ไทยเฮ! อียู “ปลดใบเหลือง” ไอยูยู “บิ๊กฉัตร” ประกาศความสำเร็จ ยกระดับประมงไทยสู่สากล (คลิป)

ผู้สื่อข่าว”มติชน” รายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยมว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคมตามเวลาท้องถิ่น สหภาพยุโรป(อียู)ได้ประกาศปลด “ใบเหลือง” ประมงไทยอย่างเป็นทางการแล้ว นับเป็นความสำเร็จของรัฐบาลในความพยายามเกือบ 4 ปีในการยกระดับประมงไทยให้ปลอดไอยูยู ขณะที่ “บิ๊กฉัตร” พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ยืนยันจะเดินหน้าจัดระเบียบประมงไทย ฟื้นทรัพยากรทางทะล ควบคู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมง พร้อมเดินหน้าให้ไทยเป็นประเทศปลอดไอยูยูโดยสมบูรณ์ และเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาไอยูยูในระดับภูมิภาคต่อไป

เมื่อเวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ แถลงข่าวร่วมกับนายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง ที่สำนักงานใหญ่อียู ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม โดยนายเวลลาระบุว่า ตนยินดีที่จะประกาศว่าสหภาพยุโรปได้ตัดสินใจปลดใบเหลืองประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เนื่องจากไทยได้ดำเนินการด้านกฎหมายและด้านการปกครองตรงตามข้อบังคับสากลในการต่อต้านการทำประมงไอยูยู หลังจากนี้อียูและไทยจะสร้างกลุ่มการทำงานในการต่อสู้เรื่องไอยูยูร่วมกันต่อไป โดยเฉพาะไทยจะเป็นผู้นำในกลุ่มอาเซียนในการดำเนินการแก้ปัญหาการประมงไอยูยูใน พร้อมทั้งยืนยันว่าอียูจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ไทยในการแก้ไขปัญหาไอยูยูต่อไป

ด้านพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวร่วมกับนายเวลลา ซึ่งไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับการพิจารณาในครั้งนี้ว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและความสำเร็จที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันพยายามแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยูมาโดยตลอด เนื่องจากตลอดช่วงเวลาเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่ไทยได้ใบเหลืองเมื่อเดือนเมษายน 2558 ไทยได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือไอยูยู จนมีผลเป็นรูปธรรมอย่างครอบคลุมทั้งในด้านกรอบกฎหมาย การบริหารจัดการประมง การบริหารจัดการกองเรือ การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) การตรวจสอบย้อนกลับ และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งทำให้ไทยสามารถแสดงความรับผิดชอบและบทบาททั้งในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของท่าและรัฐตลาด ในระดับของมาตรฐานสากล ส่งผลให้สหภาพยุโรปปลดใบเหลืองให้ไทย ซึ่งสะท้อนความสำเร็จที่ไทยได้ยกระดับของการทำประมงเชิงพาณิชย์ ทั้งในและนอกน่านน้ำเข้าสู่มาตรฐานสากล และพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค

“จากนี้ไปรัฐบาลไทยก็ยังมีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่แน่วแน่และชัดเจน ที่จะขจัดปัญหาการทำประมงไอยูยู เพราะตระหนักดีถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง มิใช่เฉพาะแต่ของไทยแต่ของโลกโดยรวม ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูได้ถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ผมมากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และเชื่อมั่นว่าไทยได้วางรากฐานระบบป้องกันการทำประมงไอยูยู ไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วย 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. ด้านกฎหมาย 2. ด้านการบริหารจัดการประมง 3. ด้านการบริหารจัดการกองเรือ 4. ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) 5. ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และ 6. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย” พลเอกฉัตรชัย กล่าว

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการระยะต่อไปหลังการเจรจาระดับทวิภาคีร่วมกับนายเวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมงนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเกี่ยวกับแผนงานความร่วมมือในอนาคตกับสหภาพยุโรปเพื่อให้ไทยบรรลุการเป็นประเทศปลอดประมงไอยูยู หรือ ไอยูยูฟรีได้โดยสมบูรณ์ต่อไป รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยูร่วมกันด้วย ประกอบด้วย 3 แผนหลัก ได้แก่ 1. การจัดตั้งคณะทำงานไทย-สหภาพยุโรปเรื่องการต่อต้านการทำประมงไอยูยู โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้การมีจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเป็นกลไกร่วมมือในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง 2. การจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงไอยูยู หรือ เนื่องจากประสบการณ์การแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยู ที่ไทยสั่งสมเกือบตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ไทยพร้อมที่จะร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกัน โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน

“ในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ จึงมีแนวคิดหลักที่จะส่งเสริมหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนด้วย โดยไทยได้เสนอที่จะผลักดันการจัดทำนโยบายประมงอาเซียน ให้มีผลเป็นรูปธรรม รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงไอยูยู เพื่อเป็นกลไกการป้องกันการทำประมงไอยูยูของภูมิภาคด้วย โดยนายกรัฐมนตรีก็ได้แถลงให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทราบถึงความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องนี้แล้ว ในการประชุมสุดอาเซียนครั้งที่ 33 เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งไทยกำลังเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในช่วงเดือนเมษายน 2562 เพื่อผลักดันการจัดตั้ง “อาเซียนไอยูยูทาสก์ฟอร์ซ” และขอขอบคุณสหภาพยุโรปที่พร้อมจะสนับสนุนด้านงบประมาณสำหรับการจัดประชุมฯด้วย” พลเอกฉัตรชัย กล่าว

พลเอกฉัตรชัยกล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ 3 คือ การส่งเสริมการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงไอยูยู หรือไอยูยู ฟรี-ไทยแลนด์ ตามที่ไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงไอยูยู และได้เชิญผู้แทนอียูเข้าร่วมประชุม เมื่อเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งทางอียูได้มอบหมายให้นายโรแบร์โต เซซารี หัวหน้าฝ่ายนโยบายไอยูยู ของกระทรวงกิจการทางทะเลและประมง เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อนำเสนอการดำเนินงานด้านการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่ไทยจะศึกษาเพื่อใช้ในการพัฒนาแผนงานการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของไทย และนำไปสู่ไอยูยู ฟรี-ไทยแลนด์ ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นต่อไป

Advertisement

“ความร่วมมือระหว่างไทย-สหภาพยุโรปที่ผ่านมา โดยเฉพาะข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีของการทำประมงที่ยั่งยืนที่ให้แก่ไทยมาโดยตลอด และส่งผลต่อความสำเร็จของไทยในวันนี้ สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปต่อไป ขณะเดียวกันยังแสดงถึงความพร้อมของไทยที่จะมีบทบาทนำในการส่งเสริมความยั่งยืนทางทะเลในทุกมิติในระดับภูมิภาคและในเวทีระหว่างประเทศ ด้วยความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปด้วย” พลเอกฉัตรชัย กล่าว

ทั้งนี้สำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีปัญหาประมงไอยูยูมีประเทศฟิลิปปินส์ ที่ได้ใบเหลืองเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2557 ก่อนจะปลดใบเหลืองได้ในเดือนเมษายน ปี 2558 ประเทศเวียดนามที่ได้ใบเหลืองเมื่อ เดือนตุลาคม ปี 2560 และประเทศกัมพูชาที่ได้ใบแดงเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2556

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากปลดใบเหลืองแล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไร และต้องปฏิบัติอย่างไรเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นประเทศที่ถูกจับตามองอีกครั้ง นายฉัตรชัยระบุว่าสิ่งสำคัญคือความร่วมมือของชาวประมง ไม่เพียงแต่ส่วนราชการเท่านั้น ทั้งประมงพื้นบ้าน ประมงพานิชย์ ผู้ประกอบการ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาปรากฏแล้วว่าหากทำไปตามนโยบาย ความสมบูรณ์จะเกิดขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ในอ่าวไทยกลับมาชัดเจน เชื่อว่าทุกฝ่ายหากเห็นความสำคัญร่วมกันก็จะเดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน

ต่อข้อถามที่ว่า การปลดใบเหลืองครั้งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการมีกำหนดการเลือกตั้งของไทยในเดือนมีนาคมนี้หรือไม่ นายเวลลาระบุว่า ตนขอยืนยันได้ว่าเรื่องความยั่งยืนในการประมงนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง

ขณะที่พลเอกฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ไทยทำงานอย่างหนัก มีกฎหมายมากกว่า 130 ฉบับ มีการลดจำนวนเรือให้เหมาะสม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ระยะเวลาสั้นๆ ตลอดเวลา 4 ปี เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง สิ่งสำคัญที่สุดต้องทำให้ประเทศนั้นๆ เข้าใจเรื่องความยั่งยืนอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image