การเป็นประธานอาเซียนเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน

วันนี้ 1 มกราคม 2562 ไทยเริ่มทำหน้าที่ประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ได้รับมอบตำแหน่งผ่านมาจากสิงคโปร์ในการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 33 เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยไทยได้เปิดตัวแนวคิดในการทำหน้าที่ประธานอาเซียน “Advancing Partnership for Sustainability (ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน)” ซึ่งหลายท่านคงได้รับทราบจากสื่อต่าง ๆ ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

การเป็นประธานอาเซียนเป็นภารกิจที่ทุกภาคส่วนและคนไทยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมสนับสนุนให้การจัดประชุมต่าง ๆ สำเร็จลุล่วง และผลักดันแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

ใจความของแนวคิดนี้ประกอบด้วย การก้าวไกล คือ การก้าวไปข้างหน้าอย่างมีพลวัตรและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเท่าทัน การร่วมมือ ร่วมใจ หมายถึง ขับเน้นความเป็นหุ้นส่วนภายในอาเซียนและกับประชาคมโลก และส่งเสริมความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ และความยั่งยืน คือ การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ โดยรวมแล้ว หมายถึงการร่วมมือกับหุ้นส่วนทั้งในและนอกภูมิภาคเพื่อเตรียมอาเซียน  ให้พร้อมสู่ยุคอนาคตที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด โดยไม่มองข้ามธรรมชาติและความเจริญสีเขียว ทั้งหมดต้องเป็นการพัฒนาในทุกมิติให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในปฏิญญากรุงเทพ แต่ปรับให้เข้ากับบริบทในปัจจุบัน

ไทยเป็นประธานอาเซียนครั้งล่าสุดเมื่อปี 2551-2552 ซึ่งเป็นปีแรกที่กฎบัตรอาเซียนมีผลใช้บังคับ ทำให้อาเซียนมีกฎระเบียบชัดเจนขึ้น ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญในการเป็นประธานอาเซียนครั้งนี้ คือ การสานต่อการดำเนินการของอาเซียนที่ผ่านๆ มา เพื่อสร้างความต่อเนื่องและยั่งยืน รวมทั้งเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนที่เริ่มมาเมื่อปีก่อน

Advertisement

ในฐานะประธานอาเซียน ไทยต้องเป็นเจ้าภาพการประชุมถึง 180 ครั้งตลอดทั้งปี ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบงานสามเสาหลักของอาเซียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในระดับต่างๆ กัน จึงเป็นโอกาสพิเศษที่ไทยจะแสดงศักยภาพในการจัดประชุมนานาชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดี รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของอาเซียนให้มากขึ้น

บัดนี้ อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก มีประชากรกว่า 650 ล้านคน และเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทย อาเซียนจึงต้องปรับตัวตามโลกที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วและรุนแรงเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยี รวมทั้งมีสิ่งท้าทายรูปแบบใหม่ที่ก้าวข้ามเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ เช่น ความมั่นคงทางไซเบอร์ ภัยธรรมชาติ และโรคระบาด โดยใช้แนวทางการทำงาน 3C ที่ประกอบด้วย ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) การเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน (complementarities) และความต่อเนื่อง (continuity) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานโดยนำเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ประสานงานกับ   ทุกฝ่ายเพื่อเสริมจุดแข็ง และปฏิบัติตามนโยบายอย่างต่อเนื่องจนเห็นผลเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ดอน ปรมัตถ์วินัย

แนวทางการทำงานดังกล่าวแฝงอยู่ในแนวคิดการเป็นประธานอาเซียนของไทยอย่างชัดเจน กล่าวคือ การร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนย่อมช่วยเสริมศักยภาพระหว่างกัน การส่งเสริมความร่วมมือทางเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ๆ เพื่อก้าวสู่อนาคตต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องมีรากฐานจากนโยบายและการปฏิบัติที่ต่อเนื่องจนบรรลุเป้าหมาย

Advertisement

อาเซียนมีแนวทางการทำงานที่เปิดกว้างและร่วมมือกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาคมานานกว่า 40 ปี เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศที่สาม จนปัจจุบันมีประเทศคู่เจรจา 9 ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ บวกสหภาพยุโรป รวมเป็น 10 คู่เจรจา รวมทั้งมีประเทศคู่เจรจาเฉพาะสาขา (sectoral dialogue partner) อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์ และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (development partner) คือ เยอรมนี ในขณะเดียวกันก็พร้อมร่วมมือกับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อและสนับสนุนกัน (connecting the connectivities) เช่น ระหว่างแผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียนกับโครงการในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) ข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) และแนวคิด Indo – Pacific ดังนั้น การที่ไทยจะขยายความร่วมมือกับหุ้นส่วนทั้งหลายจึงเป็นการสานต่อสิ่งที่อาเซียนทำมาต่อเนื่อง แต่ยิ่งสำคัญกว่าเดิมเพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงทำให้อาเซียนและนานาประเทศต้องประสานงานใกล้ชิดขึ้น

อาเซียนมีความร่วมมือหลายอย่างที่อำนวยประโยชน์แก่ประชาชน เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียนซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 การจัดทำความตกลงการค้าเสรี Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ซึ่งอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ตั้งเป้าจะเจรจาให้สำเร็จในปีนี้ และการยอมรับใบขับขี่ระหว่างกันทำให้ผู้มีใบขับขี่ไทยแบบสมาร์ทการ์ดนำไปใช้ขับขี่ในประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้ ดังนั้น เมื่อไทยเป็นประธานอาเซียน จึงต้องการผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมเพิ่มเติม อาทิ การเชื่อมโยงอาเซียนด้วยระบบดิจิทัล และการตั้งศูนย์ความรู้และฝึกอบรมในด้านต่างๆ เช่น ศูนย์อาเซียนเพื่อการหารือและการศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue) และศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre)

ในโอกาสที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ไทยมุ่งมั่นที่จะทำให้อาเซียนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ และมีการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ และที่สำคัญคือมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้อาเซียนรักษาบทบาทนำในการขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของภูมิภาค จึงขอเชิญชาวไทยทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดี ต้อนรับคณะผู้แทนที่จะมาประชุมตลอดทั้งปี เพื่อให้การเป็นประธานอาเซียนของไทยประสบความสำเร็จทั้งในด้านสาระและการรับรองผู้เข้าร่วมการประชุม

///////

จากสมาคมสู่ประชาคม

พัฒนาการของอาเซียนสู่การเป็นประธานของไทย

 

อาเซียนถือกำเนิดขึ้นจากปฏิญญากรุงเทพที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ร่วมลงนามเมื่อปี 2510 ซึ่งเป็นช่วงที่ความมั่นคงในภูมิภาคได้รับผลกระทบจากสงครามเย็น ประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนจึงตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องรวมกำลังกันเพื่อเพิ่มทางเลือกและอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศ โดยในปฏิญญากรุงเทพได้ระบุไว้ว่า เป้าหมายของอาเซียน คือ การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ การส่งเสริม   การเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคมวัฒนธรรม และการเสริมสร้างความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ

การขับเคลื่อนอาเซียนในยุคแรกยึดหลัก 3C ที่ประกอบด้วย การปรึกษาหารือ (consultation) ความร่วมมือ (cooperation) และฉันทามติ (consensus) ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันของประเทศสมาชิกและการสร้างความมั่นใจ การตัดสินใจใด ๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกประเทศ และยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นวิถีอาเซียนหรือ ASEAN Way

ในช่วง 50 ปีกว่าที่ผ่านมา อาเซียนได้ใช้หลักฉันทามติและการไม่แทรกแซงกิจการภายในฟันฝ่าปัญหาท้าทายทั้งหลาย จนเติบโตมาได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่มั่นคง เมื่อสิ้นยุคสงครามเย็นและโลกเข้าสู่สมัยแห่งการร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน จำนวนสมาชิกอาเซียนได้ขยายเป็น 10 ประเทศ ซึ่งได้ร่วมกันรับมือภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ เช่น โรคซาร์ส สึนามิ และภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว

หลังจากที่กฎบัตรอาเซียนมีผลใช้บังคับเมื่อปี 2558 อาเซียนได้ยกระดับความร่วมมือจากการเป็นสมาคมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่ประกอบด้วยสามเสาหลัก คือ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ส่งผลให้อาเซียนมีวิสัยทัศน์และเอกลักษณ์ร่วมกันโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการส่งเสริมให้ประชาชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างประชาคมที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง

เมื่อเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว แนวคิดในการทำงานได้ปรับเปลี่ยนเป็น 3C ชุดที่สอง คือ การเป็นประชาคม (community-building) ความเชื่อมโยง (connectivity) และการเป็นแกนกลาง (centrality) ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า หลังจากที่อาเซียนได้ขยายตัวด้านจำนวนสมาชิกไปแล้ว ก็ต้องการรวมตัวให้แน่นแฟ้นและลงลึกกว่าเดิมในมิติต่าง ๆ ไปพร้อมกันด้วย เพื่อเป็นประชาคมอาเซียนที่มั่นคงและสามารถรักษาบทบาทนำของอาเซียนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาในภูมิภาค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image