ย้อนรอยหลากคำชี้แจงไทย เวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิฯ

หมายเหตุ – การทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยภายใต้กระบวนการยูพีอาร์ รอบ 2 ได้เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยจากข้อเสนอแนะที่มีต่อไทย 249 ข้อ ไทยประกาศสนับสนุนทันที 181 ข้อ

ส่วนอีก 68 ข้อ จะนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง และประกาศคำมั่นโดยสมัครใจ 7 ข้อ ก่อนที่จะมีการสรุปท่าทีอย่างเป็นทางการของไทยทั้งหมดอีกครั้งเพื่อส่งให้ที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) ในเดือนกันยายนนี้รับรอง กว่าที่จะไปถึงขั้นตอนนั้น มติชนขอสรุปสาระสำคัญบางส่วนในประเด็นที่ไทยได้ลุกขึ้นชี้แจงเพื่อตอบคำถามในที่ประชุมคณะทำงานยูพีอาร์มาให้ได้ทราบกันอีกครั้ง

สิทธิพลเมือง
และสิทธิทางการเมือง

1.ประเทศไทยยังคงยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดจะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมปีนี้ เหล่าอาสาสมัครจะลงพื้นที่พบกับชาวบ้านทุกหลังคาเรือนเพื่อให้เกิดความเข้าใจกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญให้มากขึ้น ทั้งนี้การตัดสินใจจึงขึ้นกับประชาชนไทยอย่างแท้จริง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางการต้องห้ามการ

Advertisement

กระทำใดๆ ที่จะเป็นการบิดเบือนเนื้อหาสาระและสร้างอิทธิพลต่อการตัดสินใจไม่ว่าจะในทางหนึ่งทางใดต่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว หลังการรับรองร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีการรับรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2560 ขณะที่รัฐบาลจะทำหน้าที่ดูแลการปฏิรูปในด้านที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีธรรมาภิบาล ต่อต้านการทุจริต และทำให้เกิดความโปร่งใส

2.คณะผู้แทนไทยได้รับฟังข้อห่วงกังวลต่างๆ ที่มีการพูดถึงปัญหาท้าทายในขณะนี้เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการชุมนุม รัฐบาลเคารพสิทธิเหล่านี้อย่างเต็มที่แต่เนื่องจากปัญหาขัดแย้งทางการเมืองที่ไทยเผชิญในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้จำเป็นต้องมีการจำกัดบางประการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อจำกัดที่มีเหล่านี้มีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและการแบ่งแยกในสังคมมากยิ่งขึ้น เราไม่สามารถปล่อยให้มีการปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังต่อผู้อื่น เพียงเพราะเขาอาจมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง รัฐบาลไม่มีเจตนาที่จะจำกัดสิทธิของประชาชนที่มีเจตนาดี การจำกัดจะบังคับใช้กับผู้ที่ก่อความรุนแรงและทำให้เกิดความแตกแยก ต้องยอมรับว่าการจำกัดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ท้าทายในตัวเองเนื่องจากทางการจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันการดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่ถูกมองว่ามีเบื้องหลังทางการเมือง ซึ่งอาจกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกอย่างไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพทางวิชาการ

Advertisement

ความสมดุลของสิทธิเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้น ในประเด็นสิทธิในการชุมนุม ได้มีการผ่านกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะเมื่อปี 2558 ซึ่งวางหลักการของการชุมนุมในที่สาธารณะเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคมและเพื่อสวัสดิภาพของประชาชน ขณะเดียวกันก็เคารพสิทธิในการชุมนุม กฎหมายดังกล่าวได้วางกรอบเกี่ยวกับการชุมนุมในที่สาธารณะและบังคับให้ต้องมีการแจ้งขออนุญาตก่อนที่จะมีการชุมนุม เพื่อปกป้องสถานที่ราชการและสถานที่สาธารณะ และรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนที่เข้าร่วมกับการชุมนุมตลอดจนพื้นที่โดยรอบ

3.ในเรื่องมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว อำนาจที่มีภายใต้มาตราดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในกว่า 50 ปีที่ผ่านมา

มีการกำหนดมาตราเช่นเดียวกันในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับอื่นๆ ด้วย และจะมีการบังคับใช้เมื่ออยู่ในสถานการณ์พิเศษและภายใต้ขอบเขตที่จำกัด นับจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ได้ใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศและเพื่อทำให้การบริหารราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่กฎหมายทั่วไปและกฎระเบียบที่มีอยู่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ อาทิ การจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ นโยบายปราบปรามยาเสพติด และแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน

4.คำสั่ง คสช.ที่ 13/2559 ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2559 ขอยืนยันว่าเป้าประสงค์ของคำสั่งนี้ก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถให้ความช่วยเหลือตำรวจในการปราบปรามการก่ออาชญากรรม อาทิ การกรรโชก การค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงานเด็ก การพนัน และโสเภณี คำสั่งดังกล่าวไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเป็นการข่มขู่คุกคาม ขณะที่ผู้กระทำผิดในคดีเหล่านี้จะถูกดำเนินคดีภายใต้กระบวนการยุติธรรมปกติ โดยตำรวจยังคงเป็นหลักในการทำหน้าที่เจ้าพนักงานสอบสวน การพิจารณาคดีก็จะเกิดขึ้นภายใต้ศาลพลเรือน คำสั่งนี้ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิผู้กระทำผิดที่จะยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ทหารในกรณีที่มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต และเป็นคำสั่งที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการปราบปรามบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม

5.กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประการแรกสิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์เป็นเสาหลักของสังคมไทย กฎหมายมีขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิและปกป้องเกียรติภูมิของพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในลักษณะเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทสำหรับบุคคลทั่วไป เช่นเดียวกับผู้กระทำผิดทางอาญา การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็เป็นไปด้วยความระมัดระวังและสอดคล้องกับกระบวนการทางกฎหมาย ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายดังกล่าวยังคงได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้ที่กระทำผิดในคดีอาญาอื่นๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการอุทธรณ์และสิทธิในการขอพระราชทานอภัยโทษ

ต่อกรณีที่มีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ขอแจ้งให้ทราบว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ในระหว่างการแก้ไขเพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นในการตีความแต่ละมาตราเพื่อป้องกันการตีความกฎหมายผิด โดยร่างแก้ไขได้ผ่านการพิจารณาในวาระแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และจะต้องมีการพิจารณาอีก 2 วาระ ขณะที่การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวจำเป็นจะต้องรอให้มีการจัดตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นซึ่งจะดูแลในประเด็นเศรษฐกิจดิจิตอล ที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบอาชญากรรมในโลกออนไลน์ด้วย

6.การขอสถานะผู้ลี้ภัย แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับหลักมนุษยธรรม และให้ที่พักพิงกับผู้พลัดถิ่นหลายล้านคนรวมถึงผู้อพยพในอดีตที่ผ่านมา โดยยังคงให้ที่พำนักกับผู้พลัดถิ่นชาวพม่ากว่า 1 แสนคน และยังคงให้ที่พักพิงกับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจากประเทศต่างๆ ทั้งใกล้และไกล มีข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องมีการระบุถึงสถานะของผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการปกป้อง ซึ่งขอเรียนว่าไทยได้เริ่มกระบวนการภายในที่จะศึกษาความเป็นไปในการตั้งกลไกคัดกรองเพื่อคัดแยกผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการปกป้องอย่างแท้จริงออกจากผู้อพยพเนื่องจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ

ไทยยังได้ทำงานร่วมกับประเทศต้นทางเพื่อแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า อาทิ การให้ความช่วยเหลือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และยังได้ทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศและประเทศต้นทางในการช่วยเหลือและส่งกลับโดยสมัครใจ

การนำพลเรือน
ขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร

การใช้ศาลทหารเพื่อพิจารณาคดีพลเรือนในไทยนั้น จำกัดอยู่เฉพาะในคดีล่วงละเมิดร้ายแรง อาทิ การล่วงละเมิดที่เกี่ยวข้องกับอาวุธและเครื่องกระสุนที่ใช้ในการสงคราม, การล่วงละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์และราชวงศ์ การกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงภายใน และการกระทำอื่นใดที่เข้าข่ายตามคำสั่งของ คสช.เท่านั้น โดยจำนวนคดีที่มีสัดส่วนสูงสุด เป็นคดีล่วงละเมิดโดยครอบครองหรือใช้อาวุธ เครื่องกระสุนและวัตถุระเบิดในราชการสงครามที่มีสัดส่วนสูงถึง 93 เปอร์เซ็นต์ของคดีที่นำเข้าพิจารณาโดยศาลทหารทั้งหมด จึงสามารถเป็นหลักประกันได้ว่า ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนี้ การใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนการกระทำความผิดของพลเรือนนั้นมีความจำกัดและอยู่บนพื้นฐานของความจำเป็นต่อสถานการณ์ของประเทศอย่างแท้จริง

กระบวนการพิจารณาคดีของศาลทหารยังต้องดำเนินไปตามกระบวนวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งรับประกันสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของจำเลยตามมาตรฐานสากลอีกด้วย ในเวลาเดียวกันผู้พิพากษาศาลทหารทั้งหมดต้องผ่านการพิจารณาคดีภายในระบบยุติธรรมทหารไม่น้อยกว่า 20 ปี และจำต้องมีองค์ความรู้และความชำนาญเช่นเดียวกับผู้พิพากษาในศาลพลเรือน และยังได้รับการฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชนจากหลายหน่วยงานรวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย

ในหลายคดีมีการเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการไต่สวนพิจารณาคดี ไม่เพียงแต่ญาติของจำเลยแต่ยังรวมถึงตัวแทนภาคประชาสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ แม้ว่าการไต่สวนพิจารณาคดีส่วนหนึ่งไม่อาจดำเนินการต่อหน้าสาธารณะได้ ด้วยเหตุแห่งความปลอดภัยของผู้ให้ปากคำ หรือความละเอียดอ่อนที่เกี่ยวเนื่องกับคดีนั้นๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image