คอลัมน์ ส่องเลือกตั้งปธน.สหรัฐ: ‘เอ็นดอร์สเมนต์’ การเลือกข้างของสื่อสิ่งพิมพ์อเมริกัน

สําหรับผู้ที่ติดตามข่าวการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกามานานอาจคุ้นเคยหรือได้ผ่านหูผ่านตากับการ “เอ็นดอร์ส” หรือการประกาศสนับสนุนผู้สมัครคนใดคนหนึ่งของบรรดานักการเมือง คนดังหรือแม้กระทั่งสื่อต่างๆ มาบ้าง

การประกาศให้การสนับสนุนผู้สมัครที่เราชื่นชอบของนักการเมืองหรือคนดังในแวดวงต่างๆ อาจไม่ใช่เรื่องผิดบาป แต่สำหรับสื่อที่ตามหลักการแล้วควรจะต้องเป็นกลาง เรื่องแบบนี้ทำได้ด้วยหรือ?

เทรนท์ สไปเนอร์ บรรณาธิการบริหารของนิวแฮมป์เชียร์ยูเนียนลีดเดอร์ (เอ็นเอชยูแอล) หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชั้นนำในรัฐนิวแฮมป์เชียร์บอกว่า การเอ็นดอร์สไม่ใช่เรื่องผิด แถมยังถือเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติมาอย่างยาวนานของสื่อสิ่งพิมพ์อเมริกันด้วยซ้ำ

วัฒนธรรมนี้เกิดมาจากเมื่อก่อนผู้คนบางส่วนทำงานจนไม่มีเวลาศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายของผู้สมัครที่บางครั้งมีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ที่ถือเป็นรัฐที่ 2 ในการเลือกตั้งขั้นต้นประธานาธิบดีสหรัฐต่อจากรัฐไอโอวา แต่เป็นรัฐแรกในการเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารี โดยของไอโอวานั้นเป็นแบบคอคัส

Advertisement

และในยุคที่สื่อกระแสหลักยังมีทางเลือกน้อย หนังสือพิมพ์ถือเป็นสื่อที่ผู้คนให้ความเชื่อถืออย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การเอ็นดอร์สต้องโปร่งใสทั้งกระบวนการ มีเหตุผลรองรับ มีเอกสารหลักฐาน และที่สำคัญที่สุด ต้องไม่มีผลประโยชน์ตอบแทน และชัดเจนว่าการเอ็นดอร์สนั้นทำได้ในส่วนของบทบรรณาธิการที่เป็นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งต้องแยกออกจากการนำเสนอข่าวที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง โดยไม่เอาไปปะปนกัน

นอกจากนี้การประกาศเอ็นดอร์สผู้สมัครคนใดคนหนึ่งไปแล้ว ยังสามารถถอนหรือเปลี่ยนแปลงได้อีกด้วย ยกตัวอย่างของเอ็นเอชยูแอลเองที่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้ประกาศสนับสนุนคริส คริสตี ผู้ว่าการรัฐนิวแฮมป์เชียร์ หนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกัน

Advertisement

สไปเนอร์บอกว่า ตอนนั้นคริสตีให้สัญญาว่าจะไม่เอ็นดอร์ส โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกันอีกราย แต่คริสตีกลับทำแบบนั้นหลังจากตนเองถอนตัวไปแล้ว ทำให้ทางเอ็นเอชยูแอลต้องประกาศถอนการเอ็นดอร์สคริสตี เพื่อแสดงจุดยืนของทางหนังสือพิมพ์ว่าไม่สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์

มีผู้สมัครที่ลงชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้ ที่อยู่รอดมาจนถึงการเลือกตั้งขั้นต้นในรัฐนิวแฮมป์เชียร์มากถึง 22 ราย และสิ่งที่หนังสือพิมพ์อย่างเอ็นเอชยูแอลทำคือการเชิญผู้สมัครทั้งหมดมาพูดคุย สอบถามถึงนโยบายและจุดยืนในเรื่องต่างๆ เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วก็จะทำการชั่งน้ำหนักว่า นโยบายของผู้สมัครคนไหนจะส่งผลดีต่อชุมชน เมือง รัฐ หรือประเทศโดยรวมมากกว่า จึงตัดสินใจประกาศเอ็นดอร์สผู้สมัครคนนั้น

การเอ็นดอร์สนั้นจะเลือกเฉพาะฝั่งก็ได้ อย่างเอ็นเอชยูแอลที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม ประกาศสนับสนุนผู้สมัครรีพับลิกันอย่างเดียว ขณะที่เดอะ ฟิลาเดลเฟีย อินไควเรอร์ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนียประกาศเอ็นดอร์สผู้สมัครทั้ง 2 ฝั่งคือ ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐทางฟากเดโมแครตและจอห์น เคซิก ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอทางฝ่ายรีพับลิกัน รวมถึงมีการประกาศเอ็นดอร์สผู้สมัครชิงตำแหน่งอื่นในการเลือกตั้งทั่วไปทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น อีกทั้งยังให้คำแนะนำการลงคะแนนต่อคำถามในการลงประชามติด้วย

ขณะที่ทางสื่อโทรทัศน์นั้นจะต่างจากหนังสือพิมพ์ เพราะลักษณะการทำงานและการรายงานข่าวที่ไม่เหมือนกัน โดยอลิชา แมคเดวิดผู้อำนวยการข่าวของดับเบิลยูเอ็มยูอาร์ทีวี สถานีโทรทัศน์ใหญ่ที่สุดในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ เปิดเผยว่า สถานีมีการจัดดีเบตระหว่างผู้สมัครจึงต้องพยายามนำเสนอโดยรักษาความเป็นกลางไว้

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าผู้สมัครที่ได้รับการเอ็นดอร์สจะทำผลงานได้ดี จากการที่อิทธิพลของสื่อกระแสหลักลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มีสื่อใหม่อย่างเครือข่ายสังคมต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ตเช่นนี้ ทำให้ผู้คนมีเวลาในการศึกษาข้อมูลของผู้สมัครได้ด้วยตนเองมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image