม่มีสารัตถะใดๆ มากนัก หากข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า รายงานของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ จะไม่ระบุเอาไว้ว่าสภาวะว่างงานในอินเดียกำลังอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 20 ปี

ธนาคารโลกคาดการณ์เอาไว้ว่า อินเดียจำเป็นต้องสร้างงาน “เพิ่มจากที่มีอยู่” ให้ได้มากถึง 8 ล้านตำแหน่งเป็นอย่างน้อยต่อปี ถ้าหากต้องการให้มีงานรองรับการเติบโตของจำนวนประชากรของประเทศให้ได้ภายในปี 2025 นี้

ยิ่งไปกว่านั้น ในห้วงเวลาเดียวกับที่เศรษฐกิจของประเทศขายตัวสูงมากในช่วง 2-3 ปีมานี้มีคนอินเดียถูกจัดไว้ให้อยู่ในระดับ “จนมาก” อีกหลายร้อยล้านคน รัฐบาลยังคงไม่สามารถตอบสนอง “ความต้องการพื้นฐาน” ของคนเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็น บ้านที่อยู่อาศัย, สุขอนามัย, สาธารณสุขมูลฐาน, การให้การศึกษาที่มีคุณภาพ, อากาศสะอาดปราศจากมลภาวะ และแม้กระทั่งความมั่นคงทางอาหารการกิน

ดัชนีชี้ภาวะความหิวโหยของโลก (โกลบอล ฮังเกอร์ อินเด็กซ์) ประจำปี 2018 ซึ่งมีการสำรวจสภาพความอดอยากใน 119 ประเทศ จัดให้อินเดียอยู่ในระดับย่ำแย่ถึงอันดับที่ 103

พร้อมกับคำย้ำเตือนว่า “ระดับความอดอยากหิวโหยของอินเดียจัดอยู่ในสภาพร้ายแรงยิ่ง”

ในอีกทางหนึ่ง อนุสาวรีย์และสถานที่ประกอบที่จัดสร้างขึ้น ตั้งแต่ตัวอาคารที่เป็นฐานรองรับ ซึ่งถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ สารทร วัลลภัย ปาเตล, สวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่ถือเป็น “เมมโมเรียล การ์เดน”, โรงแรมที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว และอื่นๆ กินเนื้อที่มหาศาลมาก

พื้นที่มหาศาลดังกล่าว แต่เดิมนั้นเป็นที่อยู่อาศัย ทำมาหาเลี้ยงชีพของชุมชนคนพื้นเมืองจำนวนมากถึง 72 หมู่บ้าน คนเหล่านี้นี่แหละที่นายกรัฐมนตรีโมดี้สัญญาว่าจะได้รับประโยชน์จากการก่อสร้างอนุสาวรีย์หมื่นล้านนี้

แต่เอาเข้าจริง คนเหล่านี้คือชาวอินเดียกลุ่มแรกที่รู้สึก “เดือดร้อน” และ “ได้รับความยากลำบาก” จากโครงการก่อสร้างนี้

ในบรรดา 72 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบนั้น มีมากถึง 32 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบสูงสุด 19 หมู่บ้านถูกโยกย้ายออกจากที่ทำกินที่ใช้ชีวิตมาแต่อ้อนแต่ออก และโครงการจัดสรรที่ทำกินแห่งใหม่ให้ตามความตกลงกับทางการนั้น ยังไม่เป็นจริงจนถึงขณะนี้ อีก 13 หมู่บ้าน ได้รับเงินชดเชยจากการเวนคืนแล้วก็จริง แต่สิ่งที่สัญญาว่าจะทำให้ตามความตกลงก่อนหน้านี้ อย่างเช่น การจัดหาสถานที่ทำกินแห่งใหม่ และการหางานทำให้ ไม่เคยเป็นไปตามที่ได้รับปากกันไว้เลย

คนที่ได้รับเงินชดเชยระบุว่า จำนวนเงินที่ได้รับต่ำกว่าราคาตลาดที่ดินในเวลานี้ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ บางคนที่ได้รับการจัดสรรที่ดินที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ให้ กลับพบว่าที่ดินแห่งใหม่ดังกล่าวไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้เลย ทั้งยังเอาไปทำอะไรอย่างอื่นก็ไม่ได้อีกด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงชีวิตที่มั่นคงและความใฝ่ฝันถึงอนาคตถูกตัดขาดลงอย่างเฉียบพลัน

ดร.ประผุล วัสวะ ผู้นำชนเผ่า สรุปความเอาไว้ว่า

“สิทธิในฐานะชนเผ่าของเราถูกรัฐบาลล่วงละเมิด เราไม่ได้มีอะไรต่อต้านท่าน สารทร ปาเตล บุตรผู้ยิ่งใหญ่แห่งคุชราต เราจะยังคงเชิดชูเกียรติท่านต่อไป เราไม่ได้ต่อต้านแม้กระทั่งการพัฒนา แต่แนวความคิดด้านการพัฒนาของรัฐบาลต่างหากที่เอนเอียง และส่งผลเสียต่อชนเผ่าทั้งหลาย” และ

“โครงการนี้ดำเนินไปในทิศทางที่จะทำลายพวกเราลงโดยสิ้นเชิง”

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงที่สุดในกรณีนี้ ก็คือข้อสังเกตที่ว่า อนุสาวรีย์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใคร และต้องการสะท้อนอะไรกันแน่? โซเนีย ฟัลเลโร นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ ผู้ก่อตั้งสหกรณ์สื่อ “เดคา” ชี้เอาไว้ว่า โครงการนี้ก่อให้เกิดข้อกังขาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเลือกที่จะเชิดชูเกียรติของคนที่ยึดถือแนวทาง สันโดษ สมถะ ยึดมั่นในแนวปฏิบัติของมหาตมะ คานธี อย่างปาเตล ด้วยสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อเกินจริงเช่นนี้

“การเลือกที่จะเชิดชูเกียรติคนถือสันโดษ ด้วยอนุสาวรีย์ที่สูงที่สุดในโลกนั้น น่ากังขาอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว” ฟัลเลโรระบุ

ข้อที่หลายคนสังเกตเพิ่มเติมก็คือ อนุสาวรีย์แห่งนี้อาจไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวของอินเดีย หากแต่ต้องการให้เป็นเพียงเครื่องสะท้อนถึงความปรารถนาส่วนตัวของ นเรนทรา โมดี้ ที่ต้องการให้โลกมองตัวเองอย่างยิ่งใหญ่อหังการเท่านั้นเอง

“ในเว็บไซต์เพื่อแสดงคุณลักษณะของอนุสาวรีย์แห่งนี้ มีภาพของโมดี้อยู่ร่วมๆ 100 ภาพด้วยกัน มากกว่าภาพเหมือนของปาเตลในเว็บไซต์เดียวกันถึง 2 เท่าตัว” ฟัลเลโรระบุ

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ในขณะที่พยายามออกปากเรียกร้องหาเอกภาพ ความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน ถึงกับอาศัยอนุสาวรีย์แห่งปาเตล เพื่อส่งเสริมค่านิยมนี้ ฟัลเลโรกลับชี้ว่า ประวัติชีวิตที่ผ่านมาของโมดี้ ไม่ได้แสดงออกไปในทิศทางเดียวกันนั้นแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ในปี 2002 เมื่อครั้ง นเรนทรา โมดี้ ยังคงดำรงตำแหน่งมุขมนตรีแห่งรัฐคุชราตนี้ เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ขึ้นถึงใต้จมูก ผู้ที่นับถือศาสนามุสลิมมากกว่า 1,000 รายถูกสังหารเสียชีวิต อีกเป็นเรือนหมื่นต้องหลบหนีกลายเป็นคนพลัดถิ่นไร้ที่อยู่อาศัย

ข้อมูลขององค์การเฝ้าระวังอาชญากรรมจากความเกลียดชังทางศาสนาของอินเดีย ระบุว่า ในจำนวนอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากการเกลียดชังกันในอินเดีย ในช่วงระหว่างปี 2009 เรื่อยมาจนถึงปีนี้นั้น 90 เปอร์เซ็นต์ของเหตุการณ์ เกิดขึ้นหลังจากที่ นเรนทรา โมดี้ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดีย ในปี 2014

จำเพาะในปีนี้ มีกลุ่มคนที่ใช้อำนาจใช้กำลังตามอำเภอใจ ก่อเหตุโจมตีฝ่ายตรงกันข้ามมาแล้ว 88 ราย ส่วนใหญ่มักอาศัยข้ออ้างของการให้ความคุ้มครอง “โคศักดิ์สิทธิ์” ตามคติของคนฮินดู หรือไม่ก็เพื่อเป็นการประท้วงปฏิสัมพันธ์ระหว่างศรัทธาที่แตกต่างกัน ในจำนวนการทำร้ายร่างกายกันด้วยความรุนแรงทั้งหมดนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 29 ราย ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

นเรนทรา โมดี้ ปิดปากสนิทเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวเหล่านี้ ราวกับจะแสดงทีท่ากลายๆ ว่าให้การยอมรับการกระทำดังกล่าว

ฟัลเลโรชี้ให้เห็นว่า ที่สำคัญที่สุดก็คือ ตัวนายกรัฐมนตรีเองถูกหล่อหลอมด้วยแนวความคิดที่ตรงกันข้ามกับ สารทร ปาเตล โดยสิ้นเชิงมาตั้งแต่อายุเพียงแค่ 8 ขวบ

ขณะอายุ 8 ขวบ นเรนทรา โมดี้ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มชาตินิยมฮินดูกึ่งทหาร ที่เรียกตัวเองว่า “รัษตริยะ สวายมเสวก สังฆะ” (อาร์เอสเอส) ซึ่งเลือกที่จะยืนหยัดเข้าข้างระบอบ “บริติชราช” ของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งเป็นแนวทางที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับพรรคสมัชชาแห่งชาติอินเดีย ของคานธี เนห์รู และปาเตล ที่ต่อสู้เพื่อเอกราชจากระบอบอาณานิคมดังกล่าว

ครั้งหนึ่ง ปาเตลเองถึงกับออกคำสั่งให้อาร์เอสเอส เป็นองค์กรนอกกฎหมาย โดยระบุไว้ด้วยว่า “กิจกรรมและพฤติการของอาร์เอสเอสนั้น ถือเป็นภัยคุกคามที่ชัดเจนอย่างยิ่งต่อรัฐบาลและประเทศนี้”

การเคารพ บูชา ฝ่ายตรงกันข้ามกันนั้นจึงเป็นเรื่องแปลกแปร่งอย่างยิ่ง น่ากังขาอย่างยิ่ง

อาจบางที นเรนทรา โมดี้ ต้องการหยิบเอาเพียงกระพี้อย่างความเป็นชาตินิยม และเลื่อมใสศรัทธาเพียงแค่ชื่อฉายา “มนุษย์เหล็กแห่งอินเดีย” ของปาเตลเท่านั้น

โดยไม่ใส่ใจเนื้อหาสาระเบื้องหลังคำดังกล่าวใดๆ ทั้งสิ้น

ในเวลาเดียวกัน อิทธิพลที่น่าวิตกกังวลมากที่สุดของโครงการหมื่นล้านนี้ คือการกลายเป็นต้นแบบให้เกิดการลอกเลียน

ไม่นานหลังจากโมดี้ผุดโครงการนี้ขึ้น ผู้นำคนอื่นๆ ในพรรครัฐบาลก็เริ่มเอาอย่างกันบ้างแล้ว ในรัฐมหาราษฏระ กำลังมีการก่อสร้างอนุสาวรีย์อีกแห่งของ “ฉัตราปติ ศิวไช มหาราช” ที่ว่ากันว่าจะมีความสูงอย่างน้อย 213 เมตร มูลค่าการก่อสร้างพุ่งขึ้นไปไม่น้อยกว่า 500 ล้านดอลลาร์

หรือ ดำริของ มุขมนตรี โยคี อทิตยานาถ ที่คิดจะสร้างอนุสาวรีย์ พระราม มูลค่าโครงการหลายร้อยล้านดอลลาร์เช่นเดียวกันขึ้นในอุตตรประเทศ

ครับ ในรัฐอุตตรประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐที่ยากจนและมีคนอดอยากมากที่สุดในอินเดียนั่นเอง

รู้ข่าวรอบด้าน กับ Line@มติชนนิวส์รูม คลิกเป็นเพื่อนกัน ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image