“อียู” ให้หลักประกัน “เมย์” เรื่องแบ็กสต็อป แต่ยันไม่เจรจาใหม่

นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ (ขวา) ขณะพูดคุยกับนายฌอง-โคลด ยุงเคอร์ ประธานคณะมนตรียุโรป ในที่ประชุมผู้นำสหภาพยุโรป(อียู) ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม (เอเอฟพี)

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู) 27 ประเทศ ออกแถลงการณ์ร่วมหลังการพบหารือกับนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ในเรื่องเบร็กซิท หรือ การถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียูของอังกฤษ โดยระบุยืนยันว่าอียูจะไม่เปิดการเจรจาใหม่ในเรื่องนี้กับอังกฤษ แต่ให้หลักประกันว่าอียูจะบรรลุความเห็นพ้องในข้อตกลงใหม่กับอังกฤษให้ได้ภายในปีค.ศ. 2020 เพื่อที่จะไม่ให้มีการใช้ “ไอริช แบ็กสต็อป” เกิดขึ้น

ในการหารือของผู้นำชาติอียูกับนางเมย์ ที่มีขึ้นภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากนางเมย์เพิ่งรอดพ้นจากการถูกยื่นญัตติไม่ไว้วางใจของสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมของตนเองซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับเรื่องเบร็กซิท นางเมย์ได้ร้องขอให้ผู้นำชาติอียูเชื่อใจและช่วยเหลือตนในการเอาชนะกระแสต่อต้านที่มีอยู่ภายในประเทศให้ได้ โดยนางเมย์เชื่อว่าร่างข้อตกลงเบร็กซิทที่ได้ตกลงกันไว้จะสามารถผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษได้ด้วยความช่วยเหลือในการให้หลักประกันของอียูว่า ประเด็นไอริช แบ็กสต็อป จะไม่เป็นกับดักอย่างที่สมาชิกส่วนใหญ่ในรัฐสภาอังกฤษเข้าใจ

อย่างไรก็ดีจากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อียูระบุว่า นางเมย์ได้ถูกผู้นำชาติอียูซักถามและร้องขอความชัดเจนในสิ่งที่ฝ่ายอังกฤษต้องการ ซึ่งนางเมย์ก็ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนหนักแน่นพอ ขณะที่นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีและผู้นำอียูคนอื่นๆ ปฏิเสธที่จะเจรจาใหม่ในร่างข้อตกลงเบร็กซิทกับอังกฤษที่ได้บรรลุความเห็นพ้องร่วมกันไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

หลังเสร็จสิ้นการหารือกลุ่มผู้นำอียูได้ออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า อียูตัดสินใจแน่วแน่ที่จะทำงานโดยเร็วในข้อตกลงในภายหลังให้ลุล่วงภายในวันที่ 31 ธันวาคมปี 2020 ที่จะเป็นข้อตกลงทางเลือก เพื่อที่ว่าจะไม่จำเป็นต้องมีการใช้ “ไอริช แบ็กสต็อป”

Advertisement

“อย่างไรก็ดีหากมีการใช้แบ็กสต็อปเกิดขึ้น ก็จะมีการใช้เป็นการชั่วคราว หรือจนกว่าจะมีข้อตกลงในภายหลังเกิดขึ้นมาแทนที่ ที่จะเป็นหลักประกันในการเลี่ยงการเกิดฮาร์ด บอร์เดอร์ขึ้น โดยแบ็กสตอปจะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นจริงๆเท่านั้น” แถลงการณ์อียูระบุ

ทั้งนี้ ไอริช แบ็กสตอป เป็นความตกลงที่อียูให้หลักประกันอังกฤษว่าจะไม่ทำ ฮาร์ด บอร์เดอร์ หรือการกำหนดพรมแดนแบบเข้มงวด เพื่อแลกกับการที่อังกฤษจะต้องทำตามกฎเกณฑ์ของอียูไปจนกว่าจะทำความตกลงกันได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image