คอลัมน์ไฮไลต์โลก: อาชญากรผู้สูงวัย

นักโทษผู้สูงอายูขณะทำกิจกรรมออกกำลังกายภายในเรือนจำ (ซีเอ็นเอ็น)

คนเรารู้หน้า ไม่รู้ใจ เป็นคนสูงวัย ก็ใช่ว่าจะไม่น่ากลัว!

ยืนยันได้จากข้อมูลที่มีการเก็บสถิติอย่างเป็นทางการของหน่วยงานเกาหลีใต้เกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมภายในประเทศ ที่พบว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของอาชญากรรมซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นอาชญากรรมที่ผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มคนที่มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่านั้นขึ้นไป

ขณะที่อาชญากรรมร้ายแรงที่รวมถึงเหตุฆาตกรรม วางเพลิง ข่มขืนและปล้น มีอัตราการก่อเหตุเพิ่มมากขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์จากที่มีอยู่ประมาณราวพันคดีในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,800 คดีในปี 2560

หนึ่งในคดีเมื่อเร็วๆนี้ที่ผู้ก่อเหตุเป็นผู้สูงอายุ เป็นคดีชายวัย 70 ปี ถูกตำรวจจับกุมในข้อหาทำร้ายร่างกายคนส่งพัสดุ เหตุจากบันดาลโทสะเพราะคิดว่าคนสงพัสดุมาส่งพัสดุช้า แต่ในความเป็นจริงชายสูงอายุคนดังกล่าวได้รับพัสดุไปแล้วตั้งแต่ 2 วันก่อนเกิดเหตุทำร้ายร่างกาย แต่ผู้ก่อเหตุหลงลืม

Advertisement

อีกคดีเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ชายวัย 70 ปีถูกกล่าวหาว่าฆ่าข้าราชการ 2 คนและทำร้ายเพื่อนบ้านเหตุจากทะเลาะวิวาทกันเรื่องน้ำ อีกคดีเกิดขึ้นในเดือนเมษายนปี เป็นหญิงชราวัย 69 ปีถูกจับกุมในข้อหาเทยาฆ่าแมลงใส่ลงในสตูว์ปลาที่ทำแจกชาวบ้านในงานของหมู่บ้านหนึ่ง

ปัจจุบันเกาหลีใต้ถือเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยมีประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปคิดเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ ทว่าการมีอายุยืนขึ้นของกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านั้น ไม่ได้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงมากขึ้นตามอายุไปด้วย โดยข้อมูลของซีเอ็นเอ็นชี้ว่าผู้สูงอายุชาวเกาหลีใต้มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับเบี้ยบำนาญและกว่าครึ่งของประชากรผู้สูงอายุในประเทศนี้ยังอยู่ในความยากจน

โช ยุน โอ อาจารย์และนักอาชญาวิทยาของมหาวิทยาลัยดงกุ๊ก ในกรุงโซล กล่าวถึงปัญหานี้ว่า การไม่มีงานให้กลุ่มผู้สูงอายุทำ อาจมีผลทำให้พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกว่าตนเองถูกตัดขาดจากสังคมและสามารถนำไปสู่ความรู้สึกเกลียดชังผู้อื่น เกิดภาวะซึมเศร้าหรือแสดงพฤติกรรมต่อต้านสังคมได้

Advertisement

“ความโดดเดี่ยวและความรู้สึกว่าพวกเขาไม่มีอะไรจะต้องเสีย อาจทำให้พวกเขาสูญเสียการควบคุมตัวเองและทำอะไรที่ไม่ยั้งคิดได้ ส่วนคนที่ยังติดต่อกับสังคมผ่านครอบครัวและการทำงานมีแนวโน้มที่จะควบคุมตัวเองได้ดีกว่า นั่นสามารถหยุดยั้งพวกเขาจากการก่ออาชญากรรมได้” โชกล่าว

กระนั้นแม้แต่ในเรือนจำเองก็ยังต้องรับมือกับปัญหาจากกลุ่มนักโทษผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพที่มีตั้งแต่ภาวะสมองเสื่อม โรคมะเร็ง โรคไต รวมถึงการแยกตัวเองออกจากสังคม

อี ยุน ฮวี รองผู้อำนวยการเรือนจำนัมบุในกรุงโซลชี้ถึงปัญหาของนักโทษผู้สูงอายุว่าไม่ใช่แค่พวกเขามีร่างกายที่อ่อนแอกว่าคนหนุ่มเท่านั้น เมื่อพวกเขาเหล่านั้นต้องอยู่ปะปนกับคนหนุ่ม โอกาสที่จะมีปัญหากันก็มีอยู่สูง ด้วยช่องว่างระหว่างวัยและความต่างทางวัฒนธรรม

ส่วนมุมความเห็นของนักโทษรายหนึ่งในเรือนจำเชื่อว่า”อาชญากรรมเพิ่มขึ้นเพราะคนไม่มีเงิน” เพราะไม่มีการจ้างงานและขาดการสนับสนุนกลุ่มคนสูงวัย

นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เมื่อนักโทษกลับคืนสู่สังคมแล้ว หลายคนก็หวนไปก่ออาชญากรรมอีก โดยในกลุ่มนักโทษสูงอายุมีมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์เมื่อได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว ก็ไปกระทำผิดซ้ำ

ข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญอย่างโชมองว่าการสร้างเครือข่ายสนับสนุนทางสังคมที่เข้มแข็งน่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่อาจช่วยป้องกันการกระทำผิดในอนาคตได้ ขณะเดียวกันคนในสังคมก็จะต้องมีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจในสถานการณ์อันยากลำบากที่กลุ่มผู้สูงวัยส่วนใหญ่ต้องเผชิญ เชื่อว่าจะช่วยให้เกิดการสนับสนุนผลักดันนโยบายและการให้บริการที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น

ข่าวรอบด้าน กับ Line@มติชนนิวส์รูม คลิกเป็นเพื่อนกัน ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image