คอลัมน์โกลบอลโฟกัส: ไวรัส ซิกา!

เมื่อปี 1947 นักวิทยาศาสตร์ที่ลงพื้นที่สำรวจการแพร่ระบาดค้นพบไวรัสใหม่ชนิดหนึ่งในตัวลิงที่ป่าซิกา ประเทศยูกันดา ในทวีปแอฟริกา พวกเขาให้ชื่อมันว่า “ไวรัสซิกา” ตามชื่อป่าแห่งนั้น มันเป็นไวรัสในวงศ์ “ฟลาวีวิริเด” วงศ์เดียวกับไวรัสอื่นๆ ที่เรียกรวมๆ กันว่า “ฟลาวีไวรัส” ซึ่งก่อให้เกิดโรคระบาดหลายโรค อย่างเช่น ไข้เวสต์ไนล์, ไข้เลือดออก, ไข้ชิคุนกุนยา เป็นต้น

ไวรัสชนิดนี้มียุงเป็นพาหะ เท่าที่รู้กันมียุง 2 ชนิดที่เป็นพาหะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาได้ หนึ่งคือ ยุงลายสวน หรือยุงเสือเอเชีย (Aedes albopictus) กับอีกชนิดคือ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ที่เป็นพาหะหลักของโรคไข้เลือดออกในเมืองไทยอยู่เป็นประจำ

นักวิทยาศาสตร์มาพบว่าไวรัสนี้สามารถติดต่อสู่คนได้ก็เมื่อพบผู้ป่วยเป็นครั้งแรกในประเทศไนจีเรีย เมื่อปี 1954 หลังจากนั้นก็เริ่มมีการพบการระบาดของไวรัสซิกาในหลายพื้นที่ในแอฟริกา ต่อด้วยในภูมิภาคเอเชีย และหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก

ไวรัสซิกาก่อให้เกิด “ไข้ซิกา” ที่ไม่รุนแรงมากมายนัก อาการที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่ปวดหัว ปวดกระบอกตา ตาแดง มีไข้ ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ บางรายอาจมีอาการอาเจียนประกอบด้วย แต่อาการเหล่านี้นอกจากจะไม่รุนแรงมากแล้วยังอาจหายไปเองในระยะเวลา 1 สัปดาห์

Advertisement

ยิ่งไปกว่านั้น สถิติอย่างเป็นทางการขององค์การอนามัยโลกก็คือ มีผู้ที่ได้รับเชื้อเพียง “ส่วนน้อย” เท่านั้นที่แสดงอาการ กล่าวคือ โดยเฉลี่ยแล้วในบรรดาผู้ที่ได้รับเชื้อ 4 คน มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่ออกอาการหลังได้รับเชื้อ

นั่นคือข้อมูลเบื้องต้นที่โลกได้รับรู้เกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ ก่อนที่มันจะกลายเป็น “ภัยคุกคามทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ” ในระดับที่ต้องประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน” ขององค์การอนามัยโลก เพื่อนเตือนให้นานาชาติเตรียมพร้อมรับมือเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านั้นมีรายงานการแพร่ระบาดของไข้ซิกาในหลายพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศบราซิล มีผู้ได้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าไปเป็นเรือนล้านคน ที่น่าแปลกใจก็คือ ในช่วงเวลาเดียวกันที่เกิดการระบาดอย่างหนัก จำนวนทารกแรกเกิดมีอาการของโรค “ไมโครเซฟาลี” ในบราซิลที่เพิ่มพรวดพราดชนิดชวนให้ผิดสังเกต

Advertisement

“ไมโครเซฟาลี” คืออาการผิดปกติของทารกแรกเกิดที่มีขนาดของกะโหลกศีรษะและสมองเล็กกว่าขนาดของเด็กแรกเกิดทั่วไป เดิมทีนั้นเชื่อกันว่าสาเหตุของโรคมาจากสภาวะแวดล้อมและกรรมพันธุ์

แต่ในปี 2014 ทั้งปี ทั่วประเทศบราซิลมีทารกที่คลอดออกมาพร้อมอาการไมโครเซฟาลี 150 ราย

ปี 2015 กลับมีรายงานพบทารกที่คลอดแล้วมีอาการผิดปกติดังกล่าวมากถึง 4,949 ราย เป็นอัตราการเพิ่มที่สูงมากและเร็วมากจนไม่ธรรมดา

เฉพาะที่รัฐเปร์นัมบูโกแหล่งระบาดใหญ่ของไวรัสซิกาของบราซิลเพียงรัฐเดียว จำนวนเด็กแรกคลอดที่เป็นไมโครเซฟาลี ก็มีมากถึง 1,306 รายแล้ว!

หรือ “ซิกา” คือสาเหตุอันเป็นที่มาของ “ไมโครเซฟาลี”?

องค์การอนามัยโลกยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้ก่อนหน้าประกาศภาวะฉุกเฉินเพียงไม่กี่วัน พร้อมกับเตือนว่าไวรัสซิกามีแนวโน้มระบาดไปทั่วทุกชาติในอเมริกาเหนือและใต้

คนที่สังเกตพบความผิดปกติของอัตราการเกิดไมโครเซฟาลีในพื้นที่ระบาดของไวรัสซิกาและแจ้งเตือนเรื่องนี้ออกมาอย่างเป็นทางการก็คือ  พญ.วาเนสซา ฟาน เดร์ ลินเดน กุมารแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท ประจำโรงพยาบาลบาราว เดอ ลูเซนา ในเมืองเรซิเฟ รัฐเปร์นัมบูโก เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น “ศูนย์กลางการระบาดของไวรัสซิกา” ที่คุกคามโลกอยู่ในเวลานี้

วันหนึ่งในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ฟาน เดร์ ลินเดน พบทารกที่เกิดมาพร้อมไมโครเซฟาลีวันเดียว 3 ราย

“ฉันคิดว่าแปลกแฮะ เพราะที่ผ่านมาอย่างมากที่สุดเราก็พบได้แค่เดือนละรายเท่านั้น บางที 2-3 เดือนยังไม่มีเลยสักรายด้วยซ้ำ” แพทย์หญิงผู้นี้บอก

เมื่อนำเด็กแรกเกิดทั้งหมดไปทำซีทีสแกน เพื่อตรวจสอบภายในสมอง ฟาน เดร์ ลินเดน พบสิ่งประหลาดซ้ำสอง สมองของเด็กทารกแรกเกิดเหล่านั้นแสดงให้เห็นร่องรอยของ “แคลซิฟิเคชั่น” หรือการเกาะตัวสะสมของแคลเซียม ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นหาก “ไมโครเซฟาลี” นี้มีต้นเหตุมาจากความผิดปกติที่สืบทอดทางพันธุกรรม

“แคลซิฟิเคชั่น” จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีอาการ “ติดเชื้อ” ขึ้นก่อนเท่านั้น

ฟาน เดร์ ลินเดน เอะใจ แต่ยังไม่ตกใจจนกระทั่งได้พบกับ “แอนนา” ผู้เป็นมารดาที่เป็นกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาทอยู่ที่โรงพยาบาลเดียวกัน

“แม่บอกฉันว่า มีคนไข้ 7 รายรออยู่ในห้องรอรับการรักษา ทั้งหมดเป็นไมโครเซฟาลี” ตอนนั้นเองที่ฟาน เดร์ ลินเดน ได้คิดถึงเรื่องน่าตระหนก เธอจัดการแจ้งสำนักงานสาธารณสุขแห่งรัฐในทันที กระทรวงสาธารณสุขบราซิลตื่นตัวในเวลาไม่นาน หลังจากนั้นการรณรงค์ปราบยุงครั้งใหญ่ในบราซิลก็เกิดขึ้นตามมา

“ไมโครเซฟาลี” เป็นกลุ่มอาการทางประสาทหรือที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท อันเนื่องมาจากเส้นรอบวงของกะโหลกศีรษะของทารกแรกเกิดมีขนาดเล็กกว่าขนาดเฉลี่ย “อย่างมีนัยสำคัญ” ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้กับเด็กทารกเหล่านั้นเกิดสภาวะ “พัฒนาการช้า” ในหลายๆ ด้าน

ที่พบกันมากคือ อาการพัฒนาการเคลื่อนไหวช้า เช่นเดียวกับการพูด บางคนมีอาการเกี่ยวกับการมองเห็น

ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ไมโครเซฟาลีนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมองซึ่งกระทบต่อเนื่องไปยังพัฒนาการสำคัญๆ ของเด็ก เช่น ทำให้เด็กเกิดภาวะเตี้ยแคระ หรือระยางค์ร่างกายสั้นผิดปกติ บางรายแสดงให้เห็นด้วยอาการบิดเบี้ยวของใบหน้า

เด็กไมโครเซฟาลีบางคนมีอาการ “ไฮเปอร์แอคทีฟ” บางคนมีอาการชัก แต่ที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ อาการปัญญาอ่อน

องค์การอนามัยโลกยืนยันการเชื่อมโยงระหว่างซิกากับไมโครเซฟาลีในตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์

แต่กว่าจะมีหลักฐานชี้ชัดและรู้ว่าทำไม? ก็ต้องรอจนถึงเดือนเมษายน!

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีรายงานผลการศึกษาวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเผยแพร่ออกมา 2 ชิ้น ซึ่งไม่เพียงแสดงให้เห็นว่าไวรัสซิกาก่อให้เกิดกลุ่มอาการไมโครเซฟาลีได้อย่างแน่ชัดเท่านั้น ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ไวรัสซิกาก่อให้เกิดผลร้ายแรงต่อมนุษย์มากกว่าที่เคยคาดคิดกันไว้ก่อนหน้านี้มาก

รายงานชิ้นแรกเผยแพร่ในวารสารการแพทย์อังกฤษ (บีเอ็มเจ) เป็นผลการศึกษาวิจัยของทีมแพทย์จากเมืองเรซิเฟ่ นำโดย ศ.พญ.มาเรีย ฟาติมา วาสโก อารากัว แสดงให้เห็นถึงผลการตรวจสอบสภาพสมองของเด็กไมโครเซฟาลีที่เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลในเมืองเรซิเฟ่ 23 คน ระหว่างเดือนกรกฎาคมจนถึงธันวาคม 2015 ในจำนวนนี้ 15 คนผ่านการทำซีทีสแกน, 7 คนทำทั้งซีทีสแกนและเอ็มอาร์ไอ มีเพียงรายเดียวที่ผ่านเพียงการทำเอ็มอาร์ไอ

แม่ของเด็กทุกคนยกเว้นเพียงรายเดียวเท่านั้น บอกกับทีมวิจัยว่าระหว่างตั้งครรภ์มีอาการที่แสดงถึงการติดเชื้อซิกา อาการที่พบมากที่สุดก็คือการเกิดผื่นเป็นจ้ำแดง ทีมวิจัยยังตรวจสอบจนแน่ใจว่าไมโครเซฟาลีของเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้ออื่นใด

เด็กทุกคนที่ผ่านซีทีสแกนสามารถตรวจพบภาวะ “แคลซิฟิเคชั่น” หรือการสะสมของแคลเซียมขึ้นในสมอง ข้อสันนิษฐานก็คือเซลล์สมองในส่วนดังกล่าวถูกทำลายโดยไวรัสซิกา ทำให้เกิดรอย ซึ่งกลายเป็นจุดสะสมของแคลเซียมขึ้นมา

สิ่งที่พบร่วมกันอื่นๆ คือภาวะการหยุดหรือการทำงานผิดปกติของการพัฒนาเปลือกสมอง, ปริมาตรสมองหดเล็ก และ “เวนทริคิวโลเมกาลี” หรืออาการน้ำในโพรงสมอง

มีมากผิดปกติ

ทั้งหมดเหล่านั้นทำให้รายงานชิ้นนี้สรุปไว้ว่า

“ความเสียหายของสมองของเด็กเหล่านี้ที่เกิดจากการกระทำของไวรัสซิกานั้นร้ายแรงยิ่ง ส่งผลถึงการทำหน้าที่ของระบบประสาทให้อยู่ในระดับแย่ทีเดียว”

รายงานชิ้นถัดมา ถูกนำเสนอในที่ประชุมประจำปีของสมาคมวิชาการประสาทวิทยาอเมริกัน ที่นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา โดยทีมวิจัยด้านการแพทย์ของบราซิลนำเสนอรายงานผลการศึกษาวิจัยว่าด้วยผลกระทบที่เชื้อไวรัสซิกากระทำต่อสมองและระบบประสาทของผู้ป่วย 6 รายที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเรซิเฟ่ระหว่างธันวาคม 2014 จนถึงมิถุนายน 2015

ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้คือ พญ.มาเรีย ลูเซีย บริโต เฟร์เรรา จากโรงพยาบาลเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งเมืองเรซิเฟ่

รายงานชิ้นนี้บอกความน่ากลัวของไวรัสซิกาเพิ่มเติมเอาไว้ว่า ไวรัสซิกาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทของเด็กทารกในครรภ์ ทำให้เกิดกลุ่มอาการไมโครเซฟาลีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

แต่ยังส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทของผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อได้ด้วยเช่นกัน!

ทีมแพทย์ภายใต้การนำของ พญ.บริโต เฟร์เรรา เฝ้าติดตามอาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสซิกา 6 ราย ทั้งหมดมาโรงพยาบาลเพราะมีไข้และเป็นผื่น บางรายตาแดง คันและปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ซึ่งเป็นอาการของไวรัสซิกาที่รู้กันดี เมื่อตรวจสอบก็ยืนยันได้ว่าทั้ง 6 ติดเชื้อไวรัสนี้

เมื่อติดตามอาการหลังออกจากโรงพยาบาล 5 รายบอกว่ามีปัญหาในการเคลื่อนไหว การเดิน อีกหนึ่งรายบอกว่ามีอาการเกี่ยวกับการมองเห็นกับความจำ

มีอยู่ 2 รายที่มีอาการหนักหนาสาหัสที่สุด คือเกิดอาการสมองบวมขึ้นรายหนึ่ง กับอีกหนึ่งรายมีอาการ “มัยอีลิน” หรือ “ปลอกหุ้มประสาท” อันเป็นเนื้อเยื่อไขมันที่ห่อหุ้มเพื่อคุ้มครองเส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับกระดูกสันหลังได้รับความเสียหาย

แพทย์หญิงผู้นี้บอกว่า จริงๆ แล้วทีมของตนพบผู้ป่วยที่แสดงอาการทางประสาทออกมาให้เห็นมากถึง 151 ราย แต่สามารถเฝ้าติดตามเพื่อศึกษาวิจัยได้เพียง 6 รายนี้เท่านั้น

อาการสมองบวมดังกล่าวมีชื่อเรียกในทางการแพทย์ว่า โรคสมองอักเสบเฉียบพลัน (เอดีเอ็ม) ซึ่งคล้ายคลึงกับโรคปลอกหุ้มประสาทอักเสบ (เอ็มเอส) เพียงแต่อาการที่เกิดจาก

ไวรัสซิกาไม่ได้เกิดขึ้นถาวร มักเกิดครั้งเดียว หรือเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในช่วง 2-3 เดือนแล้วก็ค่อยๆ ฟื้นฟูและหายไป

ที่น่าวิตกกว่า แม้อาการจะไม่หนักเท่า ก็คืออีก 4 รายที่เหลือ ซึ่งทีมแพทย์เชื่อว่าพัฒนาอาการของโรคกิลแลง-บาร์เร ซินโดรม (จีบีเอส) เกิดขึ้นมาหลังได้รับเชื้อไวรัสซิกาเข้าไปในร่างกาย

“จีบีเอส” เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นจากภาวะในสมอง ที่เกิดอักเสบหรือได้รับการกระทบกระเทือน หรือเสียหายจากการติดเชื้อ ส่งผลให้การทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกายในส่วนของสมองที่เกิดอักเสบหรือเสียหายนั้น ทำได้ไม่เต็มที่หรือทำไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอักเสบหรือเสียหายนั้น

ถ้าเป็นเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็แสดงออกด้วยการควบคุมการเดินหรือการเคลื่อนไหวได้ยาก หรือมองเห็นไม่เป็นปกติ หรือความจำบกพร่อง อย่างที่เกิดกับผู้ป่วยในกรณีศึกษาข้างต้นนี้

หากเป็นหนักมาก ก็อาจถึงขั้นเป็นอัมพาตชั่วคราวได้

แต่กรณีของ “จีบีเอส” ที่เกิดขึ้นจากการได้รับเชื้อซิกา ไม่ได้เป็นอาการถาวร ผ่านไประยะหนึ่งก็จะค่อยๆ ฟื้นฟูและหายได้เช่นเดียวกับ “เอดีเอ็ม”

ข้อน่าวิตกของ “จีบีเอส” ก็คือ หากเกิดขึ้นกับสมองในส่วนที่ควบคุมการทำงานที่เป็นความเป็นความตายของคนเรา อย่างเช่นควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ

ไม่ว่าจะชั่วคราวเพียงใด ก็ถึงตายได้เหมือนกัน!

ตั้งแต่ต้นปีมานี้การศึกษาวิจัยเพื่อทำความรู้จักและทำความเข้าใจต่อไวรัสซิกาในหลายๆ ประเทศ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการหาทางป้องกัน ทำลายยุงลาย 2 สายพันธุ์ที่เป็นพาหะของมัน นำไปสู่ข้อสรุปของผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เพื่อการป้องกันและการแพร่ระบาดของโรค (ซีดีซี) ที่ว่า ยิ่งศึกษามากขึ้นเท่าใด ไวรัสซิกายิ่งน่ากลัวมากขึ้นเท่านั้น

เมื่อรู้จักมากขึ้น เราก็รู้วิธีหลีกเลี่ยงได้มากขึ้น คำเตือนต่างๆ ที่ออกมา ล้วนอยู่บนพื้นฐานของความรู้เกี่ยวกับไวรัสซิกาที่เพิ่มมากขึ้นทั้งสิ้น

อย่างเช่น เมื่อเรารู้ว่าไวรัสซิกาสร้างอันตรายต่อเด็กในครรภ์มากที่สุด คือส่งผลกระทบไปตลอดทั้งชีวิต ผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็ควรงดการตั้งครรภ์ด้วยการหาทาง

คุมกำเนิดไว้ก่อน

เรารู้ว่าเชื้อซิกาสามารถคงอยู่ในน้ำลาย ปัสสาวะ และอสุจิ ได้นานถึง 2 สัปดาห์ ทำให้มันสามารถถ่ายทอดผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้ ดังนั้นผู้ชายที่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ก็ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในทุกรูปแบบอย่างน้อย 1 เดือน

เรารู้ว่าเชื้อซิกาถ่ายทอดได้ผ่านเลือด ก็ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในทุกรูปแบบอย่างน้อย 1 เดือน

เรารู้ว่าเชื้อซิกาถ่ายทอดได้ผ่านเลือด ก็ควรงดเว้นการบริจาคเลือด หรือถ่ายเลือดในพื้นที่เสี่ยง เป็นต้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราได้แต่ต้องท่องทางเลี่ยงเหล่านี้ให้ขึ้นใจ เพราะปัญหาใหญ่ที่ทั้งโลกยังคิดไม่ตกอยู่ในเวลานี้ นอกจากหาวิธีป้องกันไปพลางๆ ก็คือ เรายังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อซิกา

แต่เรากำลังจะมี “โอลิมปิกเกมส์” มหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติขึ้นที่บราซิลในอีกไม่กี่เดือนนี้!!!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image