คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ปากีฯกับทัศนคติเชิงลบเรื่องคุมกำเนิด

แฟ้มภาพเอเอฟพี

การคุมกำเนิด เป็นเรื่องหนึ่งที่ถูกต่อต้านจากคนส่วนใหญ่ในสังคมปากีสถาน ที่ปัจจุบันมีประชากรอยู่ราว 207 ล้านคน หลักใหญ่จากค่านิยมอยากได้ลูกชายเยอะๆของผู้ชายปากีสถานและลัทธิชาตินิยมที่ต้องการเพิ่มประชากรให้มากขึ้นแข่งกับชาติคู่แข่งอย่างอินเดียที่มีประชากรมากถึง 1,200 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลก

ข้อเขียนของบีบีซีหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมา บอกว่าหลายสิบปีก่อน ปากีสถานมีการรณรงค์เรื่องการวางแผนครอบครัว ภายใต้สโลแกนว่า “มีลูกสองคนเป็นเรื่องดี” แต่การรณรงค์แผนคุมกำเนิดนี้ถูกต่อต้านจากกลุ่มชาตินิยมและกลุ่มผู้นำทางศาสนาที่นำหลักเอาหลักความเชื่อความศรัทธามาเป็นเครื่องมือ ทำให้ความกดดันไปตกอยู่ที่ผู้หญิงที่ต้องกลายเป็นเหมือนโรงงานผลิตลูก

ผู้หญิงหลายคนอย่าง “ซามีนา” ที่อายุ 35 ปี มีลูกมาแล้ว 5 คนให้กับสามี ต้องตัดสินใจแอบ “ทำแท้ง” ลูกคนที่ 6 เพราะสิ่งที่เธอร้องบอกสามีว่าเธอมีลูกให้อีกไม่ไหวแล้ว กลับถูกปฏิเสธและได้รับคำตอบจากสามีว่าถ้าแม่ของเขาซึ่งมีลูกถึง 9 คนยังอยู่ได้ ซามีนาก็ต้องอยู่ได้

ซามีนา เป็นคนหนึ่งที่เลือกทำแท้งทำผิดกฎหมาย เพราะแม้กฎหมายของปากีสถานจะเปิดทางให้ทำแท้งได้เมื่อการตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของคนเป็นแม่ก็ตาม แต่หมอส่วนใหญ่นำเอาความเชื่อศรัทธาในศาสนาขึ้นมาอ้างเพื่อปฏิเสธการทำแท้งให้ เป็นผลให้ผู้หญิงไม่มีทางเลือก ต้องหันไปพึ่งการทำแท้งผิดกฎหมาย โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่ก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับปัญหานี้

Advertisement

บีบีซีระบุว่าวิธีทำแท้งที่นิยมคือการหาซื้อยาตัวหนึ่งชื่อที่ใช้ในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ มาใช้ในการขับตัวอ่อนในครรภ์แทน ซึ่งเสี่ยงอันตรายให้เกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงต่อคนเป็นแม่ได้

“อะแวร์ เกิร์ลส์” องค์กรให้คำปรึกษาแนะนำผู้หญิงถึงการใช้ยาเหล่านี้ให้ปลอดภัยอย่างไรและภาวะฉุกเฉินใดที่จะต้องรีบอยู่ในความดูแลของแพทย์ บอกว่าในแต่ละเดือนมีผู้หญิงที่มีปัญหาโทรศัพท์มาปรึกษาขอความช่วยเหลือราว 350 สาย ส่วนมากมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับการคุมกำเนิด การเข้าถึงถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นวิธีที่รู้จักแพร่หลายมากที่สุด แม้ผู้หญิงจะซื้อหาเองได้ แต่ก็ต้องขอความเห็นชอบจากสามีก่อน

ข้อมูลทางสถิติยังระบุว่ามีผู้หญิงปากีสถานแค่ราว 35 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ใช้วิธีการคุมกำเนิดที่ไม่ใช่การทำแท้ง ทั้งๆที่มีค่าใช้จ่ายไม่แพง เช่น ยาคุมกำเนิดราคาแค่เม็ดละ 20 รูปี (เกือบ 5 บาท) ส่วนห่วงคุมกำเนิดราว 400 รูปี (90 บาท)

ขณะที่การศึกษาทางสถิติเรื่องการทำแท้งในปากีสถานขององค์กรแห่งหนึ่ง ซึ่งทำครั้งล่าสุดในปี 2012 พบว่าในปีดังกล่าวมีผู้หญิงปากีสถานมากถึง 2.25 ล้านคนที่ทำแท้ง ในจำนวนนี้ราว 623,000 คน ที่ต้องรักษาตัวจากอาการแทรกซ้อนหลังการทำแท้ง

นักประชากรศาสตร์รายหนึ่งให้ความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาในแง่ของทัศนคติเชิงลบที่มีต่อการคุมกำเนิด ซึ่งถือเป็น “ความล้มเหลวอย่างเป็นระบบ” ของปากีสถาน

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องตระหนักคือการทำแท้ง ไม่ใช่วิธีการคุมกำเนิด!

ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน ของปากีสถานกล่าวยอมรับว่ายังขาดความแน่วแน่ทางการเมืองในการแก้ปัญหานี้ พร้อมกับรับปากว่าจะรณรงค์สนับสนุนเรื่องการคุมกำเนิดอย่างถูกต้องโดยผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ

ที่ก็ไม่รู้ว่าการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างถ้วนทั่ว จะสัมฤทธิ์ผลเมื่อไร…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image