มอง 70 ปี “ปฏิญญาสิทธิมนุษยชน” ความก้าวหน้า-ความท้าทายของไทย

กาญจนา ภัทรโชค

หมายเหตุ”มติชน” นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เนื่องในโอกาสครบ 70 ปีของ “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” ว่ามีผลและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับไทยและโลก พร้อมตอบคำถามว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยเป็นปัญหาเช่นที่หลายฝ่ายเชื่อหรือไม่

๐ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญอย่างไร เหตุใดไทยและโลกจึงให้ความสำคัญกับการเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี ของปฏิญญานี้

ปฏิญญาสากลฯได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 ถือเป็นเอกสารที่เป็นพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทุกฉบับ ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 48 ประเทศแรกที่ลงคะแนนเสียงร่วมรับรองปฏิญญาฉบับนี้ ที่จริงการฉลองก็มักจะมีขึ้นทุกรอบ 10 ปี ส่วนตัวก็เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉลองปฏิญญาตอนที่ครบรอบ 50 ปี ในไทยด้วย จำได้ว่าตอนนั้นทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งในแง่พันธกรณีที่ไทยมีต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นต้น เช่นเดียวกับการฉลองครบรอบ 70 ปี ในปีนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ร่วมกันทำงานในเรื่องนี้มาตลอดทั้งปี รัฐบาลก็ได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ด้วย จะเห็นว่า การฉลองโอกาสครบรอบ 70 ปี ของปฏิญญาฯ เราไม่ได้ทำเล่นๆ แค่สัญลักษณ์ แต่เราทำกันจริงจังต่อเนื่อง มีสาระ

๐ปฏิญญาฯมีผลอย่างไรกับประเทศไทย

Advertisement

ปฏิญญาฯเป็นเอกสารที่เป็นรากฐานที่ประชาคมระหว่างประเทศยึดถือเป็นแนวทางในเรื่องสิทธิมนุษยชน ส่วนตัวเห็นว่าจิตวิญญาณของปฏิญญาฯ สอดคล้องกับที่ศาสนาต่างๆ สอนอยู่แล้ว ในฐานะที่ตัวเองเป็นชาวพุทธก็เห็นได้อย่างขัดเจนว่าปฏิญญาฯกับหลักคำสอนทางพุทธศาสนามีความสอดคล้องกัน ศีล 5 ก็สอนเรื่องการไม่เบียดเบียนไม่ละเมิดผู้อื่น ที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้นำหลักการของปฏิญญาฯ และพันธกรณีตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิให้แก่คนที่อยู่ในแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองไทยหรือไม่ก็ตาม รัฐธรรมนูญของเราก็สอดคล้องกับหลักการของปฏิญญาฯ ด้วยเช่นกัน

ปู ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ทูตสันถวไมตรียูเอ็นเอชซีอาร์กล่าวในงานครบ 70 ปีปฏิญญาฯ

๐70 ปี ผ่านไปอะไรที่ถือเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในไทย และอะไรเป็นสิ่งที่่อยากเห็นในสังคมไทย

70 ปี เป็นห้วงเวลาที่ยาว แน่นอนที่สุด พัฒนาการย่อมไปในทางที่ดีขึ้น เรื่องผู้หญิง เด็ก ผู้พิการ นี่ดีขึ้นมาก สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นจุดแข็งของไทย แน่นอนที่ต้องมีความท้าทายอยู่บ้างบางช่วง ในประเด็นที่แตกต่างกันไปตามบริบทของห้วงนั้นๆ บางช่วงก็เป็นเรื่องการเมือง บางช่วงก็เป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ส่วนตัวทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในกรอบการต่างประเทศมาราว 20 ปี ได้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานจำนวนมาก พบว่าความรู้ความเข้าใจทัศนคติต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนดีขึ้นมาก
นิสัยพื้นฐานของคนไทยก็มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อารีอารอบอยู่แล้ว ที่กระทรวงการต่างประเทศได้ทำมาคือการนำองค์ความรู้และมาตรฐานสากลมานำเสนอให้ปรับใช้ในบริบทของสังคมไทย ชี้ให้เห็นทิศทางแนวโน้มในโลก เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจ ความมั่นคง เกี่ยวพันกันหมด เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก อะไรที่ดีๆ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทย เราก็นำมาเสนอให้รับรู้รับทราบกัน
ไม่อยากให้ภาพลักษณ์ของสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของการไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐกับองค์กรเอกชนหรือชาวบ้าน หรือถูกมองว่าเป็นเรื่องของตะวันตก เพราะที่จริงแล้วสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของชีวิตของเราทุกคน ที่เราจะต้องเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ละเมิดคนอื่น ส่งเสริมให้คนดำรงชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นแนวทางสู่ชีวิตอุดมคติของสังคมมนุษย์

Advertisement

๐มองอย่างไรที่ในระยะหลังไทยมักถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์และประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ

ที่จริงไทยไม่ได้ถูกถามคำถามด้านสิทธิมนุษยชนมากเป็นพิเศษในช่วงนี้แต่อย่างใด คำถามด้านสิทธิมนุษยชนจากกลไกสหประชาชาติหรือองค์กรเอกชนต่างประเทศมีอยู่แล้วโดยตลอด เพราะเป็นหน้าที่ขององค์กรเหล่านี้ที่เขาต้องตรวจสอบซักถาม การซักถามจากสหประชาชาติส่วนใหญ่ก็จะได้รับข้อมูลร้องเรียนมาอีกที เขาก็ตรวจสอบเพื่อขอทราบข้อเท็จจริง เราก็ให้ข้อมูลชี้แจงไป แต่การตระหนักรับรู้ของสาธารณชนหรือการเป็นข่าวสมัยนี้เป็นไปได้โดยง่ายและรวดเร็วกว่าเพราะโซเชียลมีเดีย รวมทั้งในสังคมที่มีความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองมาก เรื่องเหล่านี้บางครั้งก็มีการโหนกระแสบ้าง
ถามว่าประเทศอื่นเขาถูกกลไกสหประชาชาติสอบถามไหม เขาก็ถูกสอบถามเหมือนกัน ไม่น้อยไปกว่าไทย แต่คนทั่วไปมักจะรับทราบแต่เรื่องของเรา ก็เลยไม่ได้มองเรื่องนี้ในภาพใหญ่ในเชิงเปรียบเทียบ ที่จริงประเทศไทยในแง่สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคไม่ได้น้อยหน้าใคร เราอยู่ในแถวหน้าๆ ด้วยซ้ำ ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้จะบอกว่าเราสมบูรณ์แบบ ไม่มีปัญหา อันไหนที่เป็นปัญหาจริง เมื่อทางการทราบ เราก็จะพยายามหาทางออกแก้ไข หลายเรื่องก็ไม่ได้แก้ไขง่ายๆ ชั่วข้ามคืนด้วยปัจจัยต่างๆ อาจยังไม่เอื้อ เราต้องช่วยกัน ไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของทางการหรือรัฐแต่ฝ่ายเดียว
ทุกคนต้องมีส่วนร่วมสร้างสังคมที่ดีขึ้น การมีสิทธิและเสรีภาพไม่ได้หมายถึงจะทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ปฏิญญาสากลฯ ข้อ 29 ก็ระบุไว้เช่นกันว่า ในการใช้สิทธิและเสรีภาพของเรา จะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัด เพียงเท่าที่มีกำหนดไว้ในกฎหมายเท่านั้น จะต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น สอดคล้องกับศีลธรรมและความสงบเรียบร้อยของประชาชนและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม
กระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่ของเราในการชี้แจงเวลาได้รับข้อร้องเรียนต่างๆ จากกลไกสหประชาชาติ การชี้แจงที่ประสบความสำเร็จที่สุดต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง อันนี้เป็นแนวทางที่เราตั้งมั่นอยู่เสมอ ไม่ใช่จะพูดไปสวยๆ เลื่อนลอย และหากเราเห็นข้อท้าทายอะไร ก็ช่วยกันนำองค์ความรู้ นำประสบการณ์ดีๆ ที่มีอยู่ในโลกมาแลกเปลี่ยนแบ่งปัน นำมาใช้ในสังคมไทย ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ดีในบ้านเรา เราก็ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเผยแพร่ในที่อื่น เช่น ข้อกำหนดกรุงเทพในเรื่องการปฏิบัติต่อนักโทษหญิงในเรือนจำ หรือเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ นอกจากนั้น ตอนนี้เรากำลังทำเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนกันอยู่ ต่อไปก็จะพยายามเผยแพร่ไปในประเทศเพื่อนบ้าน ในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น

ผู้ร่วมงานได้พ่นสีลงบนพื้นผ้าใบร่วมกับศิลปินเพื่อเฉลิมฉลอง 70 ปีปฏิญญาฯ

๐หลายคนมองว่า 70 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกกลับดูเหมือนจะถดถอยลง เรายังมีปัญหามากมายที่ดูเหมือนจะหาทางออกไม่ได้ ท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ เราจะทำให้คนเชื่อมั่นในประเด็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร

ส่วนตัวไม่คิดว่าถดถอยลง ถ้ามองในระดับบุคคล สถานะของผู้หญิง ของเด็ก ของผู้พิการดีขึ้น ทุกวันนี้ปัญหาที่เราเห็นในขนาดใหญ่ในโลกคือ เรื่องผู้ลี้ภัย ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ปัญหาความสุดโต่งทางความคิดและนำมาสู่ความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ เพราะโลกเชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้น คนก็โยกย้ายถิ่นฐาน ทำให้การปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมมีมากขึ้น ความแตกต่างเด่นชัดขึ้นจนหากสังคมไม่พร้อมก็นำมาสู่ความแตกแยก มาสู่การเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิของผู้อื่น
เราจะทำให้คนเชื่อมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ครูบาอาจารย์ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ถ้าเราเองยังทำไม่ดี จะไปหวังให้ลูกหลานของเราทำดีได้อย่างไร การใช้โซเชียลมีเดียต้องเป็นไปอย่างรับผิดชอบ ไม่สร้างหรือแพร่ขยายความเกลียดชัง ธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน ต้องดูแลสิ่งแวดล้อม โรงเรียนต้องสอนศีลธรรม และสอนให้คนละอายและเกรงกลัวต่อบาป มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองที่จะส่งผลกระทบต่อคนอื่นและสังคม
เราไม่เชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนไม่ได้ เพราะมันไม่มีทางเลือกอื่น เราเป็นมนุษย์ที่ต่างจากสัตว์ตรงที่เรามีศักยภาพในการฝึกตน สามารถพัฒนาสติและปัญญา และเมื่อเรามองเห็นคนอื่นๆ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ เคารพเขาเช่นเดียวกับที่เราเคารพตัวเอง นั่นแหละ เราจึงได้ชื่อว่ามีมนุษยธรรม ตามที่พระพุทธองค์ท่านสอนไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image