‘เศรษฐกิจ’ ประเด็นที่หายไปจากการชิงทำเนียบขาว

Brendan Smialowski / AFP

ในช่วงที่การชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเริ่มดุเดือดเข้มข้น วาทกรรมในการโต้วาทีเต็มไปด้วยการโจมตีเรื่องลักษณะนิสัยส่วนตัว ข้อถกเถียงเรื่องผู้อพยพ และความกังวลเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ

แต่มีเรื่องหนึ่งที่ถูกละเลยอย่างชัดเจนในการต่อสู้เพื่อชิงเก้าอี้ในทำเนียบขาว นั่นคือการพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

แน่นอนว่ามีการพูดถึงภาวะเศรษฐกิจสหรัฐทั้งจากฝ่ายรีพับลิกันและเดโมแครต แต่การแสดงวิสัยทัศน์เรื่องนี้ในการดีเบต ไม่มากไปกว่าการพูดประโยคสั้นๆ ที่ฟังดูดีเพื่อนำไปออกอากาศทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือนำไปโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย มากกว่าจะเป็นการถกเถียงหารือกันอย่างจริงจังถึงประเด็นปัญหาดังกล่าว

เหตุที่มีการสงวนท่าทีต่อการพูดจาในหัวข้อที่นับว่าสำคัญยิ่งยวดในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในอดีต 2 ครั้งที่ผ่านมา นอกจากความเหือดแห้งของประเด็นดังกล่าวแล้ว คำตอบ

Advertisement

ยังอาจจะอยู่ที่สภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่ค่อนข้างดี

โจเซฟ แกกนอน แห่งสถาบันเพื่อการศึกษาเศรษฐศาสตร์นานาชาติปีเตอร์สัน บอกว่า “เศรษฐกิจไปได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงไม่ใช่เหตุผลที่ดีนักที่รีพับลิกันจะนำแง่มุมนี้มาโจมตี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เดโมแครตจะนำผลงานตรงนี้มาคุยได้เช่นเดียวกัน”

อัตราการว่างงานลดลงครึ่งหนึ่งจากระดับสูงสุดเมื่อปี 2552 มาอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ในตอนนี้เศรษฐกิจเติบโตที่อัตราเร็วพอประมาณและงบประมาณขาดดุลของรัฐบาลลดลง

Advertisement

สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา บอกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรจะสนับสนุนตัวแทนจากพรรคเดโมแครตให้มาสืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา

แน่นอนว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เคยทอดเงาปกคลุมการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้ง

ก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปี 2551 ที่โอบามาชนะการเลือกตั้งสมัยแรกได้หายไปแล้ว เป็นการทำให้ความพยายามของพรรครีพับลิกันที่จะตีตราผลงานของโอบามาว่าเป็นหายนะเพื่อชักจูงผู้มีสิทธิเลือกตั้งยากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตามพวกเขาได้พยายามโจมตีจุดอ่อนในเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายใต้การบริหารของโอบามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องค่าแรง

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้ง 2 ฝั่ง รู้สึกไม่ค่อยพอใจกับอัตราการเพิ่มขึ้นที่อ่อนแอของค่าจ้างในระหว่างช่วงเวลาที่เศรษฐกิจฟื้นตัว

อย่างไรก็ตามพรรครีพับลิกันที่สนับสนุนการปรับลดภาษีและเสรีภาพทางเศรษฐกิจ รู้สึกไม่ค่อยสะดวกใจนักในการทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมือง เนื่องจากส่วนใหญ่คัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่เดโมแครตสนับสนุน

แบร์รี บอสเวิร์ธ แห่งสถาบันวิชาการบรูกกิงส์ ระบุว่า ทั้ง 2 พรรคยังไม่มีข้อคิดเห็นที่ดีเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ดูเหมือนจะเป็นความกังวลด้านเศรษฐกิจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

คงต้องเป็นหลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะให้ความสนใจมากยิ่งขึ้นเมื่อถึงตอนนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image