สัมภาษณ์พิเศษ : ‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’มอง 4 ปีผลงานด้านตปท.ของไทย(1)

หมายเหตุ”มติชน” นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงภาพรวมผลงานด้านต่างประเทศของรัฐบาลในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

//////

๐มองว่าความสำเร็จในด้านการทูตของรัฐบาลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาคืออะไรบ้าง

“ไม่มีใครปฎิเสธไทย” อาจจะเกี่ยงในตอนต้นว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารแต่ก็ขอดูว่ามีพัฒนาการอย่างไรหลังจากเกิดอลเวงกันทั้งประเทศมาเป็นปี และก่อนหน้านั้นก็ทะเลาะกันไม่หยุด พอดูไปเรื่อยๆ พบว่าบ้านเมืองดีขึ้นตลอด ท่าทีของไทยในเวทีวงการระหว่างประเทศก็มีความเป็นสากล ชัดเจนในหลักการและเป็นจริง

Advertisement

เมื่อทอนมาเป็นในเชิงปฎิบัติ มีความพยายามปฎิรูปในหลายเรื่องที่สำคัญรวมทั้งการวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวให้แก่ประเทศ และพบว่าผู้นำไทยระดับต่างๆ มีความตั้งใจจริงที่จะดูแลประเทศไทยและมีผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทยเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งฐานะในด้านต่างๆ ของประเทศก็ได้รับการจัดอันดับสูงขึ้นจากสถาบันต่างๆ ของสากล เป็นเช่นนี้เรื่อยจนมีการยอมรับของประเทศอำนาจตะวันตกเชิญให้ไปเยือน ถือว่าความสัมพันธ์กับนานาประเทศเป็นปกตินับตั้งแต่ปีที่ 3 ของรัฐบาลนี้ เป็นต้นมา

สำหรับภารกิจโดยรวมด้านการต่างประเทศกล่าวได้ว่าตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินภารกิจมากมายบนหลัก “การต่างประเทศ 5S หรือ 5มี” ซึ่งประกอบด้วย (1) Security มีความมั่นคง (2) Sustainability มีความมั่งคั่ง ยั่งยืน (3) Standard มีมาตรฐานสากล (4) Status มีสถานะและเกียรติภูมิ และ (5) Synergy มีพลัง ซึ่งสื่อว่า กระทรวงการต่างประเทศมุ่งมั่นทำให้ประเทศไทยและคนไทยได้รับผลประโยชน์จากการเชื่อมโยงกับต่างประเทศใน 5 ด้าน กล่าวคือ

Security / มีความมั่นคง นั่นคือกระทรวงการต่างประเทศกระชับความสัมพันธ์ในทุกระดับและทุกมิติกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ปัจจุบันความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในระดับที่ดีเยี่ยมที่สุดในรอบหลายปี ชายแดนมีความสงบสุข เกิดจุดผ่านแดนเพิ่มขึ้น นำไปสู่การไปมาหาสู่กัน การค้าขายระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเจริญรุ่งเรือง

ไทยได้ดำเนินความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และรัสเซีย อย่างต่อเนื่องในทุกมิติและอยู่บนหลักของความสมดุล ดังจะเห็นจากการที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้เชิญนายกรัฐมนตรีเยือนกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนตุลาคมปี 2560 และเมื่อปีที่แล้ว มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเฉลิมฉลอง 185 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ไทยได้กระชับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นในทุกด้านเช่นกัน โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้นำนักธุรกิจ 600 กว่าคนเยือนเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และล่าสุดไทยได้เปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นกับญี่ปุ่น

สำหรับจีนนั้น ได้มีการพบปะหารือกันในหลายระดับเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในทุกมิติ รวมทั้งการที่ฮ่องกงตัดสินใจมาจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าที่ไทย เพราะเห็นศักยภาพของไทยในเรื่องความเชื่อมโยงภูมิภาค ไทยยังได้กระชับความสัมพันธ์กับอินเดียในมิติเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว

ขณะนี้ ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับอินเดียด้วย ส่วนรัสเซีย เมื่อเดือนธันวาคม 2561 ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 7 และได้มีการลงนามความตกลงส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจของสองประเทศ ล่าสุด รัฐมนตรีต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลียเยือนไทยเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 โดยได้มีการหารือเรื่องความร่วมมือไทย-ออสเตรเลียในเรื่องต่างๆ และได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางไซเบอร์และดิจิทัลระหว่างกันด้วย

ไทยยังได้ส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในเชิงรุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลลัพธ์อย่างชัดเจนจากการที่สหภาพยุโรปได้มีข้อมติเมื่อธันวาคม 2560 รื้อฟื้นการมีปฏิสัมพันธ์กับไทยในระดับสูงซึ่งปูทางไปสู่การเยือนสหราชอาณาจักรฝรั่งเศส และเยอรมนีของนายกรัฐมนตรี และพัฒนาความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน เพื่อเปิดลู่ทางให้แก่ภาคเอกชนไทย

นอกจากนี้ ไทยส่งเสริมความสัมพันธ์และมีบทบาทเชิงรุกในด้านการค้าและการลงทุนกับภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลางด้วย โดยแอฟริกาเป็นตลาดสินค้าส่งออกอาหารของไทยที่สำคัญ โดยเฉพาะข้าว

ในส่วนของตะวันออกกลาง ไทยได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้กลุ่มประเทศสมาชิกกรอบองค์การความร่วมมืออิสลาม(OIC) มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลไทยในประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ และขยายตลาดสินค้าฮาลาล เช่น การเปิดศูนย์การค้าสินค้าและบริการไทย (Thai Mart) ที่กรุงมานามา ประเทศบาห์เรน เพื่อเป็นจุดกระจายสินค้าไทยไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค อีกทั้งยังได้จัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงจากตะวันออกกลางเข้ามาท่องเที่ยว โดยเฉพาะเพื่อรับการรักษาพยาบาลในไทยให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับบทบาทของไทยในเวทีการประชุมระหว่างประเทศและอาเซียนนั้น ถือว่ามีความแข็งขันมาตลอด โดยเฉพาะในปีนี้ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ทั้งนี้ อาเซียนเป็นกลุ่มความร่วมมือของประเทศขนาดกลางที่ทำให้ภูมิภาคมีสันติภาพ ตลอดเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ไทยเป็นเสมือน “สถาปนิก” (architect) ที่สำคัญในการออกแบบและสร้างประชาคมอาเซียน เพราะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน ผลักดัน ASEAN Regional Forum (ARF) และความตกลง ASEAN Free Trade Area (AFTA) และไทยได้ผลักดันให้อาเซียนเป็นแกนกลาง (ASEAN Centrality) ในสถาปัตยกรรมของภูมิภาค (regional architecture) เพื่อส่งเสริมความมั่นคงของภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับคู่เจรจา

นอกจากนี้เพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ตัวอย่างที่สำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยกระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทเชิงรุกในทุกระดับในความร่วมมือกับต่างประเทศ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยกระทรวงการต่างประเทศนำองค์ความรู้เกี่ยวกับไซเบอร์มาเผยแพร่ให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างความตื่นตัว โดยเฉพาะเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ สกุลเงินดิจิทัลและผลกระทบด้านความมั่นคง

Sustainability / มีความมั่งคั่ง ยั่งยืน การต่างประเทศมีส่วนช่วยสร้างความมั่งคั่ง ด้วยการส่งเสริมความเชื่อมโยง ไทยเป็นผู้เสนอแผนแม่บทของกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนามหรือกรอบ ACMECS ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2019 – 2023) ซึ่งแผนแม่บท ACMECS จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งของอนุภูมิภาคและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และการลงทุน รวมถึงการเพิ่มปริมาณการค้าชายแดน และการข้ามพรมแดนของประชาชนอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ประชาชนในอนุภูมิภาคมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เรายังได้ส่งเสริมโอกาสและลู่ทางการลงทุนของภาคเอกชนไทยในต่างประเทศ อาทิ การจัดทำคู่มือการลงทุนในเวียดนามแก่นักธุรกิจไทย รวมทั้งได้นำนวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศด้วยนโยบาย “การทูตวิทยาศาสตร์” อาทิ โครงการความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระหว่างไทย-เยอรมนี และยังสนับสนุนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมายังอีอีซีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการร่วมทุนพัฒนาธุรกิจโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ระหว่างบริษัท Airbus และบริษัทการบินไทย

การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเป้าหมายสำคัญในการดำเนินนโยบายการทูตเพื่อการพัฒนาของไทย ซึ่งที่ผ่านมา ไทยได้ผลักดัน “SEP for SDGs Partnership” โดยการเผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (เอสอีพี) แก่ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ รอบโลก เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการบรรลุทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจีส์) อาทิ โครงการด้านความมั่นคงทางอาหารและน้ำ ในปัจจุบัน มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่นำเอสอีพีไปประยุกต์ใช้ในต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 24 ประเทศ

นอกจากนี้ ไทยได้รับยกย่องจากสหประชาชาติให้เป็นตัวอย่างความสำเร็จของประเทศที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาหรือความร่วมมือใต้-ใต้ รวมทั้งมีบทบาทด้านการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในเวทีโลก อาทิ การที่ไทยเป็นประธานกลุ่ม 77 (G77) ซึ่งมีสมาชิก 134 ประเทศ เมื่อปี 2559 ที่ชื่นชมกับบทบาทอันสำคัญของไทยที่ส่งผลให้ยอมรับหลักการเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการบรรลุสู่เป้าหมายของ 17 วาระโลกในการพัฒนาที่ยั่งยืน ถึงกับเชิญให้ไทยร่วมการประชุม G20 ในฐานะประธานกลุ่ม77

ในฐานะประธานกรอบความร่วมมือเอเชีย(เอซีดี) ซึ่งมีสมาชิก 34 ประเทศ ในช่วงปี 2558 – 2559 ไทยยังช่วยฟื้นฟูและสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่กรอบความร่วมมือดังกล่าว อีกทั้งเมื่อไทยได้รับมอบหมายให้เป็นประเทศผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ก็ได้ดำเนินการผลักดันให้เกิดการประชุมอาเซียน-สหภาพยุโรปด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ทำให้สหภาพยุโรปเล็งเห็นความสำคัญและศักยภาพในการร่วมมือกับอาเซียนและไทยในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการทูตเพื่อมนุษยธรรมนั้น ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทีมแพทย์ไทย (mobile clinics) ไปให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ ซึ่งได้ให้การรักษาประชาชนไปแล้วกว่า 1,000 คน โดยโครงการดังกล่าวช่วยบรรเทาสถานการณ์ที่เปราะบางในประเทศเพื่อนบ้านที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไทยด้วย และสะท้อนว่า ความเอื้ออาทรหรือ compassion สามารถนำมาเป็นแนวทางการทูตที่ส่งเสริมความมั่นคงของทั้งประเทศผู้รับและประเทศผู้ให้ โดยโครงการด้านสาธารณสุขนี้ดำเนินควบคู่ไปกับการที่ไทยเข้าไปช่วยพัฒนาโรงสีข้าวในรัฐยะไข่ (ติดตามตอนต่อไปได้ในวันที่ 20 มกราคม)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image