“อนัก กรากาตัว” เหลือมวลเพียง1ใน4

(Nurul Hidayat/Bisnis Indonesia via AP)

คณะนักวิทยาศาสตร์ประจำศูนย์บรรเทาพิบัติภัยเชิงธรณีวิทยาและภูเขาไฟวิทยา ของอินโดนีเซีย เปิดเผยผลการวิเคราะห์เบื้องต้นว่า เกาะภูเขาไฟ อนัก กรากาตัว ซึ่งเกิดระเบิดครั้งใหญ่ต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิขึ้นตามมานั้น หลงเหลือมวลทั้งหมดเพียง 1 ใน 4 ของมวลเดิมก่อนหน้าการระเบิดใหญ่ครั้งนี้

ในรายงานของศูนย์ดังกล่าวระบุว่า มวลรวมของภูเขาไฟลูกนี้ในเวลานี้ หลงเหลืออยู่ระหว่าง 40 ล้าน ถึง 70 ล้านคิวบิกเมตรเท่านั้น สูญเสียมวลเดิมของมันไปมาก ระหว่าง 150 ล้านคิวบิกเมตรถึง 180 ล้านคิวบิกเมตร

ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการยุบตัวถล่มลงสู่ทะเลของมวลภูเขาไปปริมาณมหาศาล ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดสึนามิ ความสูง 2-3 เมตร พัดถล่มชายฝั่งทั้งสองด้านของช่องแคบซุนดา ทั้งชายฝั่งด้านใต้ของเกาะสุมาตรา และชายฝั่งตอนเหนือของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย รวมเป็นแนวยาวกว่า 300 กิโลเมตร ถล่มลึกเข้าไปในชายหาดหลายร้อยเมตร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 420 ราย และทำให้ชาวอินโดนีเซียมากถึง 40,000 คน ตกอยู่ในสภาพไร้ที่อยู่อาศัย

ข้อมูลของศูนย์ยังระบุด้วยว่า ส่วนสูงของปากปล่องภูเขาไฟ อนัก กรากาตัว ซึ่งเดิมเคยสูงถึง 338 เมตร หลงเหลือความสูงเพียง 110 เมตรเท่านั้น สูญเสียความสูงไปไม่น้อยกว่า 228 เมตร

Advertisement

อนัก กรากาตัว ยังคงระเบิดอยู่อย่างต่อเนื่องส่งกลุ่มควันปกคลุม ในขณะเดียวกันท้องทะเลในบริเวณดังกล่าวก็มีคลื่นลมแรงเป็นพิเศษ ทำให้การศึกษาวิจัยสาเหตุแลผลลัพธ์ของการระเบิดของอนัก กรากาตัว ในครั้งนี้ยังคงต้องอาศัยภาพถ่ายผ่านดาวเทียมเป็นหลัก แต่ยังคงคาดหวังว่านักวิชาการของศูนย์จะสามารถเข้าถึงตัวเกาะเพื่อตรวจสอบอย่างชัดเจนหลังการระเบิดครั้งนี้ผ่านไป ทำให้ได้ข้อมูลทางวิชาการที่แม่นยำมากขึ้นในอนาคต

จนถึงขณะนี้ ทางการอินโดนีเซียยังคงประกาศเตือนให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง อยู่ห่างจากชายฝั่งโดยรอบช่องแคบซุนดาไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร เพื่อหลีกเลี่ยงจากความเสี่ยงกรณีเกิดสึนามิขึ้นอีกครั้ง แม้ว่านักวิชาการจะยืนยันว่าหากเกิดการระเบิดใหญ่ขึ้นมาและเกิดสึนามิขึ้นอีกครั้ง ความรุนแรงของสึนามิรอบใหม่นี้น่าจะลดลง

เพราะมวลของ อนัก กรากาตัว ลดลงอย่างมากแล้วนั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image