คอลัมน์ โกลบอล โฟกัส: ‘วิถีแห่งมีด’ในมือ‘ซีไอเอ’

หนังสือบางเล่ม เราอ่านแล้วอยากซุกเก็บเงียบไว้ในใจ บางเล่มอ่านแล้วทำเครื่องหมายไว้โดยพลันว่าต้องกลับมาอ่านอีกครั้ง แต่มีอีกบางเล่มที่อ่านแล้วอยากมีคนอยู่ด้วยเพื่อเล่าสู่กันฟัง แลกเปลี่ยน และถกแถลงกันขึ้นมาติดหมัด

เหมือนเช่นกรณีของ “เจาะลึกสงครามลับ ซีไอเอ” (สำนักพิมพ์มติชน-2559) ที่ นพดล เวชสวัสดิ์ นักแปลมีชื่อ มากฝีมือผู้หนึ่งในบ้านเรา ทำหน้าที่ถ่ายทอดจาก “The way of the knife” ของ มาร์ค มาซเซตติ เล่มนี้เป็นต้น

มาซเซตติ เป็นผู้สื่อข่าวครับ ทำหน้าที่รายงานข่าวด้านความมั่นคงให้กับ นิวยอร์ก ไทมส์ มีความชำนิชำนาญในการทำงานข่าวด้านนี้ระดับมีรางวัล “พูลิตเซอร์” ติดตัว

ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในจำนวนผู้สื่อข่าว “กลุ่มหนึ่ง” ซึ่งเชี่ยวชาญในงานด้านข่าวกรองและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานความมั่นคงทั้งหลายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเอาการไล่เรียงกิจกรรมทางด้านนี้ออกมาตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้ สลับกับการ “เปิดโปง” บางเรื่องบ้างในบางครั้งเป็นสัมมาชีพ

Advertisement

หน่วยงานด้านความมั่นคง-การข่าวที่มาซเซตติ “ปรุโปร่ง” เป็นพิเศษก็คือ “สำนักข่าวกรองกลาง” หรือซีไอเอ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่า เขาต้อง “หลับตามองเห็นภาพ” ยุทธศาสตร์และกระบวนการที่ประเทศนี้นำมาใช้ในการ “ต่อต้านการก่อการร้าย” และ “ข่าวกรองเพื่อความมั่นคง” ได้อย่างชัดเจน ไม่มากก็น้อย เพราะนั่นคือพันธกิจหลักของซีไอเอในห้วงเวลาหลังยุค 9/11 เป็นต้นมา

สิ่งที่เขาพยายามบอกผ่าน “The way of the knife” หนา 375 หน้า (พร้อมภาพประกอบ) นี้ก็คือ นับเนื่องตั้งแต่เหตุวินาศกรรมสนั่นโลกหนนั้น ซีไอเอเปลี่ยนแปลงไป เหตุการณ์นั้นและสภาวะแวดล้อมทั้งกดดัน ทั้งบีบบังคับให้หน่วยงานด้านข่าวกรองหลักภายนอกประเทศของสหรัฐอเมริกา ค่อยๆ ปรับตัวพัฒนา “วิถีของสงครามใหม่” ขึ้นมาใช้งาน

ถ้าจะเรียกขานตามคำของมาซเซตติก็คือ ซีไอเอค่อยๆ เปลี่ยนเป็น “หน่วยล่าสังหาร” ส่วนมือไม้ของ “เพนตากอน” ที่ควรเป็นทหารอาชีพ ก็กลายเป็นหน่วยงาน “กึ่งทหาร” ไป

Advertisement

“ตอนนี้ง่ายขึ้นมาก” มาเซตติเขียนไว้อย่างนั้น “ต่อการที่สหรัฐอเมริกาจะปฏิบัติการสังหารใครๆ ในอีกสุดฟากหนึ่งของโลก มากกว่าครั้งไหนๆ ในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้”

นัยของคำว่า “ประวัติศาสตร์” ทำให้ผม-และเชื่อว่าอีกหลายๆ คน หวนนึกไปถึงเมื่อครั้งสงครามเวียดนาม ที่ว่ากันว่า ตอนนั้น มีคนของซีไอเอเพ่นพ่านแทบ “ชนกันตาย” ในเวียดนามใต้ ซึ่งก็ออกแนวเวอร์ไปเล็กน้อย แต่ไม่มากนัก ถ้าคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ในเวลานั้นมีสายของซีไอเอมากถึง 174 คนขลุกอยู่ในครึ่้งซีกล่างของประเทศเวียดนามในเวลานี้

นี่ยังไม่นับอีกบางส่วนของอีกหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมและอื่นๆ และยังไม่นับรวมเอาที่เตร็ดเตร่อยู่ในกรุงเทพมหานครและอีกหลายสถานที่ในประเทศไทยในห้วงเวลาเดียวกันอีกต่างหาก

ซีไอเอในเวลานั้น “แสบสัน” ในทุกๆ เรื่องทุกๆ ทาง ชนิดไม่เลือกเฟ้นวิธีการแค่ไหนคงซึมซับกันดี ไม่ต้องพูดถึงกรณี “อิหร่าน-คอนทรา” กับปฏิบัติการล่าสังหาร-โค่นรัฐบาลในละตินอเมริกากันให้เมื่อย

ถ้าเราจะนับเนื่องว่า การเข้าไปให้การสนับสนุนขบวนการนอกรูปแบบเพื่อต่อต้านการบุกยึดอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียต คือจุดสิ้นสุดของ “วิถีมืด” ยุคก่อนของซีไอเอ

เราก็จะเห็นได้ว่า กงล้อประวัติศาสตร์ของซีไอเอ หวนกลับมาย่ำทับซ้ำรอยเดิมรวดเร็วอย่างยิ่ง

หรือนี่เป็นวิถี เป็นธรรมชาติดิบๆ ของซีไอเอ?!

จริงๆ แล้วหลังยุค 9/11 มีหนังสือที่บอกเล่าเกี่ยวกับ “วีรเวร-วีรกรรม” ของซีไอเอกับการดำเนินงานด้านต่อต้านการจารกรรมของสหรัฐอเมริกาออกมาไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิบัติการของ “หน่วยรบพิเศษ น้ำ-ฟ้า-ฝั่ง” แห่งกองทัพเรือ หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ “เนวีซีล” อาทิ “สไนเปอร์ ซีลทีมซิกซ์” งานแปลขายดีอีกเล่มของ นพดล เวชสวัสดิ์ (SEAL Team Six โดย Howard E. Wasdin กับ Stephen Templin สำนักพิมพ์มติชน-2559 พิมพ์ครั้งที่ 3 แล้ว) ที่ว่าด้วยเรื่องการสังหาร บิน ลาเดน ของทีมที่ 6 ของหน่วยรบพิเศษกองทัพเรือหน่วยนี้ กับอีกหลายๆ เล่มที่เกี่ยวเนื่องกับการ “กำหนดเป้าสังหาร” และการโจมตีด้วย “โดรน”

แต่สิ่งที่ผิดแผกไปในงานของมาซเซตติ ว่าด้วย “วิถีแห่งมีด” เล่มนี้ก็คือ การนำหลายอย่าง หลายเหตุการณ์เหล่านั้นมารวมกันให้เราได้เห็น “ภาพใหญ่” ที่เป็นภาพรวมของเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้น และฉายให้เห็นยุทธศาสตร์รวมที่อยู่เบื้องหลัง

เน้นให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษต่อปฏิบัติการ “กำหนดเป้าสังหาร” โดยเฉพาะการใช้อากาศยานไร้นักบิน-โดรน เพื่อการนี้

ตรวจสอบลึกลงไปยังแง่มุมต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลัง ทั้งแรงกระทำจากทางด้านการเมือง แง่มุมกฎหมาย เรื่อยไปจนถึงเรื่องทางด้านเทคโนโลยี ที่ทำให้ “วิถีมืด” ยุคใหม่ของซีไอเอและเพนตากอนพลิกแพลงผิดแผกแตกต่างไปจากเดิมกลายเป็น “วิถีแห่งมีด” ตามนัยอุปมาของ จอห์น เบรนเนน ผู้อำนวยการซีไอเอ ของบารัค โอบามา ที่บอกเอาไว้ว่า อเมริกาจำเป็นต้องใช้ “มีดผ่าตัด” แทนที่จะใช้ “ค้อน” เหมือนเช่นที่ผ่านมา

เป็นมีดผ่าตัดที่แหลมคม ฉับไว เฉียบขาด ต้นทุนน้อย ความเสี่ยงต่ำ ไร้ผลแทรกซ้อน แม้จะผิดพลาด บกพร่อง หรือหละหลวมก็ตาม

จริงหรือ?

ความพยายามในการรวบรวมข่าวกรองเกี่ยวกับอัล เคดา และแกนนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โอซามา บิน ลาเดน ผลักดันให้ซีไอเอต้องพัฒนา “โปรแกรม” พิเศษขึ้นเพื่อการนี้ รู้จักกันในหมู่เจ้าหน้าที่ด้านการข่าวว่า “อาร์ดีไอ โปรแกรม” ที่หมายถึง “เรนดิชั่น-ดีเทนชั่น-อินเทอร์ร็อกเกชั่น”

อาร์. ที่มาจากคำว่า “เรนดิชั่น” คือการส่งตัวคนร้าย (เดิมหมายถึงการส่งตัวคนร้ายข้ามมลรัฐในสหรัฐอเมริกา) จากจุดที่ถูกจับกุมตัวได้ ไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งมัก “ข้ามประเทศ” และ “ผิดกฎหมาย”

ดี. มาจากคำว่า “ดีเทนชั่น” คือการควบคุมตัว ในกรณีนี้คือการควบคุมตัวโดยไม่จำเป็นต้องดำเนินกระบวนการปกติ ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงกฎหมาย หรือกติกาสากลระหว่างประเทศใดๆ

ไอ. มาจากคำว่า “อินเทอร์ร็อกเกชั่น” ที่ในกรณีนี้ หมายรวมถึงการทารุณกรรมหลากรูปแบบ รวมทั้ง “วอเทอร์บอร์ดดิ้ง” ที่ขึ้นชื่อลือชา เพื่อ “รีด” ทุกอย่างให้ออกจากปากเหยื่อให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

เราจะแปลกใจกันไหม ถ้ามาเซตติบอกว่า สถานที่เพื่อกระบวนการ อาร์.ดี.ไอ ที่ถูกเรียกขานกันว่า “แบล็กไซต์” แห่งแรกนั้น อยู่ที่เมืองไทย!

เราคงจำกันได้ว่า “จอร์จ ดับเบิลยู. บุช” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โดนัลด์ รัมส์เฟลด์” ตีหน้าตายอย่างไรในตอนที่แก้ตัวไปแกนๆ ว่า “อาร์ดีไอ” จำเป็นอย่างไรใน “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ประเด็นที่น่าสนใจซึ่งมาซเซตตินำเสนอเอาไว้ก็คือ บารัค โอบามา คิดเห็นอย่างไรกับการใช้ “โดรนติดอาวุธ” เป็นทางออกแทนที่ “อาร์ดีไอ”

ในทรรศนะของมาซเซตติ “โดรนติดอาวุธ” อย่าง “พรีเดเตอร์” คือทางแก้ของซีไอเอกับเพนตากอน ที่ถูก “ของร้อน” อย่างอาร์ดีไอลวกเข้าให้เต็มไม้เต็มมือ

โดรนสังหาร เป็น “การฆ่าด้วยการกดรีโมทคอนโทรลที่ย้อนแย้งกับปฏิบัติการรีดปากคำแห้งแล้งที่คุ้นเคยกันดี การฆ่าที่สะอาดกว่า เป็นส่วนตัวน้อยกว่า” มาซเซตติว่า

ต้องถามอีกครั้งว่า จริงหรือ?

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ “พรีเดเตอร์” ถูกพัฒนาขึ้นมาแล้วเสร็จนั้น เจ้าหน้าที่ซีไอเอบางรายถึงกับ “ลังเล” ที่จะใช้หรือ “จัดซื้อ” เข้าประจำการด้วยซ้ำไป แต่ในท้ายที่สุดก็ “จำนน” ต่อ “นัยทางการเมือง” ของมันที่มีต่อ “ผู้กำหนดนโยบาย” ในทำเนียบขาว ที่สรุปรวมความอยู่ในคำกล่าวของอดีตเจ้าหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้ายระดับสูงอย่าง “ริชาร์ด เอ. คลาร์ก” (ผู้เขียน CYBER WAR หรือสงครามไซเบอร์ ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ แปล,สำนักพิมพ์มติชน-2555) ที่บอกกับซีไอเอว่า

“ถ้าพรีเดเตอร์ถูกยิงตก คนบังคับก็แค่กลับบ้านไปซบอกเมีย ทุกอย่างโอเค ไม่มีปัญหาเรื่องใครตกเป็นเชลยศึกแม้แต่รายเดียว”

สภาวะแวดล้อมทางการเมืองในช่วงปีต้นๆ ของยุคโอบามา เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้ต้องหันเข้ามาหาโดรนกับการกำหนดเป้าสังหาร ที่ “ไม่มีสมาชิกคนสำคัญๆ ของพรรคการเมืองของโอบามาเองออกมาวิพากษ์วิจารณ์การใช้โดรนถล่ม ยิ่งรีพับลิกันยิ่งแทบจะไม่อยู่ในฐานะที่จะท้าทายประธานาธิบดีใหม่ว่า ใช้การกระทำก้าวร้าวรุนแรงเกินกว่าเหตุในการจัดการกับบรรดาผู้ก่อการร้ายเอาเลย” มาซเซตติชี้เอาไว้

ในความเป็นจริง เราเห็นกันในทุกครั้งที่โดรนสังหารออกปฏิบัติการว่า บางครั้ง เป้าหมายที่ถูกกำหนดให้ “ตาย” นั้น ไม่ได้ตายเพียงลำพัง

แต่มีผู้คนอีกมากมายตกตายไปพร้อมกันกับการโจมตีในแต่ละครั้ง

ไม่แตกต่างแต่อย่างใดกับการ “ฆ่าไม่ตาย” หรือ “ฆ่าหนึ่งเกิดสิบ” และ “ฆ่าสิบเกิดร้อย” แต่อย่างใด!

มาร์ค มาซเซตติ ใช้ “วิถีแห่งมีด” ของเขาบ่งบอกถึงความสับสน ซับซ้อน จนในหลายๆ ครั้งเกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนในการทำ “สงครามลับ” นอกรูปแบบครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างซีไอเอกับเพนตากอน ที่ถือเป็น 2 หน่วยงานหลักของทางการวอชิงตัน ในปฏิบัติการมืดต่างๆ เหล่านี้ ที่บางครั้งเกิดเหตุ “เหยียบตาปลา” เพราะมีการ “ล้ำเส้น” หรือ “ล่วงละเมิดเขตแดน” ซึ่งกันและกัน

ตัวอย่างเช่น กรณีการฉะกันระหว่างสถานทูตอเมริกันในปากีสถานกับทางวอชิงตัน หรือกรณีระหว่างซีไอเอกับกระทรวงการต่างประเทศเป็นต้น

แม้ว่าจะมีข้อเท็จจริงบางเรื่องที่ดูแล้วไม่น่าเชื่อ และมาซเซตติเองก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูลที่บันทึกไว้ก็ตาม อย่างเช่นกรณีของ “มิเชล บอลลาริน” ที่ดูเหมือนเดินออกมาจากนิยาย หรือเป็นตัวของของ “จูเลีย โรเบิร์ตส์” ใน “ชาร์ลี วิลสันส์ วอร์” มากเกินไป หรือกรณีที่บอกว่า “ส่วนใหญ่ของสายข่าวซีไอเอในจีนเป็นนายพลแก่ๆ วัย 80 แล้วทั้งนั้น” ทั้งๆ ที่ ตอนนี้ “นายพลวัยเกิน 80” ที่จีนหลงเหลืออยู่เพียง 2-3 คนเท่านั้น และไม่น่าจะมีใครในจำนวนนั้นทำงานให้ซีไอเอเด็ดขาด เป็นต้น

แต่ “เจาะลึกสงครามลับ ซีไอเอ” ก็สะท้อนภาพของสงครามลับ-ลับ ที่สกปรกไม่แพ้ครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาออกมาได้เด่นชัดมากอย่างยิ่ง

ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมที่ปรึกษาด้านข่าวกรองของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพิ่งเตือนซีไอเอไปเมื่อเดือนที่แล้วนี่เองว่า ซีไอเอกำลัง “มุ่งเน้นกับการโจมตีด้วยโดรน” และปฏิบัติการ “กึ่งทหาร” ในระดับ “มากจนเกินไปแล้ว” และเสนอแนะให้กลับมาหายุทธศาสตร์จารกรรมกับงานการวิเคราะห์อีกครั้ง โดยเฉพาะต่อสถานที่อย่างใน “จีน” เป็นต้น

ในขณะที่มาซเซตติบอกเอาไว้ชัดเจนว่า นับตั้งแต่ 9/11 เรื่อยมา

“ซีไอเอมีประสบการณ์แค่การไล่ล่าและสังหารเท่านั้นเอง”

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้วยังมีหลายอย่างค้างคาอยู่ในใจ ตั้งแต่แง่มุมเรื่องกฎหมาย เรื่องมนุษยธรรมต่อสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงอเมริกันมักเรียกว่า “ความสูญเสียข้างเคียง” และ ฯลฯ

ที่สำคัญก็คือ ผมกำลังคิดว่า ถ้าหากปฏิบัติการของซีไอเอในอัฟกานิสถานเมื่อครั้งกระโน้น คือการเปิดทางสว่างให้กับคนอย่างบิน ลาเดน ที่อาศัยยุทธวิธีที่ซีไอเอฝึกให้มาใช้ในการฝึกสมาชิก อัล เคดา ในเวลาต่อมา

ปฏิบัติการตาม “วิถีแห่งมีด” ในเวลานี้ กำลังจะก่อให้เกิดอะไรขึ้นตามมา?!?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image