รายงาน : 20ปี ‘กรมการกงสุล’

กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เพิ่งจะจัดงานเพื่อเฉลิมฉลอง 20 ปีของการก่อตั้งกรมการกงสุลไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีการจัดงาน “20 ปีกรมการกงสุล และกงสุลแฟร์” ขึ้นโดยเชิญหน่วยงานพันธมิตรมาร่วมมอบความสุขให้กับประชาชน ในงานดังกล่าวไม่เพียงแต่จะมีการเปิดให้บริการรับคำร้องหนังสือเดินทางในวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ยังได้มีการเชิญชวนจังหวัดและสถานทูตต่างประเทศที่มีความร่วมมือด้านกงสุลกับไทย อาทิ จีน เกาหลีใต้ และอิหร่าน มาร่วมออกร้านจำหน่ายสินค้า มีการเปิดบูธให้คำปรึกษางานกงสุล รวมทั้งการบริการตรวจสุขภาพเบื้องต้นแก่ประชาชนทั่วไปโดยร.พ.จุฬาภรณ์ ซึ่งงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างดี

ย้อนกลับไปตั้งแต่พ.ศ. 2428 เมื่อครั้งที่สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ มีการปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงการต่างประเทศให้ทันสมัยขึ้น โดยมีกองซึ่งมีสถานะเทียบเท่ากรมในปัจจุบันรวม 5 กอง ซึ่งกองการกงสุลก็เป็นหนึ่งหน่วยงานภายใต้โครงสร้างดังกล่าว ต่อมาในปีพ.ศ. 2435 มีการปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้ง สถานะของกรมการกงสุลถูกลดบทบาทลงเหลือเพียงแค่กองๆ หนึ่งในกรมการเมือง ขณะที่ในการปรับโครงสร้างครั้งต่อๆ มาในพ.ศ. 2475 พ.ศ. 2503 และ พ.ศ. 2535 งานด้านกงสุลของกระทรวงการต่างประเทศก็ยังถูกกระจายไปในหลายหน่วยงานย่อยภายในกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทำให้ขาดเอกภาพและความชัดเจน ทั้งในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติงาน

กระทั่งการปรับโครงสร้างของกระทรวงการต่างประเทศในพ.ศ. 2541 จึงมีการจัดตั้งกรมการกงสุลขึ้น โดยรวบรวมหน่วยงานที่รับผิดชอบในกิจการกงสุลเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานแบบอย่างครอบคลุมและเป็นระบบ โดยได้มีพิธีเปิดกรมการกงสุลอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา กรมการกงสุลได้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลทุกข์สุขและผลประโยชน์ของพี่น้องคนไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่การเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งเพื่อไปอยู่อาศัย เล่าเรียน และท่องเที่ยว ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนไทยทุกคน งานด้านกงสุลจึงยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และเป็นหนึ่งในงานหลักที่กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญสูงสุด

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดงานว่า งานของกรมการกงสุลในการคุ้มครอง ดูแล และให้บริการประชาชนชาวไทยในเรื่องทุกข์สุขและผลประโยชน์ของคนไทยทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศ ถือเป็นงานที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดงานหนึ่งของกระทรวง

Advertisement

นายดอนกล่าวว่า ในยุคโลกไร้พรมแดนที่ระบบเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบดิจิทัลทำให้โลกแคบลง ภารกิจของกรมการกงสุลยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความท้าทาย ความคาดหวัง และความต้องการของประชาชน ทั้งในด้านการให้บริการ การช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากจากความเดือดร้อนต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันมีชาวไทยเดินทางไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นถึง 10 ล้านคนต่อปี และยังมีคนไทยที่พำนักอาศัยในต่างประเทศมากถึง 1.6 ล้านคน ขณะที่บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้กรมต้องเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งในแง่รูปแบบและแนวทางการให้ความช่วยเหลือคนไทยและการให้บริการต่างๆ แก่คนไทยทั่วโลก

ภายในงานยังได้มีการจัดการเสวนา “20 ปีกรมการกงสุล : เหลียวหลังแลหน้างานการทูตเพื่อประชาชน” โดยเชิญอดีตอธิบดีกรมการกงสุล 3 ท่านมาให้มุมมองภายใต้โจทย์ใหญ่ว่า “20 ปีกรมการกงสุล คนไทยได้อะไรจากอดีตจนถึงปัจจุบัน?”

นายชัยสิริ อนะมาน ที่ปรึกษารมว.กต. และอดีตอธิบดีกรมการกงสุลคนแรก กล่าวว่า วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 ไม่เพียงแต่เป็นวันก่อตั้งกรมการกงสุล แต่ยังเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญของงานการทูตเพื่อประชาชนของกระทรวงการต่างประเทศ การรวมภารกิจด้านกงสุลไว้ด้วยกันทำให้กรมการกงสุลในยุคนั้นเป็นหน่วยราชการแรกๆ ที่เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) คือประชาชนที่ต้องการทำหนังสือเดินทาง รับรองนิติกรณ์เอกสาร ขอให้ช่วยเหลือญาติพี่น้องที่เดือดร้อนในต่างประเทศ สามารถมาติดต่อขอรับบริการที่กรมการกงสุลเพียงจุดเดียว และมีการนำระบบคิวมาใช้ในการจัดระเบียบการให้บริการประชาชน จนได้รับรางวัล ISO 9002

นายชัยสิริกล่าวว่า กรมการกงสุลที่มีอายุครบ 20 ปีในปีนี้ ได้เติบโตก้าวหน้าเป็นผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะ สามารถทำงานเพื่อคนไทยได้อีกมาก สิ่งที่อยากฝากไว้ในฐานะอธิบดีคนแรกก็คือ การสืบทอดปณิธานการทำงานเพื่อประชาชน และขอให้กรมการกงสุลเป็นเสมือน “บ้าน” ที่อบอุ่นสำหรับประชาชนที่มาพึ่งพาและมารับบริการตลอดไป

นายจักร บุญ-หลง อดีตอธิบดีกรมการกงสุล และอดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวว่า กรมการกงสุลเป็นหน่วยงานเดียวของกระทรวงการต่างประเทศที่ “เข้าถึง” ประชาชน เป็นงานที่ “จับต้องได้” อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะงานดูแลและคุ้มครองคนไทยทั่วโลก

ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีมีเหตุการณ์ใหญ่ 3 เรื่องในงานด้านคุ้มครองคนไทย ได้แก่ การอพยพแรงงานไทยในลิเบียจากภัยสงคราม การอพยพนักเรียนไทยในอียิปต์ และการอพยพคนไทยเหตุสึนามิในญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้นต้องทำงานแข่งกับเวลาตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน เพื่อพาคนไทยกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัยให้ได้ อุปสรรคสำคัญคือในยุคนั้นเทคโนโลยีการสื่อสารยังไม่ทันสมัย ไม่มีไลน์ ไม่มีเฟสบุ๊ก จึงต้องใช้โทรศัพท์ในการติดต่อสื่อสาร และเมื่อระบบเครือข่ายในประเทศนั้นล่ม ก็ต้องใช้วิธีนัดหมายผ่านผู้นำชุมชนให้ไปพบกัน

ปัจจุบันคนไทยเดินทางไปต่างประเทศสะดวกขึ้น โอกาสที่คนไทยจะประสบเหตุในต่างแดนก็มากขึ้น ในขณะที่ปัญหามีความซับซ้อนขึ้น ทั้งปัญหาแรงงาน หญิงไทย นักเรียนไทย การทำงานด้านกงสุลเชิงรุกจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการให้ข้อมูลคนไทยในต่างจังหวัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความตระหนักรู้ เช่น การออกไปบรรยายให้ความรู้คนไทยภาคอีสานก่อนที่จะไปเป็นแรงงานในเกาหลีใต้ หรือแรงงานเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์และสวีเดน

อดีตอธิบดีกรมการกงสุลคนที่ 5 บอกด้วยว่า ขอให้คนกงสุลภูมิใจในการทำงาน การบริการ การช่วยเหลือคนไทยเพราะเราไม่ได้ช่วยแค่ 1 ชีวิต ให้ปลอดภัย แต่ยังต่อเนื่องไปยังญาติพี่น้องของคนเหล่านั้นด้วย

ด้านนายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล กล่าวว่า งานกงสุลในยุคปัจจุบันมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการบริการ (people-centric services) และมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก ประชาชนทำหนังสือเดินทางได้ในเวลาเพียง 15 นาทีที่จุดบริการรับคำร้อง 19 แห่งทั่วประเทศ และใน 96 แห่งทั่วโลก การเปิดตัว e-Visa ระบบการตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ การลดภาระค่าใช้จ่ายและเวลาในการรับรองนิติกรณ์เอกสารด้วยการเปิดตัวบริการเอกสารการทะเบียนภาษาอังกฤษซึ่งกรมการกงสุลพัฒนาร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

ส่วนการคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศก็มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือคนไทย อาทิ การเพิ่มฟีเจอร์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน หรือ SOS ในแอพ ThaiConsular ของกรมการกงสุล เพื่อให้คนไทยสามารถขอความช่วยเหลือและแจ้งพิกัดที่อยู่ในต่างประเทศในกรณีฉุกเฉินและเร่งด่วน โดยทิศทางในอนาคตคือการก้าวไปข้างหน้าในการพัฒนาการทำงานด้านกงสุล เน้นการยกระดับการบริการ ขับเคลื่อนการทำงานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมมุ่งสู่การเป็น “e-Consular” ในทุกด้าน เป็นกรมการกงสุลยุค 4.0 โดยยังคงรักษาภาพลักษณ์การเป็นหน่วยงานที่ประชาชนเชื่อถือ-พึ่งได้ทั้งในและนอกประเทศ

อธิบดีชาตรีกล่าวด้วยว่า ความท้าทายของงานกงสุลในอนาคตคือทำอย่างไรที่จะบริหารจัดการและออกแบบงานกงสุลให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน ต้องมีการพัฒนาเครื่องมือ ระเบียบ กลไกในการดูแลคนไทยทุกมิติ อาทิ กรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องหนังสือเดินทางและตรวจลงตรา การขับเคลื่อนกลไก “คณะกรรมการสหวิชาชีพเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและบทบาทคนไทยในต่างประเทศ” ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลคนไทยในต่างประเทศ และการพัฒนาบุคคลากรสายงานกงสุลมืออาชีพในอนาคต

ตลอดระยะเวลา 20 ปี คนของกรมการกงสุลได้ทุ่มเททำงานเพื่อการบริการประชาชนและดูแลคนไทยในต่างประเทศอย่างเต็มกำลัง ประสบการณ์และวิสัยทัศน์ของผู้บริหารกรมในวันนี้จะเป็น “เข็มทิศ” ให้กรมการกงสุลสามารถรับมือกับความท้าทายข้างหน้าได้อย่างมั่นใจและก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image