คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ขบถความงามปลุกความเสมอภาคทางเพศ

รอยเตอร์

ใครที่เคยไปช้อปปิ้งที่เกาหลี จะเห็นว่าไม่ว่าคุณจะหันหน้าไปทางไหน ก็จะเห็นช็อปขายเครื่องสำอางแบรนด์ต่างๆ แทรกตัวอยู่ทุกตรอกซอกซอยในย่านช้อปปิ้ง ขณะที่งานศัลยกรรมความงามของเกาหลีใต้ ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นงานดีระดับต้นๆของโลก ที่สาวไทยเราหลายคนยังลงทุนบินไปผ่านมีดหมออัพสวยกันที่นั่น

สิ่งที่เห็นนี้ จึงอาจไม่ผิดนัก หากจะบอกว่าคนเกาหลีส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูดี เป็นเรื่องแรกๆของชีวิต ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะคนเราส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะที่ไหนในโลกก็เป็น เพราะใครมั่งที่ไม่อยากให้ตัวเองดูสวยหล่อดูดี เพียงแต่การยึดติดกับรูปลักษณ์มากเกินไป ก็อาจจะกลายเป็นการลดคุณค่าหรือไม่เห็นคุณค่าในตัวเองไปได้

ที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมา เพียงจะสะท้อนจุดเปลี่ยนบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมเกาหลี ที่มีรายงานว่าตอนนี้มีผู้หญิงเกาหลีจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง “ก่อขบถความงาม” ในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่อย่างเกาหลีใต้ ในความมุ่งหวังที่จะลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางเพศที่มีอยู่ในสังคมให้ลดน้อยลง

ยิม จี ซู นักศึกษาปี 3 เรียนเอกวรรณกรรม เป็นหนึ่งในสาวเกาหลีใต้กลุ่มนั้นที่ไม่กี่เดือนก่อน ลุกขึ้นมาทำกิจกรรม ก่อขบถความงาม ด้วยการเลิกแต่งหน้าและหันมาตัดผมสั้น แสดงการไม่ยึดติดกับรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนที่เคยเป็นมา

Advertisement

ยิม จี ซู บอกว่า พวกเธอไม่ใช่ตุ๊กตา แต่เป็นมนุษย์ และเมื่อพวกเธอปลดปล่อยสิ่งเหล่านี้ไป นั่นทำให้พวกเธอรู้สึกเป็นตัวเองขึ้นมาอีกครั้ง

ขณะที่ลีนา แบ หรือชื่อจริง อึน จอง แบ ไอดอลสอนการแต่งหน้าผ่านคลิปวิดีโอที่เธอแชร์ในยูทูบ เผยให้เห็นด้านมืดของความงาม อึน จอง บอกว่าผู้หญิงส่วนใหญ่มักรู้สึกไม่มั่นใจในรูปลักษณ์ภายนอกของตนเอง ทำให้ต้องแต่งหน้า แม้จะแค่เดินไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้ๆ แต่แท้จริงแล้วคนเราไม่สามารถสวมเครื่องหน้าแบบนั้นไปได้ตลอดเวลา

ในปีที่แล้วยังมีกลุ่มผู้หญิงเกาหลีหลายหมื่นคนออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนในกรุงโซล ประท้วงปรากฎการณ์ “ซ่อนกล้องแอบถ่าย” ที่เผยให้เห็นผู้หญิงตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศมากมาย ในช่วงเวลานั้นยังเกิดการรวมตัวกันของกลุ่มผู้หญิงจำนวนเล็กๆ ที่เรียกการเคลื่อนไหวนั้นว่า “เอสเคป เดอะ คอร์เซ็ต” โดยการใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการปลุกสังคมให้ตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศ ด้วยการโพสต์ภาพตนเองทำลายเครื่องสำอางทิ้ง

Advertisement

ข้อมูลวิจัยของ มินเทล บริษัทวิจัยทางการตลาดระบุว่า เกาหลีใต้ ติดหนึ่งในท็อปเทน ตลาดด้านความสวยความงามโลก ที่ผู้หญิงส่วนใหญ่มักผ่านการศัลยกรรมพลาสติกเพื่อที่จะทำให้ตนเองได้มาตรฐานความงามแบบฉบับเกาหลี ทว่าเกาหลีใต้ ที่เป็นสังคมอนุรักษนิยมสูง ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคมสูงมากเมื่อเทียบกับในหมู่ประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน โดยเกาหลีใต้ติดอยู่ในอันดับ 115 จาก 149 ประเทศ ในรายงานชี้วัดความเหลื่อมล้ำทางเพศประจำปี 2018 ของเวิลด์อีโคโนมิก ฟอรั่ม

การเคลื่อนไหวของผู้หญิงเกาหลีเมื่อเร็วๆนี้ อย่างกลุ่มเอสเคป เดอะ คอร์เซ็ต แสดงให้เห็นสัญญาณบวกต่อการลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมในสังคมเกาหลีใต้ ทว่านักวิเคราะห์อย่าง อี ฮวา จุน จากมินเทลมองว่าการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นมาจากกลุ่ม “นิว-เจน” คนรุ่นใหม่ แต่กระแสความรู้สึกนี้ ยังไปไม่ถึงกระแสหลักในสังคมที่คนส่วนใหญ่ควรต้องพึงตระหนักร่วมกันในการลดช่องว่างความไม่เท่าเทียม หรือเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมกีดกันทางเพศ

อย่างไรก็ดีกลุ่มแนวร่วม เอสเคป เดอะ คอร์เซ็ต มองว่า การเลิกแต่งหน้า เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการรณรงค์ เพื่อที่จะก้าวไปสู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในการทำให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม แม้หนทางยังอาจจะยาวไกลอยู่สักหน่อยก็ตาม

ข่าวรอบด้าน กับ Line@มติชนนิวส์รูม คลิกเป็นเพื่อนกัน ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image